วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิกฤตยุโรปน่ากลัวกว่าที่คิด













      ได้อ่านรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของยุโป ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ส่งมาให้กรมส่งเสริมการส่งออกแล้ว น่าเป็นกังวลสำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปมาก



        เพราะนอกจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ และปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ได้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) และนานาประเทศ อย่าง โปรตุเกส ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน ยังเป็นปัญหาหนัก ที่ไม่สามารถแก้ไขได้



        จนทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยุโรป ลดลงตามกำลังซื้อที่หดตัวลงอย่างมากแล้ว!!

      ยังมีหลายปัญหาที่ยุโรปจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะอาจกลายเป็นชนวน ที่คอยซ้ำเติมปัญหาที่หนักหน่วงอยู่แล้ว ให้รุนแรง และลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น



       โดยขณะนี้ยูโรโซน เริ่มกังวลแล้วว่า อาจมีอีกหลายประเทศที่ต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินต่อจากสเปน เช่น ไซปรัส รวมถึงอิตาลี ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในยูโรโซน







       ขณะเดียวกัน กองทุนสภาพคล่องชั่วคราว หรือ กองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินของยุโรป (European Financial Stability Facility : EFSF) มีเงินอยู่ 440,000 ล้านยูโร (ประมาณ 17.5 ล้านล้านบาท) เพื่อนำมาช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศที่เกิดปัญหา ล่าสุดมีวงเงินเหลือเพียงแค่ 200,000 ล้านยูโรเท่านั้น (ประมาณ 8 ล้านล้านบาท) เท่านั้น



      ส่วนกองทุนสภาพคล่องถาวร หรือ กองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (European Stability Mechanism : ESM) วงเงิน 500,000 ล้านยูโร (ประมาณ 20 ล้านล้านบาท) ยังไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะถึงเดือนก.ค.นี้



      นอกจากนี้ ผู้นำยุโรปยังไม่มีความเด็ดขาดในการใช้มาตรการแก้ไขวิกฤติการณ์ครั้งนี้ หากที่ประชุมผู้นำยุโรป 28-29 มิ.ย.นี้ ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ก็อาจทำให้ตลาดเงินผันผวนมากยิ่งขึ้นในช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้



      อีกทั้ง ผู้บริโภคในยุโรปขาดความเชื่อมั่นจับจ่ายใช้สอย เพราะกังวลปัญหาเศรษฐกิจที่อาจขยายตัวมากขึ้น และลามไปทั่วยุโรป ส่งผลทางจิตวิทยาให้ชะลอการบริโภค และเศรษฐกิจอาจหดตัวได้อีก







       ปัญหาเหล่านี้ แน่นอนว่า จะทำให้อียูไม่มีเงิน และไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากพอ ที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศสมาชิก และกอบกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของยูโรโซน ให้พลิกฟื้นขึ้นมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว



     จึงเลี่ยงไม่ได้เลย ที่ภาคการส่งออกของไทยไปยุโรป ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องไปอีกนานหลายปี อย่างน้อยก็คงไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี จนกว่าเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวและกลับมาแข็งแกร่งได้ดังเดิม



      อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสด้านการค้า การลงทุนอยู่ เนื่องจากอียูยังเป็นตลาดใหญ่ มีอำนาจซื้อสูง มีศักยภาพด้านการลงทุน แต่ผู้ส่งออกไทยต้องปรับตัวใหม่ โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพหลีกหนีคู่แข่ง หาช่องทางใหม่ๆ ผลักดันสินค้าเข้าตลาด



        หากทำเช่นนี้ได้ เชื่อแน่ว่า สินค้าไทยยังคงเป็นที่ต้องการของทุกตลาดทั่วโลก ไม่เฉพาะแค่ยุโรปเท่านั้น!!







                                                                               ฟันนี่เอส



                                                             28 มิ.ย.55

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

คนไทยถูกปล้นชาติ!











              ประเทศไทยทุกวันนี้ คงพูดไม่ได้เต็มปากนักว่า ยังคงสงวนอาชีพทำการเกษตร ทำนา ทำไร่ และทำสวน ให้กับเฉพาะคนไทยเท่านั้น เพราะมีข่าวอย่างต่อเนื่องว่า มีนักธุรกิจต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจที่ว่าในบ้านเราอย่างหนาตามากขึ้น 



  อย่างล่าสุด ในงานสัมมนา โครงการจัดทำยุทธศาสตร์รายสินค้าเพื่อเชื่อมโยงตลาดจากภูมิภาคสู่สากล (ระยะที่1) ปีงบประมาณ 2555 : เพื่อนำเสนอร่างยุทธศาสตร์รายสินค้า/บริการ ที่สำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) กระทรวงพาณิชย์ จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้  







