วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ลาทีปีสาหัส!


















           เวลา 1 ปีผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วราวพริบตา ยังจำได้ว่า เวลานี้ของปีก่อน กำลังสาละวนอยู่กับการทำความสะอาดบ้านที่ถูกน้ำท่วมจนเละเทะ และไม่มีอารมณ์ของการเฉลิมฉลองปีใหม่เอาเสียเลย

           ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นอีก 1 ปีที่หนักหนาสาหัสสำหรับคนไทย เพราะมีเรื่องร้ายๆ ผ่านเข้ามามากมาย ทำให้คนไทยได้รู้สึกหดหู่ เศร้า เซ็ง สลดใจ ฯลฯ ไปตามๆ กัน

โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 54 ที่แม้น้ำท่วมได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังทิ้งฝันร้าย และความสูญเสียมากมายไว้เบื้องหลัง และแม้รัฐบาลได้ให้เงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความเสียหายที่บ้านแต่ละหลัง หรือโรงงานแต่ละแห่งได้รับ








ความเสียหายดังกล่าว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ในภาวะง่อนแง่น โงนเงน ไม่มั่นคง เพราะรัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลในการช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อน้ำท่วมกว่าครึ่งค่อนประเทศ แทนที่จะนำมาใช้พัฒนาประเทศตามแผนที่วางไว้

อีกทั้งผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับความเสียหาย ต้องหยุดกิจการ และหยุดส่งออกระยะหนึ่ง อย่างต่ำๆ ก็กว่า 6 เดือน ทำให้ทั้งพนักงาน และเจ้าของโรงงานขาดรายได้ ขณะที่เศรษฐกิจไทย ไม่มีเงินจากการส่งออกเข้ามาหมุนเวียนในระบบ จนปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ไว้มาก









ส่วนลูกจ้างบางส่วน ที่แม้รัฐบาลได้ประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทใน 7 จังหวัดนำร่อง แต่ในความรู้สึก ความเป็นอยู่กลับไม่ดีขึ้นเลย เพราะราคาสินค้าได้เพิ่มขึ้นไปดักหน้ารออยู่แล้ว ทำให้เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเท่าไรก็ไม่เคยพอซักที

แล้วยังมีเรื่องการเมืองภายในประเทศ ที่ยังวุ่นวาย และไม่มีท่าทีจะจบลงได้อย่างสงบๆ ทำให้ได้เห็นบรรยากาศของกลุ่มคนที่มีความคิดตรงกันข้าม โจมตีว่าร้าย สาดโคลนใส่กันไปมาแทบไม่หยุดหย่อน

ความขัดแย้งกันทางความคิดนี้เอง ที่บ่อนทำลายความรัก ความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ ทำให้คนไทยเกลียดชัง ขยะแขยง และห้ำหั่นกันเองอย่างไม่มีวันจบสิ้น











อีกทั้งยังมีปัญหาไฟใต้ ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งทำลายขวัญ และกำลังใจของประชาชน นักธุรกิจ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก และยังไม่มีรัฐบาลชุดใดจะแก้ปัญหานี้ได้ หนำซ้ำ ยังไม่มีใครให้คำตอบได้เลยว่า ปัญหานี้จะจบลงหรือไม่ และเมื่อไร

แต่ยังดีที่ในเดือนธ.ค.หัวใจอมทุกข์ของคนไทยทั้งประเทศ ได้กลับมาปลาบปลื้มปิติสุขอีกครั้ง จากการได้เข้าเฝ้า และได้ชมพระบารมีของ ในหลวง ในโอกาสเสด็จออกสีหบัญชร และทำให้เริ่มอยากเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่อีกหน

เมื่อความเลวร้ายต่างๆ ในปีนี้ผ่านพ้นไปแล้ว ปีหน้าฟ้าใหม่ ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เทวดาอารักษ์ ผู้ปกปักรักษาประเทศไทย ดลบันดาลให้ประเทศไทย รอดพ้นจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง ดลบันดาลให้ประเทศไทยสงบสุข คนไทยรักกัน เศรษฐกิจดีขึ้นๆ ตลอดไป

แจ้งข่าวดีแฟนๆ คอมลัมน์ กระจก 8 หน้าดีกว่า ปีนี้ มีไดอารีจากไทยรัฐมาแจกอีกแล้ว เพียงแค่ส่งอี-เมลล์ ติชมคอลัมน์ มาที่ lerdsud@yahoo.com ส่งก่อน มีสิทธิ์ก่อน เพราะมีจำนวนจำกัดจริงๆ




ฟันนี่เอส



                                                           27 ธ.ค.55

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อย่าให้ถึงวันนั้นเลย!










           คุณผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ประเทศใดเหมาะสมที่สุดสำหรับ การเกิดในปี 2556?

จากการสำรวจของ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต” (Economist Intelligence Unit : EIU) หน่วยงานวิจัยในเครืออีโคโนมิสต์ กรุ๊ป ผู้บริหารนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยประเมินศักยภาพของ 80 ประเทศทั่วโลกในด้านต่างๆ รวม 11 ด้าน






 เช่น ความเชื่อถือไว้วางใจของประชาชนในประเทศต่อรัฐบาลของตนเอง ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ สัดส่วนประชากรที่มั่งคั่ง สถิติการเกิดอาชญากรรม คุณภาพชีวิตของครอบครัว เป็นต้น โดยมีคะแนนให้เต็ม 10 คะแนน

พบว่า  สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการเกิดในปีหน้า โดยได้คะแนนสูงสุดที่ 8.22 คะแนน เพราะแม้จะมีประชากรเพียง 8 ล้านคน แต่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก ตามมาด้วยออสเตรเลีย ได้ 8.12 คะแนน นอร์เวย์ 8.09 คะแนน สวีเดน 8.02 คะแนน และเดนมาร์ก 8.01 คะแนน

ส่วนอันดับ 6-10 ได้แก่ สิงคโปร์ 8.0 คะแนน นิวซีแลนด์ 7.95 คะแนน เนเธอร์แลนด์ 7.94 คะแนน แคนาดา 7.81 คะแนน และฮ่องกง 7.80 คะแนน ขณะที่สหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 16 ร่วมกับเยอรมนี ด้วยคะแนน 7.38 คะแนน อังกฤษ อันดับ 27 ได้ 7.01 คะแนน

ประเทศอื่นในเอเชีย อย่างไต้หวัน อยู่อันดับที่ 14 ได้ 7.67 คะแนน เกาหลีใต้ อันดับ 19 ได้ 7.25 คะแนน ญี่ปุ่น อันดับ 25 ได้ 7.08 คะแนน มาเลเซีย อันดับ 36 ได้ 6.62 คะแนน จีน อันดับ 49 ได้ 5.99 คะแนน ฟิลิปปินส์ อันดับ 63 ร่วมกับศรีลังกา ได้ 5.17 คะแนน อินเดีย อันดับ 66 ได้ 5.67 คะแนน เวียดนาม อันดับ 68 ได้ 5.64 คะแนน ส่วนอินโดนีเซีย อันดับ 70 ได้ 5.54 คะแนน

สำหรับประเทศที่เหมาะสมน้อยที่สุดในโลกสำหรับการเกิดคือ ไนจีเรีย รั้งท้ายในอันดับที่ 80 ด้วยคะแนนต่ำสุดเพียง 4.74 คะแนน ตามด้วยเคนยา 4.91 คะแนน ยูเครน 4.98 คะแนน บังกลาเทศ 5.07 คะแนน แองโกลา 5.09 คะแนน ปากีสถาน 5.17 คะแนน คาซัคสถาน 5.20 คะแนน ซีเรีย 5.29 คะแนน รัสเซีย 5.31 คะแนน

ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 50 ของประเทศที่ดีที่สุดในโลกสำหรับ การเกิดในปีหน้า และอยู่ในอันดับที่ 11 ของเอเชีย ซึ่งจากการประเมินของทีมผู้เชี่ยวชาญ ดิ อีโคโนมิสต์ให้คะแนนไทยที่ 5.96 คะแนน เฉือนเอาชนะตุรกี อันดับ 51 ที่ได้ 5.95 คะแนน






สาเหตุสำคัญที่ฉุดรั้งประเทศไทยคือ ปัญหาความขัดแย้งทางด้านการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศสั่นคลอน และคุณภาพชีวิตของประชาชนลดลง

เฮ้อ!นี่ขนาดบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ ลดดีกรีความร้อนแรงลงไปมากแล้ว ผู้คนนอกประเทศยังมองไทยว่าความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่คลี่คลาย ผู้คนยังแบ่งแยกออกเป็นหลายสี ความรัก ความสามัคคีในหมู่คนไทยแทบจะเหือดหายไปสิ้น  

แล้วถ้าความขัดแย้งทางการเมืองไทยเกิดประทุขึ้นอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน จนนำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ยาวนาน และเกิดความรุนแรงแบบเลือดตกยางออก หรือมีคนตายขึ้นอีก

ถึงวันนั้น เชื่อเหลือเกินว่า อย่าว่าแต่น่ามาเกิดเลย ประเทศไทยคงไม่มีใครคิดที่จะมากิน มาอยู่ มาเที่ยว มาลงทุน หรือแม้แต่แวะมาเปลี่ยนถ่ายเครื่องบินเลยด้วยซ้ำ ว่ามั๊ย?



