วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ดีเดย์ประกันภัยข้าวนาปี








                                                             
   ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป พี่น้องชาวนาไทยจะได้มีหลักประกันผลผลิตข้าวเสียหายจากภัยธรรมชาติต่างๆ กันแล้ว

   เพราะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ จะเริ่มขายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี โดยจะให้ความคุ้มครองผู้ปลูกข้าว กรณีผลผลิตข้าวเสียหายจากภัยธรรมชาติต่างๆ ได้แก่ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ และอัคคีภัย






   แต่ไม่รวมความเสียหายจากโรคระบาด และศัตรูพืช เพราะปัจจัยเหล่านี้อยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ โดยความคุ้มครองจะแบ่งเป็น 2 ระยะคือ ช่วง 60 วันแรกของการเพาะปลูก  หากผลผลิตเสียหายจากเหตุข้างต้น เกษตรกรจะได้รับค่าสินไหมทดแทน 606 บาทต่อไร่ และตั้งแต่วันที่ 61 ของการเพาะปลูกเป็นต้นไป จะได้รับค่าสินไหมทดแทน 1,400 บาทต่อไร่ ขณะที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยจิ๊บๆ เพียง 129 บาทต่อไร่เท่านั้น

   ถือว่าคุ้มเกินคุ้ม เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันภัยที่เกษตรกรต้องจ่ายจริงเพียง 60 บาทต่อไร่สำหรับรายที่ไม่ได้เป็นลูกค้าธ.ก.ส. เพราะอีก 69 บาทต่อไร่รัฐบาลจะจ่ายสมทบให้ ส่วนรายที่เป็นลูกค้าธ.ก.ส.จ่ายจริงน้อยกว่าแค่ 50 บาทต่อไร่ อีก 10 บาทต่อไร่ ธ.ก.ส.จะสมทบให้

           หากพี่น้องชาวนารายใดที่ต้องการจะซื้อความเสี่ยงผลผลิตของตนเองเสียหาย ทำได้ง่ายนิดเดียว เพียงแค่นำเอกสารสิทธิแสดงที่ตั้งแปลงเพาะปลูกไปเป็นหลักฐานในการซื้อกรมธรรม์ พร้อมแจ้งจำนวนพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด

           ซึ่งเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นที่แปลงเพาะปลูกข้าว บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมให้โดยผ่านธ.ก.ส. ล่าสุดมีบริษัทประกันภัยเข้าร่วมโครงการแล้ว 8 ราย ได้แก่ ทิพยประกันภัย, วิริยะประกันภัย, อาคเนย์ประกันภัย, เมืองไทยประกันภัย, กรุงเทพประกันภัย, ประกันภัยไทยวิวัฒน์, ไทยเศรษฐกิจประกันภัย และนวกิจประกันภัย
   เท่านี้ก็ทำให้เกษตรกรมีหลักประกันทางอาชีพแล้วว่า หากผลผลิตเสียหายจนเก็บขายไม่ได้ ก็ยังพอมีเงินให้นำไปทำทุนลงกล้าเพาะปลูกใหม่ได้อีก จากเมื่อก่อนที่ไม่มีหลักประกันใดๆ เลย เมื่อผลผลิตเสียหายจากภัยธรรมชาติ ก็ได้ที่แต่นอนนั่งน้ำตาตกอย่างเดียว






           งานนี้ต้องยกเครดิตให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ที่มีนางจันทรา บูรณฤกษ์ เป็นเลขาธิการ ที่ซุ่มศึกษาความเป็นไปได้ของการทำประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เมื่อเกือบ 4 ปีมาแล้ว และคลอดกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเป็นอย่างแรก ซึ่งได้รับความนิยมจากเกษตรกรมากขึ้นเป็นลำดับ และล่าสุดมาถึงประกันภัยข้าวนาปี ในอนาคตก็จะมีมันสำปะหลังอีก

   ส่วนรัฐบาลชุดนี้ เพียงแค่เข้ามาช่วยผลักดันให้การศึกษาความเป็นไปได้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว และสามารถขายกรมธรรม์ได้จริงในช่วงก่อนการลงคะแนนเลือกตั้งก็เท่านั้น!!



ฟันนี่เอส

  30 มิ.ย.54 

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ผู้ส่งออกยี้จำนำข้าว!









