วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ขึ้นราคาแท็กซี่มิเตอร์












         ประชาชนคนไทยยังดีใจกับของขวัญปีใหม่ของรัฐบาลนี้ได้ไม่เท่าไร ก็ต้องรู้สึกขัดใจ และแอบเซ็งเล็กๆ เพราะจู่ๆ กระทรวงคมนาคมกลับประกาศปรับขึ้นค่าแท็กซี่มิเตอร์ กระชากความรู้สึกแฟนคลับรัฐบาลซะอย่างนั้น
   
         โดยสาเหตุที่พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม อนุมัติให้ปรับขึ้นค่าแท็กซี่มิเตอร์ เป็นเพราะเห็นงามตามเหตุผลที่พี่น้องแท็กซี่มิเตอร์ยกมากล่าวอ้างว่า ไม่ได้ขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ปี 51 ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
   
         ที่สำคัญ แก๊สหุงต้มยังปรับขึ้นราคาซ้ำเติมอีก ส่งผลให้ผู้ขับขี่แท็กซี่แทบอยู่ไม่รอด จึงจำเป็นต้องปรับขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน



   


          สำหรับอัตราใหม่ กำหนดให้ระยะทาง 1 กิโลเมตร (กม.) แรกเร่ิมต้นที่ 35 บาทเท่าเดิม แต่กม.ที่ 1-10 คิดกม.ละ 5.50 บาท, กม.ที่ 10-20 กม.ละ 6.50 บาท, กม.ที่2 0-40 กม.ละ 7.50บาท, กม.ที่ 40-60 กม.ละ 8 บาท, กม.ที่ 60-80 กม.ละ 9 บาท และตั้งแต่กม.ที่ 80 คิด กม.ละ 10.50 บาท กรณีที่รถไม่สามารถเคลื่อนที่ หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กม.ต่อชั่วโมง หรือรถติด คิดนาทีละ 2 บาท
   
         ส่วนกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารของผู้รับจ้าง ให้เรียกเก็บค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 20 บาท และกรณีการจ้างจากท่าอากาศยานดอนเมือง หรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะ ให้เรียกเก็บค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 50 บาท
   





        โดยค่าแท็กซี่มิเตอร์ใหม่ คาดจะเริ่มเก็บจริงราวสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ เฉพาะรถแท็กซี่ที่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานมิเตอร์เก็บเงินแล้วเท่านั้น ซึ่งจะมีสติกเกอร์ติดที่ข้างรถว่าเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่ ส่วนแท็กซี่ที่ยังไม่ได้นำมิเตอร์ไปตรวจสอบ จำเป็นต้องตรวจสอบ และผ่านการรับรองก่อนจึงจะเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่ได้
   
        อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า การขึ้นค่ามิเตอร์นี้เหมาะสมหรือไม่ เพราะเป็นการปรับขึ้นขณะที่ประชาชนกระเป๋าฉีก จากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก ขณะเดียวกัน แม้ราคาแก๊สปรับขึ้น แต่ผู้ขับขี่รถสาธารณะ ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลในการเติมแก๊สราคาถูกกว่ารถบ้าน จึงไม่น่าขึ้นราคาเพื่อซ้ำเติมประชาชน
   
       “ฟันนี่เอสเคยถามแท็กซี่หลายคัน ส่วนใหญ่พูดตรงกันว่า ถ้าขยันๆ จะมีรายได้วันละเกือบพันบาท หรือบางรายเกินพันบาทด้วยซ้ำ ซึ่งหักค่าเช่ารถ และค่าแก๊สแล้ว คิดเล่นๆ ถ้ามีรายได้วันละ 800-1,000 บาท ใน 1 เดือนจะมีรายได้ถึง 24,000-30,000 บาท มากกว่ามนุษย์เงินเดือนด้วยซ้ำ    
   
       แต่ก็เอาเถอะ! เมื่อให้ปรับขึ้นไปแล้ว ผู้โดยสารอย่างเราๆ จะเรียกร้องหาคุณภาพในการให้บริการจากผู้ขับขี่ได้หรือไม่ เพราะทุกวันนี้ พฤติกรรมแท็กซี่สุดทนจริงๆ โดยเฉพาะการปฏิเสธผู้โดยสาร บางคันเลือกรับเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่เห็นหัวคนไทย บางรายขับรถอ้อม เพื่อให้มิเตอร์ขึ้นเยอะๆ
   