 ปรากฏว่า กลุ่มผู้ประกอบการข้าว เป็นกังวลกรณีที่คนต่างชาติแห่เข้ามาทำธุรกิจการเกษตรในไทยมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีกลุ่มเศรษฐีอาหรับจากตะวันออกกลาง แต่ขณะนี้กลับมีอีกหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ เตรียมใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 เข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับข้าวในไทยแล้ว



  โดยใช้พื้นที่ทางภาคเหนือปลูกข้าวหอมมะลิ และส่งกลับไปขาย หรือบริโภคที่สิงคโปร์ รวมถึงจัดตั้งบริษัทค้าข้าวระหว่างประเทศขึ้นในไทย เพื่อข้าวไทยส่งออกไปต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ยังเป็นห่วงอีกว่า เมื่ออาเซียนรวมเป็นเออีซีแล้ว จะมีชาวต่างชาติเข้ามาตั้งธุรกิจโรงสี และบริษัทค้าข้าวในไทยมากขึ้น



  เพราะขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดๆ ดูแลอุตสาหกรรมข้าวเพื่อรองรับ “เออีซี” เลย



  พฤติกรรมเช่นนี้ของคนต่างชาติ จะทำให้คนไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับข้าว และสินค้าเกษตรอื่นๆ เดือดร้อนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะเท่ากับโดนแย่งอาชีพ!!



  เนื่องจาก ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 ได้ระบุไว้ในบัญชีแนบท้าย 1 กำหนดให้ธุรกิจ 9 ประเภท เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย และไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษ



              ได้แก่ การทำกิจการหนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์, การทำนา ทำไร่ หรือทำสวน, การเลี้ยงสัตว์, การทำป่าไม้ และการแปรรูปไม้จากธรรมชาติ, การทำการประมง, การสกัดสมุนไพรไทย, การค้าขาย และขายทอดตลาดวัตถุโบราณ, การทำหรือหล่อพระพุทธรูป และบาตร และการค้าที่ดิน







  แต่คนต่างด้าวเหล่านั้น กลับได้รับคำแนะนำจากนักกฎหมายคนไทย เลี่ยงกฎหมาย โดยให้คนไทยเป็นนอมินี (กระทำการแทนคนต่างด้าว) ในการตั้งบริษัททำธุรกิจซื้อขายสินค้าเกษตร ทำธุรกิจโรงสี หรือกว้านซื้อที่ดินในไทยเพื่อปลูกข้าว และทำการเกษตร ฯลฯ



  ซึ่งเมื่อต่างด้าวรุกเข้ามามากขึ้น คนไทยที่มีเงินทุนน้อยกว่าย่อมเสียเปรียบ และแข่งขันไม่ได้ สุดท้าย คนไทยจะถูกปล้นชาติ เพราะต้องสูญเสียแผ่นดินที่ทำการเพาะปลูก สูญเสียพันธุ์ข้าวที่เป็นสมบัติของชาติ แล้วคงไม่เหลืออะไรไว้ให้เป็นมรดกของลูกหลานอีกแน่



  รัฐบาลได้ยินได้ฟังแล้วคงต้องเร่งแก้ปัญหา ปิดจุดอ่อนให้ดี อย่าให้คนไทยถูกปล้นอาชีพ ถูกปล้นชาติ ถูกปล้นแผ่นดินอีกเลย!!

             



ฟันนี่เอส



                                            21 มิ.ย. 55

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เออีซี: วาระแห่งชาติ






 



          ณ วันนี้ เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 ปี ไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ร่วมกับสมาชิกอาเซียนอื่นอีก 9 ประเทศ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน


         หมายความว่า เมื่อถึงวันที่ 1 ม.ค.2558 อาเซียนจะกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน เป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง เป็นภูมิภาคที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน และเป็นภูมิภาคที่บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกได้อย่างสมบูรณ์


           ที่ผ่านมา อาเซียนได้ดำเนินงานตามแผนการจัดตั้งเออีซีอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายข้างต้น โดยการเปิดเสรีสินค้า ได้เปิดเสรีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ตั้งแต่ 1 ม.ค.2553 ส่วนเปิดเสรีสินค้าบริการ ได้ทยอยเปิดแล้ว เช่น สาขาคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม สุขภาพ ท่องเที่ยว ขนส่งทางอากาศ และโลจิสติกส์ และอยู่ระหว่างการเจรจาเปิดเสรีให้เพิ่มมากขึ้น


            ขณะที่การลงทุน จะเปิดเสรีเฉพาะสาขาที่ตกลงกัน โดยไทยได้ผูกพันการเปิดเสรีภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด ส่วนการเปิดเสรีแรงงานฝีมือ จะเปิดเสรีในสาขาต่างๆ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ นักบัญชี วิศวกร พยาบาล สถาปนิก นักสำรวจ การบริการการท่องเที่ยว ซึ่งการเข้ามาต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่ไม่เปิดเสรีแรงงานไร้ฝีมืออย่างที่กังวลกัน


