วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เอ็นจีโออยู่ไหน?













                จนถึงวันนี้ สถานการณ์น้ำท่วมประเทศไทยยังไม่คลี่คลาย แต่กลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะพื้นที่ที่โดนน้ำท่วมขยายวงกว้างมากขึ้น ขณะพื้นที่ที่ถูกท่วมก่อนหน้าระดับน้ำยังไม่ลดลง หนำซ้ำกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณน้ำฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง

                ล่าสุดน้ำที่ถูกปล่อยมาจากเขื่อนในภาคเหนือ และภาคกลาง รวมกับปริมาณน้ำฝนได้ท่วมมาถึงปทุมธานี นนทบุรี และบางส่วนของกรุงเทพฯแล้ว ทำเอาผู้คนแตกตื่นแห่ซื้อเสบียงอาหารมากักตุนไว้ เพื่อเตรียมรับมือกับภัยน้ำท่วม

  ที่ยอดฮิตก็เช่นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง และน้ำดื่ม  รวมถึงกระสอบทราย อิฐมอญ อิฐบล็อก เพื่อทำคันกั้นน้ำส่วนตัวหน้าบ้าน ส่งผลให้สินค้าเหล่านี้หายวับ และเกิดภาวะขาดแคลนทันที

    แต่กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตให้เพิ่มกำลังการผลิต และกระจายสินค้าไปยังช่องทางขายต่างๆ อย่างทั่วถึง ไม่ให้ขาดแคลน รวมถึงเตือนประชาชนอย่าตื่นซื้อสินค้ามากักตุนเกินความจำเป็น เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์สินค้าปั่นป่วนมากขึ้นอีก

  น้ำท่วมครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ชีวิต ทรัพย์สิน พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายแล้ว ผลต่อเนื่องยังทำให้สภาพจิตใจ และร่างกายของผู้คนที่นั่งๆ นอนๆ อยู่กับน้ำเหี่ยวเฉาโรยราย เพราะไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีอาหารการกิน ไม่มีห้องน้ำ ที่สำคัญไม่มีอาชีพ และไม่มีรายได้





   อย่างชีวิตแรงงาน และเจ้าของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ถูกน้ำท่วมเกือบถึงหลังคาจนต้องปิดโรงงานหนีตายกันอลหม่าน เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ เครื่องไม้เครื่องมือในการผลิตสินค้าเสียหายหมด ยังไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร!!

  ความเสียหายครั้งนี้ ประเมินว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเสียหาย 60,000-90,000 ล้านบาท หรือทำให้อัตราการขายตัวลดลง 0.6-0.9% มูลค่าการส่งออกหายไป 0.4% หรือขยายตัวได้ประมาณ 20% จากเดิมที่น่าจะโตได้ถึง 25%

  รัฐบาลคาดใช้เงินฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้กลับมาเหมือนเดิมไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท แต่เบื้องต้นจะใช้งบกลางรายการสำรองฉุกเฉิน 2,000 ล้านบาทแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน

  แต่อย่างหนึ่งที่รัฐบาลต้องไม่ลืมคือ การแก้ปัญหา และบริหารจัดการน้ำของประเทศในระยะยาว เพื่อให้เกิดความมั่นคงว่าประเทศจะไม่เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีก และไม่เกิดภัยแล้งด้วย

  แม้น้ำท่วมจะทิ้งปัญหา และความบอบช้ำมากมายให้กับผู้คน แต่ยังได้เห็นน้ำใจคนไทยในยามทุกข์ยากที่ไม่เคยทิ้งกัน มีการเร่งระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือ มีการรับบริจาคสิ่งของ อาหาร ฯลฯ ไม่เว้นกระทั่งแรงกายช่วยเหลือเต็มกำลัง ทำให้คนที่ระทมทุกข์ได้มีความสุขบ้างชั่วครั้งชั่วคราว





   มาถึงตรงนี้ “ฟันนี่เอส” อยากถามดังๆ ไปถึงกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “NGOs” ที่คอยคัดค้านขัดขวางสังคมว่า ตอนนี้อยู่ที่ไหน ช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนบ้างหรือยัง แม้ “ฟันนี่เอส” จะเห็นด้วยว่า การสร้างเขื่อนเป็นการทำลายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

  แต่การปล่อยให้น้ำท่วมทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้นสมควรหรือไม่?
                   