        ส่วนบางรายไม่กดมิเตอร์แต่จะต่อรองราคากับผู้โดยสารแบบโขกราคาเกินจริง โดยเฉพาะในจุดที่เป็นสถานีขนส่ง ยิ่งในช่วงเทศกาล ประชาชนกลับบ้านแล้วหอบหิ้วของพะรุงพะรัง จะเดินไปหาแท็กซี่ภายนอกสถานีก็ไม่ไหว จึงจำใจขึ้น ทั้งที่รู้ว่าถูกเอาเปรียบอย่างน่าเกลียดที่สุด
   
         ถ้าขึ้นราคาไปแล้ว ผู้โดยสารก็อยากเรียกร้องบริการที่ดีขึ้นบ้าง กระทรวงคมนาคม จช่วยดูแลได้หรือไม่ กฎหมายที่มีอยู่ จะเพิ่มโทษแท็กซี่ที่มีพฤติกรรมเลวๆ ได้หรือไม่ เพื่อให้หลาบจำและเลิกทำพฤติกรรมทุเรศๆ เสียที
   
       ช่วยดูแลผู้โดยสารกันบ้างเถอะ! ได้โปรด!! อย่าเอาใจแต่ผู้ขับขี่แท็กซี่เลย
                       



                                                                                    ฟันนี่เอส

                                                                                  18 ธ.ค.57

วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ฟาร์มเอาท์เลต:เพื่อชีวิตที่มั่นคง


                                                





          
               ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา กรมการค้าภายใน ได้ริเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน หรือฟาร์มเอาท์เลต เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้ผันผวน เพิ่มมูลค่าผลผลิต เพิ่มช่องทางการจำหน่าย และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

               แม้ทั่วประเทศจะมีชุมนุมสหกรณ์ หรือสหกรณ์การเกษตรอยู่มาก แต่ไม่ใช่ทุกแห่งจะประสบความสำเร็จ บางแห่งมีแค่ตัวอาคาร ไม่มีการซื้อผลผลิตจากสมาชิก หรือถ้ามีการซื้อผลผลิต ก็วางขายกันแบบสะเปะสะปะ ไม่จัดหน้าร้านสะอาด หาสินค้าง่าย หรือคนขายหน้าตาไม่รับแขก พูดจาแบบมะนาวไม่มีน้ำ







               กรมฯจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ชุมนุมสหกรณ์ หรือสหกรณ์การเกษตร ในแต่ละชุมชนมีฟาร์มเอาท์เลต เพื่อเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิต และขายสินค้าให้คนในชุมชน ชุมชนใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน

               สินค้าที่นำมาวางขาย มีทั้งสินค้าขั้นปฐม หรือสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูป เช่น ข้าวสาร ผัก-ผลไม้ปลอดสารพิษต่างๆ และสินค้าเกษตรกรแปรรูป ซึ่งกรมฯจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้ชาวบ้านในชุมชนผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มให้ได้หลากหลายชนิด








                  เช่น ถ้าเป็นแหล่งผลิตผลไม้ ผลไม้ตกเกรดที่ขายไม่ได้ สามารถนำมาแปรรูปได้  เช่น ทุเรียนอบ-ทอดกรอบ มังคุดอบ ลำไยอบ ลิ้นจี่อบ แก้วมังกรอบ มะม่วงอบ หรือถ้าอยู่ใกล้ทะเล ก็เอาอาหารประมงมาแปรรูป เช่น ข้าวเกรียบหอยนางรม ซึ่งสินค้าเหล่านี้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาก

                 นอกจากนี้ กรมฯยังจะช่วยเชื่อมโยงผลผลิตในแหล่งเพาะปลูกกระจายไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศในช่วงที่ผลผลิตออกมาก เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ สนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกในการขาย ทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย พาไปศึกษา/อบรมดูงานด้านต่างๆ เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร ให้ความรู้เทคนิคการขาย








