วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

หนทางตีบตันของรัฐบาล!













                 สัปดาห์ก่อน เขียนถึงความพยายามของรัฐบาลในการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ เพื่อมาจ่ายให้กับชาวนา ที่นำข้าวเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 56/57 (รอบแรก) ตั้งแต่เดือนต.ค.56 ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินค่าข้าว ไปแล้ว
                 ก็คิดว่า มาจนถึงวันนี้ รัฐบาลน่าจะกู้เงินไปจ่ายให้ชาวนาได้แล้ว แต่จนแล้วจนรอด ยังไม่สามารถกู้ได้เสียที เพราะไม่มีธนาคารใดให้ความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารของรัฐ หรือธนาคารพาณิชย์ของเอกชน ไม่ว่ารัฐบาลจะคุย หรือล็อบบี้วิธีการใดก็ตาม
                 เหตุผลหนึ่ง ที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ เพราะถูกแรงกดดันจากม็อบ และพนักงานที่ไม่เห็นด้วยกับการปล่อยกู้ให้โครงการ ที่มีแต่ทุจริตอย่างมโหฬาร เพราะไม่อยากให้ภาพพจน์ของธนาคารเสียหาย
                 อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญ น่าจะเป็นเพราะกลัวความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หากปล่อยกู้ให้รัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการแล้ว รัฐบาลชุดหน้า ที่ไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย หรือไม่ทำโครงการรับจำนำข้าว จะยอมชดใช้หนี้ที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อหรือไม่
                 แม้ฝ่ายรัฐบาล เช่น นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้การันตีว่า การกู้เงินครั้งนี้เป็นการกู้โดยรัฐบาล แน่นอนว่า รัฐบาลไม่เบี้ยวหนี้ ธนาคารที่ปล่อยกู้จะได้รับการชำระหนี้ชัวร์
                 ดังนั้น ภาระหนักจึงมาตกอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ ที่จะต้องขายข้าวทุกวิถีทาง (ไม่ขัดกับข้อกฎหมายภายใต้รัฐบาลรักษาการ) ทั้งการประมูลทั่วไป การประมูลขายในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟต) และการเปิดให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ มาเสนอซื้อโดยตรง
                 ล่าสุด วันที่ 12 ก.พ.นี้ จะเปิดให้ผู้สนใจยื่นซองเสนอราคาซื้อข้าวในสต๊อกรัฐ ที่จะเปิดประมูล 460,000 ตัน และจะเปิดซองวันที่ 13 ก.พ. คาดจะทราบผลไม่เกินวันที่ 14 ก.พ.นี้ หากมีผู้เข้าร่วมประมูลมาก กระทรวงฯจะเปิดประมูลให้มากขึ้น คาดจะมีเงินคืนกระทรวงการคลังได้เดือนละ 10,000 ล้านบาท ถ้าทั้งปี 57 ก็จะคืนได้ราว 120,000-130,000 ล้านบาท
                  แต่เชื่อขนมกินได้เลยว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะขายได้ราคาตามความต้องการที่จะให้ได้ใกล้เคียงราคาตลาด เพราะเอกชน รู้ว่ารัฐกำลังเข้าตาจน หลังชนฝา ต้องเร่งขาย ก็อาจกดราคาเสนอซื้อเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้รัฐยิ่งขาดทุนมากขึ้นไปอีก!!
                  ส่วนการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ขายได้ปริมาณมากๆ ต้องชะลอไปก่อน เพราะไม่อยากให้เป็นภาระผูกพันถึงรัฐบาลหน้า หนำซ้ำ ความหวังเดียวที่จะขายจีทูจีต้องพังครืน เพราะบริษัท เป่ยต้าหวงรัฐวิสาหกิจของมณฑลเฮย์หลงเจียง เมืองฮาบิน ได้ขอยกเลิกสัญญาข้าวจีทูจี 1.2 ล้านตัน หลังลงนามในสัญญาร่วมกันแล้วเมื่อปลายปี 56
     เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การซื้อขายข้าวจีทูจีของไทยกับจีน ควรทำสัญญากับรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลกลางเท่านั้น ไม่ควรทำสัญญากับรัฐวิสาหกิจ
      อย่างนี้แล้ว ไม่รู้ว่า รัฐต้องขายข้าวสักกี่ตันจึงจะได้เงิน 100,000 ล้านบาทเท่ากับมูลหนี้ที่ยังไม่จ่ายให้ชาวนา แต่ขอภาวนาให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นใจชาวนา ที่กำลังเดือดร้อนแสนสาหัสด้วยก็แล้วกัน



           ฟันนี่เอส




           6 ก.พ. 57

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น