 
            เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งกันแล้ว ทำให้ทุกพรรคการเมืองเร่งระดมสรรพกำลังออกพบปะประชาชนหามรุ่งหามค่ำ เพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นด้วยกับนโยบายด้านต่างๆ อย่างเต็มกำลัง รวมทั้งโจมตีนโยบายของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน

            ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่พรรคการเมืองต่างขั้วเห็นต่างกันคือ นโยบายข้าว โดยพรรคประชาธิปัตย์ หากมีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ยังยืนยันเดินหน้านโยบายรับประกันรายได้เกษตรกร    









 
   เพราะทำให้ชาวนามีรายได้ที่มั่นคง และเพิ่มขึ้นถึง 40% จากราคาประกันที่บวกกำไร 40% อีกทั้งยังทำให้ราคาข้าว และระบบการค้าข้าวไม่ถูกบิดเบือน ที่สำคัญรัฐบาลใช้เงินน้อยกว่าการรับจำนำมาก และยังลดปัญหาคอรัปชั่นจากเหลือบวงการข้าวในทุกรูปแบบได้มาก

   แต่การรับประกันครั้งใหม่จะดีกว่าเดิม เพราะจะเพิ่มกำไร และค่าขนส่งให้ตามระยะทาง เพื่อความเป็นธรรมกับเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกล ค่าขนส่งแพง

   ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรคเพื่อไทย กลับใช้นโยบายรับจำนำข้าวหาเสียงกับชาวนา โดยจะรับจำนำข้าวทุกเม็ดในมือชาวนา ในราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 15,000 บาท

           เชื่อว่า นโยบายรับจำนำนี้จะดีกว่าทุกยุคทุกสมัย เพราะจะให้เครดิตชาวนา 70% เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต และยังจะชดเชยความเสียหายของผลผลิตจากภัยธรรมชาติอีกตันละ 4,000 บาท

            ที่กล่าวมาข้างต้น แม้จะเป็นเพียงนโยบายหาเสียง เพื่อดึงมวลชนให้เลือกพรรคตัวเองให้มากที่สุด และไม่รู้ว่าจะนำมาปฏิบัติจริงมากน้อยเพียงใด แต่ทำเอาผู้ส่งออกข้าวอกสั่นขวัญแขวนกันไปหมด โดยเฉพาะการรับจำนำ ที่อาจตั้งราคารับจำนำสูงถึงตันละ 15,000-20,000 บาท









   เหตุที่ยี้ เพราะต้นทุนข้าวไทยจะสูงขึ้น และทำตลาดลำบาก ดีไม่ดี ผู้นำเข้าไม่สู้ราคา ก็หันไปซื้อจากคู่แข่งอย่างเวียดนาม ที่ราคาถูกกว่าแทน ผลที่ตามมาคือ ไทยส่งออกข้าวได้ลดลง และจะกระทบไปถึงชาวนา ที่อาจขายข้าวได้ปริมาณน้อยลง และราคาถูกลง ส่วนการรับประกันราคา จะชอบมากกว่า เพราะต้นทุนข้าวไม่สูงมาก แข่งขันได้ง่ายขึ้น

   “ฟันนี่เอส” มองว่า ทั้ง 2 นโยบายมีทั้งข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป โดยข้อเสียที่ชัดเจนของการประกันราคาคือ แม้จะใช้เงินน้อย แต่รัฐต้องเสียเงินถึง 2 ต่อ เพราะการประกันราคา ไม่ได้ทำให้ราคาข้าวขึ้น และเมื่อราคาตก ก็ต้องใช้เงินรับซื้อจากชาวนา อีกทั้งรัฐไม่มีข้าวในมือ ที่จะขายเพื่อให้ได้ผลประโยชน์กลับคืนมา

   ต่างจากการรับจำนำ ที่สามารถตั้งราคารับจำนำสูงเพื่อดึงราคาตลาด และยังมีข้าวในมือสร้างอำนาจต่อรองได้ นอกจากนี้ รัฐยังมีส่วนที่ได้กลับคืนมาบ้าง จากการขายข้าวในมือ แต่ก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาล และก็มีการทุจริตในทุกขั้นตอน







 
   ไม่ว่าพรรคการเมืองจะใช้นโยบายใดหาเสียง แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาล และต้องนำมาปฏิบัติจริง ก็ต้องแก้ไขข้อเสีย เพื่อให้ได้นโยบายดีที่สุดในการช่วยเหลือเกษตรกรให้อยู่ดีกินดีอย่างแท้จริง



ฟันนี่เอส

  23 มิ.ย.54

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อุทาหรณ์ไก่เน่า!