                 ส่งผลให้หลายชุมชน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากการขายสินค้าเกษตรแปรรูป ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ และกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง

                ฟาร์มเอาท์เลต ที่สำเร็จมากในด้านการตลาด เช่น อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ที่กรมฯได้ส่งเสริมให้ผู้ปลูกข้าวหอมจังหวัดทำข้าวสารบรรจุถุงขายถูกกว่าท้องตลาด ภายใต้แบรนด์ ข้าวหอมกาญจน์ 

            ในช่วงแรกขายคนในชุมชน แต่เมื่อขายดีขึ้น ก็เริ่มขายในห้างค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าในจังหวัด สถานที่ราชการ ตลาดนัด งานธงฟ้า ขณะนี้กระจายสินค้าไปจังหวัดใกล้เคียงแล้ว และยังมีข้าวชนิดอื่นเพิ่มอีก เช่น ข้าวหอมจังหวัดสีนิล

                ล่าสุด ผู้ปลูกข้าวหอมจังหวัด 900 รายได้ทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับโรงสีในการรับซื้อข้าวเปลือกตันละ 13,000 บาท ความชื้น 15% นำไปบรรจุถุงขาย ราคาข้าวเปลือกตันละ 13,000 บาทสูงกว่าราคาตลาดปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และกรมฯจะนำแนวทางนี้ไปใช้กับชาวนาจังหวัดอื่นด้วย

                ปัจจุบัน ฟาร์มเอาท์เลตมี 21 แห่งใน 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ชัยนาท นครสวรรค์ จันทบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ศรีสะเกษ มุกดาหาร ขอนแก่น นครศรีธรรมราช กระบี่ สุราษฎร์ธานี ระนอง สมุทรสงคราม และฉะเชิงเทรา

               หวังว่าโครงการดีๆ แบบนี้ กรมฯจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยั่งยืนที่แท้จริงให้เกษตรกรไทย ไม่ใช่ทำแบบฉาบฉวย เผลอเป็นเลิกทำ เหมือนโครงการอื่นๆ 


                                                          

                                                                ฟันนี่เอส

                                             4
ธ.ค.57

วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ไม่ปิดกั้นต่างด้าวลงทุน








            ทุกครั้งที่มีข่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ มีความพยายามแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 จะเห็นภาพคนต่างชาติที่ทำธุรกิจในไทยตบเท้าเข้าพบคนของรัฐบาลไทยในทุกระดับ

เพื่อล็อบบี้ไม่ให้แก้ไขได้สำเร็จ เพราะเกรงว่า จะปิดกั้นการลงทุนมากกว่าการเปิดกว้าง จนทำให้ไทยไม่สามารถแก้ไขกฎหมายนี้ได้เสียที ทั้งที่เห็นจุดบกพร่องในหลายประเด็น

ล่าสุด กลายเป็นเรื่องร้อนขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากมี “มือดี” นำร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว (ร่างไหนไม่รู้) มาเผยแพร่บนโลกไซเบอร์ ทั้งๆ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ดูแลกฎหมายฉบับนี้ ยังแก้ไขไม่เสร็จ อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจ






            อย่างไรก็ตาม การแก้ไขต้องเกิดขึ้นแน่นอน ตามนโยบายรัฐบาล ที่มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานแก้ไขกฎหมายในความดูแลให้ทันสมัย รวมถึงเพื่อลดปัญหาและอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบธุรกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ

            ดังนั้น ในการแก้ไข กรมฯ ได้คำนึงถึงเป้าหมายหลักคือ เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อลดขั้นตอนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทย   เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน และไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจรายเดิม หรือผู้ที่ลงทุนในไทยอยู่ก่อนแล้ว






            ที่ผ่านมา กรมฯได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่แล้ว 3 ครั้ง ส่วนใหญ่เห็นตรงกันที่จะแก้ไขคำนิยามของ “คนต่างด้าว” เพราะเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้เกิด “ตัวแทนอำพราง” ในลักษณะ “นอมินี” หรือการมีคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถทำธุรกิจต้องห้ามในไทย หรือทำธุรกิจที่คนต่างด้าวต้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจในไทย โดยไม่ต้องขออนุญาต

เสมือนเป็นการปล้นชาติ ปล้นสมบัติของคนไทยไปเข้ากระเป๋าคนต่างชาติ โดยมีคนไทยสมรู้ร่วมคิดด้วย!!