           ด้านการเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขัน ได้จัดทำแนวทางร่วม และคู่มือนโยบายแข่งขันสำหรับธุรกิจ ด้านการเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันนั้น ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเอสเอ็มอี เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัว






           สุดท้าย การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก อาเซียนได้ทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และความตกลงทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่ง(ซีอีพี) กับประเทศนอกอาเซียน ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป


            ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักได้เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง และจะทำอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ






           และล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศจะทำให้เออีซีเป็นวาระแห่งชาติ คือ ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันรับผิดชอบสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นเออีซีได้ทันตามกำหนด


          โดยสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชนรวบรวมผลกระทบของภาคอุตสาหกรรม และเอสเอ็มอี มารายงานให้ทราบ เพื่อเร่งประชุมเชิงปฏิบัติการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงาน และให้กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศรวบรวมข้อมูล และประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการต่างจังหวัดเช่นกัน


           เห็นแล้วก็ดีใจแทนประชาชน และผู้ประกอบการ ที่รัฐบาลยังเห็นความสำคัญ แม้จะเป็นการเริ่มต้นที่ช้าไปนิด แต่ยังดีกว่าไม่เริ่มอะไรเลย






                                                                         ฟันนี่เอส

                                                        14 มิ.ย.55



 






วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เร่งกู้วิกฤติส่งออกไทย!






 



              ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะง่อนแง่น จากสาเหตุหลักวิกฤติหนี้สาธารณะในยูโรโซนที่รุนแรง และลุกลามขยายวงกว้างมากขึ้น แล้วยังจะมีปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลง

              รวมถึงโรงงานของไทยหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงงานผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ยังไม่กลับมาเดินเครื่องผลิต และส่งออกได้เต็มกำลังเหมือนเดิม




















                จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 4 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ยังติดลบหนักที่ 3.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่า 71,561.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯเท่านั้น ที่สำคัญทำให้ดุลการค้าขาดดุลสูงถึง 8,054.3 ล้านเหรียญฯ หรือ 276,009 ล้านบาท


                ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์นั่งไม่ติด เร่งกู้สถานการณ์ ให้กลับมาขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 15% จากปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 263,000 ล้านเหรียญฯ ก่อนที่จะกู่ไม่กลับมากกว่านี้

               ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ มีแผนจะนัดหารือกับผู้ส่งออก ราววันที่ 8 มิ.ย.นี้ โดยมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ร่วมรับฟังปัญหา และข้อเสนอในสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวก รวมถึงร่วมกันจัดทำแผนผลักดันมูลค่าการส่งออกไทยปีนี้ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย









               อย่างไรก็ตาม จากการได้พูดคุยกับ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาคอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ทำให้ทราบว่า จากปัจจัยลบต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาอย่างหนักหน่วง ยอมรับว่า การผลักดันให้มูลค่าการส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายเป็นเรื่องเหนื่อยมาก!!


              เมื่อเทียบกับ ถ้าสถานการณ์โลกดีกว่าตอนนี้ หนี้สาธารณะของยูโรโซนไม่ลุกลามเกินคาดอย่างนี้ การขยายตัวของปีนี้อาจจะเกินเป้าหมายด้วยซ้ำ

               แต่เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลง ทั้งกรมส่งเสริมการส่งออก และภาคเอกชน จึงต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก ที่จะทำให้มีการเติบโตได้ตามเป้าหมาย ซึ่งยังมีความเป็นไปได้อยู่ ไม่ใช่หมดหวังอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้จะโตได้อย่างเก่งเพียง 10% หรือต่ำกว่า

             สาเหตุที่ทำให้กรมฯมั่นใจ เพราะมูลค่าการส่งออกของ 3 กลุ่มหลักคือ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มเป็นบวกแล้วตั้งแต่เดือนเม.ย. ทั้งที่ยังผลิตและส่งออกไม่เต็มกำลัง





               คาดว่าทั้ง 3 กลุ่มจะผลิตและส่งออกได้เต็มที่ไม่เกินไตรมาส 2 ซึ่งจะช่วยฉุดให้การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกโดยรวมพลิกเป็นบวกได้ เพราะมีสัดส่วนสูงถึง 37-38% ของมูลค่าการส่งออกรวมขณะเดียวกัน กรมฯจะเร่งขยายสัดส่วนส่งออกไปตลาดใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะอาเซียน จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกาใต้ เพราะมีกำลังซื้อสูง และยังขยายตัว

