วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ฟาร์มเอาท์เลต:เพื่อชีวิตที่มั่นคง


                                                





          
               ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา กรมการค้าภายใน ได้ริเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน หรือฟาร์มเอาท์เลต เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้ผันผวน เพิ่มมูลค่าผลผลิต เพิ่มช่องทางการจำหน่าย และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

               แม้ทั่วประเทศจะมีชุมนุมสหกรณ์ หรือสหกรณ์การเกษตรอยู่มาก แต่ไม่ใช่ทุกแห่งจะประสบความสำเร็จ บางแห่งมีแค่ตัวอาคาร ไม่มีการซื้อผลผลิตจากสมาชิก หรือถ้ามีการซื้อผลผลิต ก็วางขายกันแบบสะเปะสะปะ ไม่จัดหน้าร้านสะอาด หาสินค้าง่าย หรือคนขายหน้าตาไม่รับแขก พูดจาแบบมะนาวไม่มีน้ำ







               กรมฯจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ชุมนุมสหกรณ์ หรือสหกรณ์การเกษตร ในแต่ละชุมชนมีฟาร์มเอาท์เลต เพื่อเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิต และขายสินค้าให้คนในชุมชน ชุมชนใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน

               สินค้าที่นำมาวางขาย มีทั้งสินค้าขั้นปฐม หรือสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูป เช่น ข้าวสาร ผัก-ผลไม้ปลอดสารพิษต่างๆ และสินค้าเกษตรกรแปรรูป ซึ่งกรมฯจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้ชาวบ้านในชุมชนผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มให้ได้หลากหลายชนิด








                  เช่น ถ้าเป็นแหล่งผลิตผลไม้ ผลไม้ตกเกรดที่ขายไม่ได้ สามารถนำมาแปรรูปได้  เช่น ทุเรียนอบ-ทอดกรอบ มังคุดอบ ลำไยอบ ลิ้นจี่อบ แก้วมังกรอบ มะม่วงอบ หรือถ้าอยู่ใกล้ทะเล ก็เอาอาหารประมงมาแปรรูป เช่น ข้าวเกรียบหอยนางรม ซึ่งสินค้าเหล่านี้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาก

                 นอกจากนี้ กรมฯยังจะช่วยเชื่อมโยงผลผลิตในแหล่งเพาะปลูกกระจายไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศในช่วงที่ผลผลิตออกมาก เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ สนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกในการขาย ทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย พาไปศึกษา/อบรมดูงานด้านต่างๆ เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร ให้ความรู้เทคนิคการขาย








                 ส่งผลให้หลายชุมชน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากการขายสินค้าเกษตรแปรรูป ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ และกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง

                ฟาร์มเอาท์เลต ที่สำเร็จมากในด้านการตลาด เช่น อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ที่กรมฯได้ส่งเสริมให้ผู้ปลูกข้าวหอมจังหวัดทำข้าวสารบรรจุถุงขายถูกกว่าท้องตลาด ภายใต้แบรนด์ ข้าวหอมกาญจน์ 

            ในช่วงแรกขายคนในชุมชน แต่เมื่อขายดีขึ้น ก็เริ่มขายในห้างค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าในจังหวัด สถานที่ราชการ ตลาดนัด งานธงฟ้า ขณะนี้กระจายสินค้าไปจังหวัดใกล้เคียงแล้ว และยังมีข้าวชนิดอื่นเพิ่มอีก เช่น ข้าวหอมจังหวัดสีนิล

                ล่าสุด ผู้ปลูกข้าวหอมจังหวัด 900 รายได้ทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับโรงสีในการรับซื้อข้าวเปลือกตันละ 13,000 บาท ความชื้น 15% นำไปบรรจุถุงขาย ราคาข้าวเปลือกตันละ 13,000 บาทสูงกว่าราคาตลาดปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และกรมฯจะนำแนวทางนี้ไปใช้กับชาวนาจังหวัดอื่นด้วย

                ปัจจุบัน ฟาร์มเอาท์เลตมี 21 แห่งใน 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ชัยนาท นครสวรรค์ จันทบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ศรีสะเกษ มุกดาหาร ขอนแก่น นครศรีธรรมราช กระบี่ สุราษฎร์ธานี ระนอง สมุทรสงคราม และฉะเชิงเทรา

               หวังว่าโครงการดีๆ แบบนี้ กรมฯจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยั่งยืนที่แท้จริงให้เกษตรกรไทย ไม่ใช่ทำแบบฉาบฉวย เผลอเป็นเลิกทำ เหมือนโครงการอื่นๆ 


                                                          

                                                                ฟันนี่เอส

                                             4
ธ.ค.57

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น