            โดยจะกำหนดคำนิยามใหม่ ให้ครอบคลุมถึงการมีอำนาจบริหารจัดการ และสิทธิในการออกเสียงของคนต่างด้าวด้วย จากเดิมที่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นไม่เกิน 49.99% เท่านั้น

            เนื่องจากปัจจุบัน บริษัทที่อ้างว่ามีสัญชาติไทยจำนวนมาก ทำธุรกิจต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าว หรือธุรกิจที่คนต่างด้าวต้องขออนุญาต และในทางปฏิบัติ ผู้ถือหุ้นต่างชาติ ที่ถือหุ้นน้อยกว่าคนไทย กลับมีอำนาจบริหารจัดการในบริษัท และสิทธิในการออกเสียง มากกว่าคนไทย

นอกจากนี้ ยังเห็นตรงกันที่จะปรับลดคุณสมบัติของคนต่างด้าวที่เป็นอุปสรรคให้เหมาะสม  การทบทวนประเภทธุรกิจตามบัญชีท้ายพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน  การแก้ไขยกเว้นทุนขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาและพันธกรณี  การแก้ไขอัตราโทษสำหรับนอมินีให้เหมาะสม เป็นต้น

            กรมฯ คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในเดือนธ.ค.นี้ ก่อนนำเสนอขอความเห็นชอบจากพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รมว.พาณิชย์ หากเห็นชอบจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเข้าสู่กระบวนการตราเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

            คนต่างด้าว ถ้ามีเจตนาบริสุทธิ์ ทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ประเทศไทยก็เต็มใจเปิดรั แต่ถ้าใครคิดจะตักตวงผลประโยชน์คนไทยแล้วล่ะก็ เลิกหวังได้เลย!!



ฟันนี่เอส


                                                                 20 พ.ย.57

แก้ปัญหาจานด่วนแพง!









ช่วงนี้ ได้ยินแต่เสียงบ่นดังๆ ของคนทั่วไป ว่าราคาอาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารจานด่วน ที่ซื้อกินนอกบ้านแพงขึ้นทุกวันๆ เงิน 100 บาท เอาเข้าจริง ซื้อได้เพียง 2 จาน เพราะขนาดร้านอาหารเพิงหมาแหงนริมถนน ยังเริ่มต้นจานละ 40 บาท รวม 2 จานก็ 80 บาทแล้ว ถ้ามีไข่เจียว ไข่ดาวอีก ไม่มีเงินเหลือกินน้ำด้วยซ้ำ   






ไม่ต้องพูดถึงร้านอาหารในศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้า เริ่มต้นจานละ 40 บาทแทบไม่มีให้เห็น ส่วนใหญ่จานละ 45บาทขึ้นไปแทบทั้งนั้น บางร้านขึ้นราคาทีจานละ 10 บาทก็มี













พ่อค้าแม่ค้าพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขึ้นราคา เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก ตั้งแต่วัตถุดิบหลักที่ใช้ปรุงอาหาร เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว กุ้ง ปลาหมึก ไข่ไก่ ผักนานาชนิด ค่าเช่าสถานที่ รวมถึงราคาแก๊สหุงต้ม 

            แม้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พูดเป็นแผ่นเสียงตกร่องว่า อาหารสด ราคาไม่ได้ขึ้น บางรายการลดลงด้วยซ้ำ (แต่ราคามาถึงผู้บริโภค ไม่ได้ลดลงตามราคาต้นทาง เพราะมีผู้ค้ากลางทางที่ยังเอากำไรเกินควรอยู่)

             
ส่วนการขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม กก. ละ 50 สตางค์ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันรวม 4.50 บาท กระทบต้นทุนการปรุงอาหารไม่ถึงจานละ 20 สตางค์ด้วยซ้ำ จะใช้เป็นข้ออ้างขึ้นราคาไม่ได้