                                       ฟันนี่เอส

                                            13 ต.ค. 54

วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เปิดเสรีประกันภัย : คิดให้ดีกว่านี้





              ยอมรับตามตรงว่า การที่นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ ผู้แทนทางการค้าไทย (ทีทีอาร์) ลั่นวาจาจะเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พิจารณาเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย หากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ไม่มีคำตอบภายในวันที่ 17 ต.ค.นี้ ว่าบังคับให้บริษัทประกันชีวิตลดค่าเบี้ยประกันชีวิตลงมาได้นั้น




  เป็นสิ่งที่น่าหวั่นเกรงอย่างยิ่งสำหรับวงการธุรกิจประกันของไทย!!

             เพราะการเปิดเสรี ที่หมายถึงการอนุญาตให้ผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยต่างประเทศ ที่มีเงินทุนหนา และองค์ความรู้ที่ก้าวหน้า ล้ำสมัย เข้ามาทำธุรกิจแข่งขันกับคนไทย ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขัน เพราะขาดทั้งเงินทุน และเทคโนโลยี  จะนำมาซึ่งความเสียเปรียบอย่างมาก

              ลำพังการแข่งขันกับคนไทยด้วยกันเองยังแย่ มีหลายบริษัทที่ยังลุ่มๆ ดอนๆ ถ้ายิ่งมาแข่งกับบริษัทต่างชาติ ก็อาจถึงขั้นกิจการล้มละลายแบบตายไม่ได้เกิดใหม่แน่นอน

              เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องอ่อนไหวมากสำหรับประเทศไทย ซึ่งคนในวงการประกันภัย รวมถึงข้าราชการที่เป็นนักเจรจาต่อรองต่างรู้ดีอยู่แก่ใจ เพราะในการเปิดการค้าเสรีกรอบต่างๆ ประเทศคู่เจรจาต่างรุกหนักให้ไทยเปิดเสรีธุรกิจการเงิน-ประกันภัย

  เนื่องจากเห็นถึงความอ่อนแอของผู้ประกอบการไทย และเห็นถึงความแข็งแกร่งของเขาที่จะเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากไทยนั่นเอง ดังนั้น นักเจรจาจึงพยายามปกป้องเอาไว้ให้ได้นานที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวให้แข็งแกร่งขึ้น




  ฟันนี่เอส เข้าใจถึงเจตนาดีของรัฐบาล ที่จะทำให้บริษัทประกันลดเบี้ยประกันชีวิตลง เพื่อดึงดูดให้คนไทยทำประกันชีวิตไว้เป็นหลักประกันในอนาคตให้มากขึ้น เพราะทราบมาว่า เบี้ยประกันของไทยสูงมาก และในจำนวนนี้กว่า 50% เป็นค่าคอมมิชชันของตัวแทน นายหน้า

  แต่การเปิดเสรีไม่ใช่ทางออกที่ดีของปัญหานี้!!

  ในฐานะที่ ฟันนี่เอส เป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง ย่อมเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะลดเบี้ยประกันชีวิตลง เพราะชอบของถูก

   แต่ถ้าบริษัทประกันยอมลดเบี้ยลงจริง ก็ต้องหาทางออกในการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ด้วยการลดความคุ้มครอง ที่ให้กับผู้เอาประกันลงแน่นอน ถ้าเบี้ยยิ่งถูก ความคุ้มครองก็จะยิ่งลดลงมาก

  เพราะเบี้ยประกันในแต่ละผลิตภัณฑ์ บริษัทคิดแล้วคิดอีกว่าต้องคุ้มค่า ทั้งกับผู้เอาประกัน และตัวบริษัทเอง ขึ้นชื่อว่านักธุรกิจไม่ยอมขาดทุนแน่นอน แล้วอย่างนี้ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับประชาชนจริงหรือ?

              จึงขอฝากให้ทั้ง 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล คปภ. และบริษัท ช่วยกันคิดหาวิธีช่วยเหลือประชาชนอย่างประนีประนอม ไม่ใช่หักดิบ ที่รังแต่จะไม่เกิดประโยชน์กับใครแบบนี้เลย

              
                                             ฟันนี่เอส
                                                                 
                                                                             6 ต.ค. 54