ฟันนี่เอส 


                                                                       20 ธ.ค. 55


วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เลวพอกัน


 

 
 

 
 
 
 

ดูท่าว่า ศึกสาวไส้เรื่องข้าว ระหว่างรัฐบาลนี้ และรัฐบาลก่อนจะไม่จบง่ายๆ เสียแล้ว!!

 
 
 
 
 
 

เพราะหลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์เริ่มต้นขบวนการ ล้มโครงการรับจำนำข้าว เรื่อยมาถึงเปิดศึกซักฟอกรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีว่า มีการทุจริตในโครงการรับจำนำ และการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล รวมถึงยังมีการขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) แบบลวงโลกแล้ว

 

ล่าสุด ก็มีข่าวแฉกลับรัฐบาลสมัยพรรคประชาธิปัตย์บ้าง โดยอ้างข้อมูลที่คณะอนุกรรมการไต่สวน ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีนายกล้าณรงค์ จันทิก เป็นประธาน

 
 
 
 
 

ได้กล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 4 คนคือ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) นางพรทิวา นาคาศัย อดีตรมว.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

 

กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการอนุมัติให้ความเห็นชอบขายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้ส่งออกบางราย โดยไม่มีเปิดประมูลเป็นการทั่วไป อันเป็นการกีดกันบริษัทผู้ส่งออกอื่นไม่ให้เสนอราคาแข่งขันอย่างเป็นธรรม จนเกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

 

โดยข่าวระบุว่า ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบพบว่า การขายข้าวของรัฐบาลก่อน แทบไม่ต่างจากรัฐบาลนี้เลย เพราะขายด้วยวิธีพิเศษ คือ เปิดให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมาเสนอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐ แม้จะอ้างว่า ต่อรองราคาเพื่อให้ได้ราคาดีที่สุด แต่ไม่ได้เปิดเผยเช่นกันว่า ขายให้เอกชนราคาเท่าไร และรัฐขาดทุนเท่าไร

 

รวมปริมาณที่ขายออกในครั้งนั้น มากถึง 2.73 ล้านตัน แต่กลับส่งออกจริงแค่ล้านกว่าตัน ไม่ได้ส่งออกถึง 922,195 ตัน มิหนำซ้ำ ผู้ส่งออกบางราย ที่ส่งออกข้าวไม่ครบ หรือไม่ได้ส่งออก ยังอาจแสดงเอกสารการส่งออกเท็จ มาขอคืนหลักประกันสัญญาจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) อีก

 

การดำเนินการเช่นนี้ ป.ป.ช.เห็นว่าเป็นคดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน และมีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ จึงตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำความผิด

 

เมื่อเห็นข่าวนี้แล้ว ทำให้เห็นถึงกำพืดนักการเมืองไทยว่า ไม่มีใครดีไปกว่ากัน และยังเห็นสัจธรรมว่า สมบัติผลัดกันชมจริงๆ

 

เพราะนักการเมืองบ้านเรา แทบจะหาคนจริงใจ และเสียสละทำงานเพื่อประเทศชาติไม่ได้เลย ส่วนใหญ่มี “วาระซ่อนเร้น” ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไม่กินตามน้ำ ก็ทวนน้ำ ถ้าไม่กินเพื่อตัวเอง ก็เพื่อพวกพ้อง  ตำแหน่งต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนตัวบุคคลไปเรื่อยอ้างเพื่อความเหมาะสมในการทำงานนั้น แท้จริงก็เพื่อผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาหาช่องทางกอบโกยผลประโยชน์

 

อยากวิงวอน ป.ป.ช. หน่วยงานตรวจสอบทุกหน่วยงาน รวมถึงคนไทยทุกคนให้ช่วยกันสอดส่องพฤติกรรม ถ้าพบผิดก็ต้องเอาผิดให้ถึงที่สุด อย่าปล่อยให้คนเหล่านี้เสวยสุขอยู่บนความทุกข์ และความอับอายของคนไทยทั้งประเทศอีกเลย