แต่ความจริงคือ เมื่อผู้ค้า รู้สึกว่าต้นทุนสูงขึ้น (แม้จะเล็กน้อย) ก็ต้องผลักภาระมาสู่ผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาขาย เพื่อให้ตนเองยังคงมีกำไร ยากที่จะมีใครยอมเฉือนกำไร เพื่อให้ผู้บริโภคได้กินอาหารราคาเท่าเดิม

             นั่นจึงเป็นที่มาของการที่ผู้บริโภคจำนวนมาก ร้องเรียนผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ถึงราคาอาหารจานด่วนที่แพงขึ้นมาก!!






             ทั้งๆ ที่ กระทรวงพาณิชย์มีร้านอาหาร หนูณิชย์...พาชิมขายอาหารไม่เกินจานละ 25-35 บาท อยู่ทั่วประเทศ แต่ยังไม่สามารถเป็นเครื่องมือทำให้ราคาอาหารไม่ปรับขึ้น ตามที่กระทรวงฯอ้างว่า ร้านหนูณิชย์ นอกจากลดค่าครองชีพแล้ว ยังทำให้ร้านอาหารใกล้เคียง ไม่กล้าขึ้นราคาขายเกินราคาที่ขายในร้านหนูณิชย์

รู้ว่า กรมฯต้องสร้างสมดุลระหว่างผู้ผลิต เกษตรกร และผู้บริโภค ไม่ให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบใคร อีกทั้งการควบคุมดูแลราคาอาหารปรุงสำเร็จทำยาก เพราะมีผู้ค้ามากมาย แต่อยากให้ดูแลผู้บริโภคมากกว่านี้ และทำอย่างจริงจังกว่านี้

อย่าดีแต่ท่องเจื้อยแจ้วว่า ต้นทุนขึ้นนิดเดียว ผู้ค้าไม่ควรอ้างขึ้นราคาขาย ผู้บริโภคยอมรับได้แน่ ถ้าขึ้นราคาตามต้นทุน เช่น ของขึ้น 25 สตางค์ก็ขึ้นตามนั้น หรือขึ้นไม่เกิน 1 บาท แต่ไม่ใช่ขึ้นเกินจริงอย่างทุกวันนี้

ทุกคนในกระทรวงพาณิชย์ ต่างก็เป็นผู้บริโภค แล้วเหตุใดยอมให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับตัวเอง หรือเงินในกระเป๋ายังเหลือใช้จ่าย จึงไม่รู้สึกอะไร

ถ้าเช่นนั้น ลองสมมติตัวเองว่า ไม่มีเงินเดือนประจำ ต้องหาเช้ากินค่ำไปวันๆ วันไหนไม่ทำงาน ไม่มีเงินใช้ ลูกก็ต้องเลี้ยง บ้านก็ต้องเช่า ค่ารถก็แพงอีก แล้วถ้าค่าอาหารขึ้นเรื่อยๆ จะทนได้หรือไม่

หากภาครัฐแก้ปัญหาไม่ได้ ผู้บริโภคคงต้องช่วยกันใช้มาตรการทางสังคมกดดันร้านค้าที่ขายแพงเกินควร โดยร่วมมือไม่ซื้อ ไม่กิน และบอกต่อๆ กันจะดีกว่ามั๊ย


                                                                 ฟันนี่เอส

                                                                                13 พ.ย.57

วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ขายข้าวรัฐโปร่งใส


                                                         











            ตอนนี้ แผนการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจาก นางดวงพร รอดพยาธิ์ที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์ ได้รับการแต่งตั้งจาก นางสาวชุติมา บุณยประภัศรปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ ให้เป็น รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

             เพียงไม่กี่วันให้หลัง รักษาอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เริ่มเปิดหน้าชี้แจงการบริหารจัดการข้าวในสต๊อกรัฐบาล ที่มีราว 18 ล้านตันข้าวสารทันที