               เห็นข่าวทลายโรงงานชำแหละไก่เน่า ที่จ.นครราชสีมาแล้วยอมรับว่า ตกตะลึงจริงๆ ไม่คิดว่า คนไทยจะเป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้อย่างร้ายกาจที่สุด โดยไม่คำนึงถึงอันตราย และผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่น และประเทศชาติเลยแม้แต่น้อย

       
              

               ไม่เข้าใจเลยว่า ทำลงไปได้อย่างไร ตระเวนซื้อไก่ตาย ไก่เน่า จากฟาร์มเลี้ยง แล้วนำมาชำแหละขายต่อ ส่วนที่ยังเน่าไม่มากก็ขายเป็นไก่สด ส่งไปตามตลาดสดทั่วไป ส่วนที่เน่าแล้วก็แช่ฟอร์มาลีน (น้ำยาฉีดศพกันเน่า) แล้วไปขายให้โรงงานอาหารแปรรูป เช่น กุนเชียง ไส้กรอก

               แล้วก็ไม่เข้าอีกอย่างว่า ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ไม่เร่งจัดการปัญหานี้ให้สิ้นซาก ทั้งที่ข่าวนี้ จำได้ว่า  ขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มาตั้งแต่ 1-2 เดือนที่ผ่านมาแล้ว





               แต่กลับปล่อยให้พวกพ่อค้าเห็นแก่ได้หน้าเดิม ทำผิดซ้ำซาก โดยไม่เห็นค่าของชีวิตผู้คนที่ซื้อไก่เน่าไปบริโภค และไม่คิดถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นประเทศชาติเลย หรือมีผลประโยชน์อะไรร่วมกันหรือไม่

   ข่าวร้ายนี้ เชื่อว่ามีส่วนทำลายความเชื่อมั่นผู้บริโภคในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้ไม่กล้าบริโภคไก่ และผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจทำให้อุตสาหกรรมไก่ไทยขายสินค้าได้น้อยลง

   อยากถามดังๆ ว่า ถ้าผู้บริโภคที่โคราช และจังหวัดใกล้เคียง กินไก่เน่าและผลิตภัณฑ์เข้าไปแล้ว เกิดอันตรายตามมา ใครจะเสนอหน้ารับผิดชอบ?




   เหตุการณ์นี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า อาหารที่คนไทยกินทุกวันนี้ ปลอดภัยหรือไม่ มีใครรับประกันได้ถึงความปลอดภัย หากกินเข้าไปแล้วจะไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

   อยากเรียกร้องให้ผู้ผลิตอาหาร มีจิตสำนึกดี รับผิดชอบต่อผู้บริโภค ผลิตอาหารสะอาด ปลอดภัย มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ไม่ใช่สักแต่ว่าผลิตๆ แล้วขาย โดยไม่คิดถึงความปลอดภัยผู้บริโภค

               โปรดอย่าคิดว่าคนไทยเป็นลูกค้าชั้นล่าง เงินน้อย และคำนึงถึงแต่ลูกค้าชั้นหนึ่งอย่างพวกผู้บริโภคในต่างประเทศเลย เมื่อสามารถผลิตอาหารปลอดภัยส่งออกไปเลี้ยงชาวโลกได้ ก็ต้องผลิตอาหารปลอดภัยแบบเดียวกัน เลี้ยงคนไทยด้วยเช่นกัน

   และขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยอาหาร ตรวจสอบพฤติกรรมผู้ผลิต และอาหารที่ขายในท้องตลาดว่าปลอดภัยหรือไม่ ถ้าไม่ ก็เอาออกจากตลาด แล้วคุมเข้มผู้ผลิตให้ผลิตสินค้ามีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ขณะที่ผู้บริโภคก็ต้องป้องกันตนเอง เลือกซื้ออาหารที่ไว้ใจได้ อะไรไม่มั่นใจก็ไม่ต้องซื้อ อย่าเห็นแก่ของถูก เพราะจะได้ไม่คุ้มเสีย

   ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก คนไทยก็มีสิทธิ์บริโภคอาหารปลอดภัย อย่าปล่อยให้คนต่างชาติกินแต่ของดีๆ แล้วคนไทยกินของเหลือเดนอีกเลย


                                                    ฟันนี่เอส

                                                   16 มิ.ย.2554

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เจาะรัสเซีย



 


                                
                            St.Basil Church กลางจตุรัสแดง








              หลังจากกระทรวงพาณิชย์พยายามอยู่นานกว่า 20 ปี ในที่สุด สามารถเจรจาให้รัสเซียชำระหนี้ค่าข้าว ที่ค้างจ่ายรัฐบาลไทยได้สำเร็จ!!





