วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิกฤตยุโรปน่ากลัวกว่าที่คิด













      ได้อ่านรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของยุโป ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ส่งมาให้กรมส่งเสริมการส่งออกแล้ว น่าเป็นกังวลสำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปมาก



        เพราะนอกจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ และปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ได้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) และนานาประเทศ อย่าง โปรตุเกส ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน ยังเป็นปัญหาหนัก ที่ไม่สามารถแก้ไขได้



        จนทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยุโรป ลดลงตามกำลังซื้อที่หดตัวลงอย่างมากแล้ว!!

      ยังมีหลายปัญหาที่ยุโรปจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะอาจกลายเป็นชนวน ที่คอยซ้ำเติมปัญหาที่หนักหน่วงอยู่แล้ว ให้รุนแรง และลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น



       โดยขณะนี้ยูโรโซน เริ่มกังวลแล้วว่า อาจมีอีกหลายประเทศที่ต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินต่อจากสเปน เช่น ไซปรัส รวมถึงอิตาลี ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในยูโรโซน







       ขณะเดียวกัน กองทุนสภาพคล่องชั่วคราว หรือ กองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินของยุโรป (European Financial Stability Facility : EFSF) มีเงินอยู่ 440,000 ล้านยูโร (ประมาณ 17.5 ล้านล้านบาท) เพื่อนำมาช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศที่เกิดปัญหา ล่าสุดมีวงเงินเหลือเพียงแค่ 200,000 ล้านยูโรเท่านั้น (ประมาณ 8 ล้านล้านบาท) เท่านั้น



      ส่วนกองทุนสภาพคล่องถาวร หรือ กองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (European Stability Mechanism : ESM) วงเงิน 500,000 ล้านยูโร (ประมาณ 20 ล้านล้านบาท) ยังไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะถึงเดือนก.ค.นี้



      นอกจากนี้ ผู้นำยุโรปยังไม่มีความเด็ดขาดในการใช้มาตรการแก้ไขวิกฤติการณ์ครั้งนี้ หากที่ประชุมผู้นำยุโรป 28-29 มิ.ย.นี้ ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ก็อาจทำให้ตลาดเงินผันผวนมากยิ่งขึ้นในช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้



      อีกทั้ง ผู้บริโภคในยุโรปขาดความเชื่อมั่นจับจ่ายใช้สอย เพราะกังวลปัญหาเศรษฐกิจที่อาจขยายตัวมากขึ้น และลามไปทั่วยุโรป ส่งผลทางจิตวิทยาให้ชะลอการบริโภค และเศรษฐกิจอาจหดตัวได้อีก







       ปัญหาเหล่านี้ แน่นอนว่า จะทำให้อียูไม่มีเงิน และไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากพอ ที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศสมาชิก และกอบกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของยูโรโซน ให้พลิกฟื้นขึ้นมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว



     จึงเลี่ยงไม่ได้เลย ที่ภาคการส่งออกของไทยไปยุโรป ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องไปอีกนานหลายปี อย่างน้อยก็คงไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี จนกว่าเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวและกลับมาแข็งแกร่งได้ดังเดิม



      อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสด้านการค้า การลงทุนอยู่ เนื่องจากอียูยังเป็นตลาดใหญ่ มีอำนาจซื้อสูง มีศักยภาพด้านการลงทุน แต่ผู้ส่งออกไทยต้องปรับตัวใหม่ โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพหลีกหนีคู่แข่ง หาช่องทางใหม่ๆ ผลักดันสินค้าเข้าตลาด



        หากทำเช่นนี้ได้ เชื่อแน่ว่า สินค้าไทยยังคงเป็นที่ต้องการของทุกตลาดทั่วโลก ไม่เฉพาะแค่ยุโรปเท่านั้น!!







                                                                               ฟันนี่เอส



                                                             28 มิ.ย.55

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น