วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

แก้ภาพลักษณ์แรงงานประมงไทย


 

 

          

 

            ตอนนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมประมงของไทย ทั้งภาครัฐ และเอกชน กำลังคร่ำเคร่งกับการแก้ปัญหา และชี้แจงแถลงไขให้สหรัฐฯได้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดถึงการใช้แรงงานประมงว่า ไทยไม่มีการใช้แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก หรือมีการค้ามนุษย์แต่อย่างใด

           การดำเนินการดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้จัดให้ไทยอยู่ในระดับ Tier 2 Watch List เป็นปีที่ 4 (ตั้งแต่ปี 2553-56) ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ที่จัดทำขึ้นตามกฎหมาย Trafficking Victims Protection Act (TVPA) ปี ค.ศ. 2000 เพื่อเสนอรัฐสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับการค้ามนุษย์และความพยายามในการขจัดการค้ามนุษย์ของประเทศต่างๆ

           ตามกฎหมาย TVPA การกำหนดให้ประเทศที่ถูกจัดอันดับ Tier 2 Watch List ติดต่อกัน 2 ปี ในปีถัดไปจะต้องถูกปรับลดระดับเป็น Tier 3 โดยอัตโนมัติ และอาจถูกสหรัฐฯ ระงับการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ใช่ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการค้า

          สำหรับไทย ได้รับการยกเว้นจากการถูกปรับลดระดับเป็น Tier 3 ในปี 2555-56 เพราะได้จัดทำแผนปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยประจำปี 2555-2556 และได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้


 
 
 
 
         แต่ปัญหาการใช้แรงงาน ถือเป็นข้อกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี  ที่ประเทศมหาอำนาจมักหยิบยกขึ้นเป็นเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้า และการให้สิทธิพิเศษทางการค้า เช่น ในบัญชีรายการสินค้าที่ผลิตโดยใช้แรงงานเด็ก ที่เป็นแรงงานบังคับหรือแรงงานขัดหนี้ ของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ

          ได้กำหนดให้ส่วนราชการสหรัฐฯ ห้ามสั่งซื้อสินค้าที่อยู่ในบัญชีดังกล่าว และห้ามจัดจ้างผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าดังกล่าว หรือหากต้องการจะสั่งซื้อหรือจัดจ้าง ต้องแสดงเอกสารหลักฐานว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้มาจากผู้ผลิตที่ใช้แรงงานเด็กที่ถูกบังคับหรือขัดหนี้

 
 
 
 
 
 
 
 
        โดยในปี 56 มีสินค้าไทยอยู่ในบัญชีดังกล่าว 2 รายการ คือ กุ้งและสิ่งทอ!! แม้ทั้ง 2 รายการ ยังไม่ถูกห้ามนำเข้า แต่ก็อาจทำให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญเรื่องแรงงาน ความรับผิดชอบของนายจ้างต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่ซื้อ ไม่ใช้สินค้าไทยได้

           และอาจทำให้สหรัฐฯ นำประเด็นนี้มาพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ที่กำหนดว่าประเทศที่จะได้รับสิทธิจะต้องคุ้มครองสิทธิแรงงานในระดับที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

              จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่หลายหน่วยงานร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง หนึ่งในนั้นคือ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ดำเนินการหลายรูปแบบ ตั้งแต่จัดตั้งคณะทำงานชี้แจงข้อเท็จจริงการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมอาหารทะเล จัดคณะเดินทางไปชี้แจง และประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับต่อภาครัฐและเอกชนของสหรัฐฯ

             รวมถึงจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาในสหรัฐฯ (ล็อบบี้ยิสต์)  ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐสภาสหรัฐฯ ประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงให้ทั่วถึงในทุกภาคส่วนของสหรัฐฯ และจัดทำสารคดีที่ถ่ายทอดการใช้แรงงานอย่างถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้สหรัฐฯได้รับทราบข้อเท็จจริง และนำไปประกอบการพิจารณาจัดอันดับไทยในปีต่อไป ซึ่งคาดหวังว่า ไทยจะหลุดจากบัญชี Tier 2 ได้ในที่สุด

 

 
                                                                                             ฟันนี่เอส

 

                                                                                            26 ก.ย.56

 

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

โอกาสไทยในเซี่ยงไฮ้






















            เมื่อวันที่ 12-15 ก.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ ผู้ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง หลักสูตร: เสริมสร้างความรู้สู่เออีซี ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้พานักข่าวที่เข้าร่วมโครงการนี้ เดินทางไปทัศนศึกษาที่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