             คงต้องลุ้นกันสุดตัวว่า งานนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะช่วยผู้ส่งออก กู้วิกฤติส่งออกไทยได้หรือไม่ อย่างไรเสียก็ขอเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ แล้วกัน



 


                                                                     ฟันนี่เอส


                                                      7 มิ.ย.55

วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พนันบอลยูโร2012









           



          เหลืออีกเพียงไม่กี่วัน การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ที่ประเทศโปแลนด์ และยูเครน เป็นเจ้าภาพจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว ท่ามกลางวิกฤติหนี้สาธารณะ ที่ฉุดให้เศรษฐกิจของประเทศยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอย

         แต่เชื่อแน่ว่า กระแสบอลยูโร 2012 ที่มีแฟนบอลทั่วโลกคลั่งไคล้ จะทำให้มีเงินสะพัดในยุโรปได้มหาศาล จากการที่แฟนบอลทั่วโลกเดินทางไปชม เชียร์ และช็อปปิ้ง ในประเทศเจ้าภาพ รวมถึงแฟนบอลทั่วยุโรปยังมีการจับจ่ายใช้สอยเกี่ยวกับบอลยูโรในประเทศของตัวเองอีก ทั้งการสังสรรค์ระหว่างการเชียร์บอล การซื้อโทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์ใหม่ และซื้อของที่ระลึกในการแข่งขัน








          สำหรับในไทย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินจะมีเงินสะพัด 64,928.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.1% จากการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ที่มีเงินสะพัด 59,672 ล้านบาท

         แต่น่าเสียดาย จำนวนเงินมหาศาลนั้น มีเพียงประมาณ 24,000 ล้านบาทเท่านั้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นมูลค่าการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค การเลี้ยงสังสรรค์ การซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์รับสัญญาณ





         ขณะที่เงินส่วนใหญ่ถึง 41,710 ล้านบาท เป็นเงินจากการพนันบอล ซึ่งเพิ่มขึ้น 12.1% จากการพนันบอลโลก 2010 ที่มีจำนวน 37,208 ล้านบาท

        ทั้งที่ตอนนี้  คนไทยส่วนใหญ่กังวลกับปัญหาเศรษฐกิจ และค่าครองชีพสูง แต่กลับมีคนจำนวนหนึ่งที่นำเงินมาแทงบอล เพราะต้องการรางวัลจากการพนัน และเป็นการหาเงินได้เร็วกว่าการทำงานปกติ

         ผลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยคือ ปัญหาสังคมจะตามมามากมาย ทั้งปัญหาอาชญากรรม โจรกรรม  การเป็นหนี้สิน และการติดตามทวงหนี้!!

         เพราะเรื่องที่น่าตกใจคือ ผู้ที่เล่นพนันบอล ไม่ได้มีแค่กลุ่มคนทำงาน หรือนักศึกษาระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่าเท่านั้น แต่ยังลงมาถึงกลุ่มนักเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา และปวช./ปวศ.กันแล้ว








         ซึ่งอันตรายมาก เพราะกลุ่มเด็กนักเรียน หรือนักศึกษาระดับปริญญาตรี ยังหาเงินเองไม่ได้ ต้องแบมือขอเงินพ่อแม่ เมื่อเสียพนันบอลก็ไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้  จึงเป็นที่มาของปัญหาสังคมที่ว่า

         ขณะเดียวกันธุรกิจรับแทงบอล หรือโต๊ะบอล กลับเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่มีทีท่าว่าผู้รักษากฎหมายจะจัดการได้ จึงยิ่งทำให้เห็นว่า อนาคตไทยจะมีการพนันบอลเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

        ฟันนี่เอสว่าถ้าทางการกำราบโต๊ะบอลไม่ได้ เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ล่ะก็ เปิดบ่อนถูกกฎหมายไปซะเลย จะได้มีการเสียภาษีถูกต้อง และเอาเงินไปพัฒนาประเทศ อย่ามัวเถียงกันอยู่เลยว่า ประเทศไทยเมืองพุทธ ไม่ควรมีบ่อน เพราะตั้งแต่อดีตมาแล้ว คนไทยเล่นการพนันกันทั้งนั้น และบ่อนใต้ดินก็มีเต็มบ้านเต็มเมือง

         แต่เอาเถอะ บอลยูโรครั้งนี้ เชียร์กันแบบสนุกๆ ดีกว่า อย่าเล่นพนันให้เป็นหนี้ท่วมหัวกันเลย

         สุดท้ายขอแสดงความเสียใจกับผลการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงระหว่างทีมชาติญี่ปุ่นและเซอร์เบีย ที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ และทำให้ทีมไทยอดไปโอลิมปิก 2012







                                                                                          ฟันนี่เอส

                                                                      31 พ.ค.55