 

 

 


 ฟันนี่เอส

 
                                                             13 ธ.ค.55

วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เวียดนามแย่งตลาดข้าวหอมมะลิ


 











            สัปดาห์ก่อน มีโอกาสติดตามคณะของกระทรวงพาณิชย์ นำโดยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ไปขาย และประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทย ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งได้ข้อมูลมาว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียตลาดข้าวหอมมะลิในฮ่องกงให้กับคู่แข่งตลอดกาลอย่างเวียดนามไปเสียแล้ว

 

 โดยแต่เดิม ฮ่องกงนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยปีละกว่า 200,000 ตัน แต่ขณะนี้ลดลงเหลือ 160,000-170,000 ตันเท่านั้น  หรือปริมาณหายไปราว 50,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าที่หายไปประมาณ 16,500 ล้านบาท จากราคาส่งออกข้าวหอมมะลิไทยในปัจจุบันที่ตันละ 1,100 เหรียญฯ

 
 
 
 
 
 

ด้วยเหตุผลที่คนทั่วโลกทราบกันดีคือ ราคาข้าวหอมเวียดนาม ถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทยตันละกว่า 200 เหรียญสหรัฐฯ

 

จึงเป็นแรงจูงใจอย่างดีให้อุตสาหกรรมที่ต้องใช้ข้าวในปริมาณมาก อย่างกลุ่มลูกค้าโรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร ต้องลดต้นทุนด้วยการนำเข้าข้าวหอมเวียดนามแทน แม้คุณภาพจะไม่สามารถเทียบเคียงข้าวหอมมะลิไทยได้เลย ทั้งในเรื่องของกลิ่นหอม และความนุ่ม

 

แต่สำหรับกลุ่มผู้บริโภค ยังคงเหนียวแน่นอยู่กับการบริโภคข้าวหอมมะลิไทย แม้จะมีราคาสูงขึ้น แต่ก็ยังรับได้ เพราะมีกำลังซื้อสูง และนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิใหม่

 
 
 
 
 
 
 
 

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นั่งไม่ติด เร่งเดินหน้าแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวในฮ่องกงกลับคืนมาให้ได้ โดยจะจัดกิจกรรมร่วมกับผู้นำเข้า ประชาสัมพันธ์ให้ทั้งกลุ่มผู้บริโภค และกลุ่มลูกค้าโรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร รับรู้ถึงคุณภาพที่ไม่มีข้าวชนิดใดเทียบเคียงได้ของข้าวหอมมะลิไทย

 

การจัดกิจกรรม In Store Promotion ในห้างสรรพสินค้า หรือการจัดมุมประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทย ให้ผู้บริโภคที่ยังไม่รู้จักได้รู้จัก คุ้นเคย และหันมาบริโภคให้มากขึ้น รวมถึงประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อท้องถิ่นต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสารอาหาร หรือการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ดึงดูดผู้บริโภค

 

กระทรวงพาณิชย์ มั่นใจว่า การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้ไทยสามารถส่งออกข้าวหอมมะลิมายังตลาดฮ่องกงได้เพิ่มขึ้นอีก 60,000-70,000 ตัน

 
 
 
 
 
 
 

นอกจากนี้ การเดินทางไปฮ่องกงครั้งนี้ นายบุญทรง ยังได้เป็นประธานลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) การซื้อข้าวหอมมะลิจากไทย ระหว่างผู้ส่งออกข้าวไทย กับผู้นำเข้าข้าวฮ่องกง รวม 9 ฉบับ ปริมาณรวม 100,000 ตัน เฉลี่ยตันละ 1,100 -1,112 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 33,000 ล้านบาท

 

แต่เท่าที่ทราบ ไม่ใช่ตลาดข้าวหอมมะลิในฮ่องกงเพียงตลาดเดียว ที่ถูกข้าวเวียดนามช่วงชิงไป ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป จีน สิงคโปร์ ส่วนข้าวขาวก็มีตลาดฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่ถูกข้าวเวียดนามแย่งส่วนแบ่งไปเช่นกัน

 

เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์โดยตรง ที่จะเดินเกมแย่งตลาดกลับคืนมาให้ได้อย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะเสียตลาดไปอย่างถาวร ไม่ใช่มัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาขายจีทูจีอย่างเดียว ที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า มีจริงหรือเปล่า และรัฐขาดทุนเท่าไร

 

 

 

ฟันนี่เอส

 

6 ธ.ค.55