                                  
                           นางพรทิวา นาคาสัย รมว.พาณิชย์ กำชับเจ้าหน้าที่
                     ตรวจทานบันทึกข้อตกลงการยอมรับชำระหนี้ข้าวจากรัสเซีย

 
            โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ได้เดินทางไปรัสเซีย เพื่อลงนามในบันทึกการตกลงการรับเงินชำระหนี้ค่าข้าว 36.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,093  ล้านบาท ซึ่งรัสเซียจะโอนเงินให้ ภายใน 30 วันทำการ หรือไม่เกินวันที่ 12 ก.ค.นี้











                              นางพรทิวา นาคาสัย รมว.พาณิชย์ กำลังลงนามบันทึก
                             การตกลงการรับชำระหนี้ค่าข้าวร่วมกับ รมช.คลัง รัสเซีย






รมว.พาณิชย์  จับมือแสดงความยินดีหลังลงนามเสร็จสิ้น


              ปิดฉากการทวงหนี้ที่ยาวนานลงได้อย่างสวยงาม ส่วนจะมีการซื้อขายข้าวล็อตใหม่หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีการเจรจา แต่เชื่อว่า รัฐบาลไทยคงเข็ดขยาด ไม่ขายแบบสินเชื่ออีกแล้วแน่นอน

               เมื่อพูดถึงรัสเซีย ปัจจุบัน มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอีกประเทศหนึ่ง โดยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และล่าสุดเดือนเม.ย.54 ได้เพิ่มประเทศแอฟริกาใต้เข้าไปด้วย และกลายเป็น BRICS) ในช่วงเวลาเพียงกว่า 10 ปีหลังการเปิดประเทศ

              ส่งผลให้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจรัสเซียใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่ผู้ค้าต่างๆ ทั่วโลกต้องการทำการค้าขายด้วย ไม่เว้นกระทั่งไทย

              เพราะมีกำลังซื้อมหาศาล จากจำนวนประชากรกว่า 145 ล้านคน ทำให้รัสเซียมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าในแต่ละปีเกือบ 100,000 ล้านเหรียญฯ

      แต่น่าเสียดาย มีมูลค่าการนำเข้าจากไทยเพียง  700 ล้านเหรียญฯเท่านั้น ขณะที่ไทยมีมูลค่านำเข้าจากรัสเซียสูงกว่ามาก จนไทยขาดดุลมาโดยตลอด!!

              สินค้าที่ไทยนำเข้ามีทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก สินแร่ เคมีภัณฑ์ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล แต่ไทยส่งสินค้าไปขายรัสเซียแต่ละชิ้นมูลค่าไม่มาก เช่น อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ เป็นต้น







                                          นักท่องเที่ยวเลือกซื้อของที่ระลึก


           สาเหตุที่ไทยค้าขายกับรัสเซียน้อย นายภาษิต พุ่มชูศรี อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมอสโก เล่าว่า ผู้ส่งออกไทยไม่มั่นใจในความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์รัสเซียในการเปิดแอล/ซี เรียกเก็บค่าสินค้า

          นอกจากนี้  ยังเคยชินกับการค้าขายกับตลาดเดิมๆ ที่มีความแน่นอน ไม่อยากเริ่มต้นใหม่ ซึ่งอาจเสี่ยงสูง ขณะเดียวกัน ยังมีคู่แข่งอย่างจีนคุมส่วนแบ่งตลาดไว้เกือบหมด ในเกือบทุกสินค้า ตั้งแต่ของกินยันของใช้ การทำตลาดจึงทำได้ยาก







                             สถาปัตยกรรมยุคสตาลิน เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของรัสเซีย


   “เราต้องทำงานหนักเพื่อให้คนรัสเซียรู้จักสินค้าไทยมากขึ้น โดยใช้กลยุทธ์แบบเคาะประตู เข้าถึงตัวผู้นำเข้ารายใหญ่ และนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ ในรัสเซีย มั่นใจว่า ปีนี้การส่งออกไทยไปรัสเซียจะเพิ่มขึ้นถึง 50% มูลค่า 1,050 ล้านเหรียญฯ จากปีก่อนที่เพียง 700 ล้านเหรียญฯสินค้าที่มีโอกาสมาก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร เช่น ข้าว ไก่ อาหารสำเร็จรูป”

 ผู้ส่งออกไทย ที่เห็นโอกาสต้องกล้าเสี่ยง รีบเจาะรัสเซียได้แล้ว ขืนช้าจะหมดโอกาส ไม่ทันกินคู่แข่งแน่

           
                                                                      
                                                                ฟันนี่เอส

                  
                                                                                                  9 มิ.ย. 54