            เพราะขณะนี้เกิดความสับสน และสังคมใคร่รู้มากว่า ข้าวสารมากขนาดนั้น กระทรวงพาณิชย์จะบริหารจัดการอย่างไรให้โปร่งใส เปิดเผยมากที่สุด และสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนดำเนินการ

            ซึ่งนับจากนี้ การระบายข้าวในสต๊อก ยังคงใช้วิธีการเดิม ทั้งการประมูลเป็นการทั่วไป การประมูลผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟต) การให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ขอซื้อมายังกรมฯได้โดยตรง การขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และการขายหรือบริจาคให้องค์กรต่างๆ











                 คาดจะระบายได้ตั้งแต่เดือนส.ค.นี้เป็นต้นไป ไม่ต้องรอให้ตรวจสอบสต๊อกเสร็จสิ้นก่อน เพราะการตรวจสอบขณะนี้ ทราบถึงปริมาณข้าวดี ข้าวเสื่อม และความมีอยู่จริงของข้าว ทำให้วางแผนการระบายได้แล้ว

              แม้วิธีการระบายยังเหมือนเดิม แต่ความต่างจากที่ผ่านๆ มาอยู่ตรงที่ นับจากนี้ จะไม่มี เงินทอนอีกแล้ว!!

             นางดวงพรขยายความว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย้ำนักหนาว่า การขายข้าวนับจากนี้ไป อย่าให้มีเงินทอนเหลือให้ผู้ซื้อไปจ่ายให้คนอื่น ผู้ซื้อเสนอราคาเต็มๆ ได้เลย เงินจะได้เข้ารัฐเต็มจำนวน ไม่รั่วไหลเข้ากระเป๋าใคร







              ที่สำคัญ ตนทำงานอย่างตรงไปตรงมามาโดยตลอด การทำอะไรแบบลับๆ หรือทำแบบไม่โปร่งใส ทำไม่เป็น แม้จะรับราชการที่กองข้าว กรมการค้าต่างประเทศ มาเกือบ 20 ปีก็ตาม

              ส่วนการขายจีทูจี แบบหน้าคลังสินค้า (เอ็กซ์ แวร์เฮาส์) ที่เปิดช่องให้ทุจริต เอาข้าวไปเวียนขายในประเทศแทนการส่งออกนั้น นางดวงพร ระบุว่า สามารถขายได้ แต่ผู้ซื้อ ต้องส่งออกข้าวออกจากประเทศไทยเท่านั้น โดยนำใบส่งออกมาแสดงต่อกรมฯเป็นหลักฐานว่าส่งออกจริง ไม่สามารถเอามาขายในประเทศได้

             อย่างไรก็ตาม การขายข้าวครั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องเร่งขาย ในแต่ละเดือนตั้งเป้าขายให้ได้ 500,000-600,000 ตัน เพื่อไม่ให้ปริมาณข้าวเข้าสู่ตลาดมากเกินไป จนกดให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำ คาดว่า จะใช้เวลาราว 3 ปีจึงจะระบายสต๊อกออกหมด!!

             ”นางดวงพรยอมรับว่า แม้สต๊อกข้าวจะมีมาก แต่ไม่ใช่เรื่องหนักใจ เพราะขณะนี้ ความต้องการซื้อมีมาก และหลายประเทศติดต่อขอซื้อแบบจีทูจีเข้ามาแล้ว

             ไม่หนักใจว่าข้าว 18 ล้านตันจะขายยาก หรือเป็นภาระในการบริหารจัดการ แต่อาจกลายเป็นทรัพย์สินอันมีค่า เพราะคาดว่า ใน 6 เดือนหลังของปีนี้ หลายประเทศจะขาดข้าว ผู้ผลิตหลายประเทศผลผลิตข้าวอาจลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ขณะที่อินเดีย ชะลอการส่งออก จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะระบายสต๊อก และทวงส่วนแบ่งตลาดข้าวที่เสียไปให้กับคู่แข่งกลับคืนมา

            ย้ำกันชัดๆ หนักๆ แบบนี้ เชื่อขนมกินได้เลยว่า การขายข้าวยุค คสช.จะโปร่งใส ตรวจสอบได้แน่นอน!!



                                                                                       ฟันนี่เอส


                                                17 ก.ค. 57