              เซี่ยงไฮ้วันนี้ ต่างจากที่เคยเห็นในครั้งแรกเมื่อกว่า 7-8 ปีมาก สมัยนั้น ความเจริญก้าวหน้า สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ไปเยือนครั้งแรกได้ไม่น้อยแล้ว แต่การไปครั้งใหม่นี้ สร้างความฮือฮาได้มากยิ่งกว่า)

ฝั่งเมืองใหม่ “ผู่ตง” ดูทันสมัย มีตึกใหญ่ๆ สูงๆ รายล้อมเต็มพื้นที่ ส่วนฝั่งเมืองเก่า “ผู่ซี่” ที่เคยเป็นเขตเช่าของชาติตะวันตกที่เข้ามาเซี่ยงไฮ้เมื่อกว่าร้อยปีก่อน ยังคงความสง่างาม ของสถาปัตยกรรมยุโรปได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง























ทุกวันนี้ เซี่ยงไฮ้ เป็นเมืองใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งของโลก มีประชากรมากกว่าคนไทยทั้งประเทศ เป็นศูนย์กลางความเจริญในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การลงทุน แฟชั่น การท่องเที่ยว และกลายเป็นเมืองพี่ของฮ่องกงไปแล้ว

”ฟันนี่เอส” มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณธนากร เสรีบุรี” รองประธานกรรมการ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซี.พี.) และประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม ซี.พี. ในจีน ทราบว่า ความเติบโตจากภายในของจีนยังดีอยู่ ด้วยประชากรมหาศาลเกือบ 1,400 ล้านคน จึงยังโอกาสในด้านการค้า การลงทุนอยู่







   แนะนำให้นักธุรกิจไทย กล้าเข้าไปทำการค้า การลงทุนในจีน ในช่วงแรกอาจมองหาหุ้นส่วนที่ไว้ใจได้ แล้วค่อยขยายการลงทุนเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเซี่ยงไฮ้ ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับธุรกิจบริการ ทั้งร้านอาหาร ร้านนวดแผนไทย สปา ท่องเที่ยว ฯลฯ  

  ส่วนซี.พี. นอกจากทำธุรกิจแทบทุกประเภทในจีน ทั้งอาหาร อสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า รถจักรยานยนต์แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ร่วมทุนกับบริษัท Shanghai Automotive Industry Corp. บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดในจีน ผลิตและจำหน่ายรถยนต์พวงมาลัยขวา ภายใต้แบรนด์ “MG” ป้อนตลาดไทยและตลาดโลก โดยลงทุนสร้างโรงงานที่จ.ระยอง มูลค่าราว 15,000 ล้านบาท เฟสแรกคาดจะผลิตได้ 50,000 คันภายในสิ้นปีนี้ และเฟส 2 ประมาณ 200,000 คัน

  นอกจากนี้ “คุณสุวัชชัย ทรงวานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงเทพ ในจีน เล่าว่า จีนเป็นเป้าหมายหลักลงทุนของธนาคาร โดยเปิดสำนักงานตัวแทนในปักกิ่ง ปี 2529 และเปลี่ยนสถานะเป็นสาขาในปี 2548 ส่วนปี 2552 ธนาคารมีสถานะเป็นธนาคารท้องถิ่นในจีน (ไม่ใช่ธนาคารต่างชาติ) มีสำนักงานใหญ่ที่เซี่ยงไฮ้ ปัจจุบัน มี 4 สาขาที่เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เซียะเหมิน และเสิ่นเจิ้น กำลังจะเปิดสาขาใหม่เร็วๆ นี้

   คุณสุวัชชัย บอกว่า แม้การทำธุรกิจในจีนแข่งขันรุนแรงมาก แต่ยังมีที่ว่างที่ธนาคารจะขยายได้อีก โดยธนาคารเน้นการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าที่เป็นคนไทยที่ทำธุรกิจในจีน และเน้นการปล่อยสินเชื่ออุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่ละปีปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

  ทุกวันนี้ คนไทยยังกล้าๆ กลัวๆ ไปลงทุนทำธุรกิจในต่างประเทศ แต่เมื่อศึกษาหาลู่ทาง โอกาส หาพันธมิตร และมีเงินทุนพร้อมแล้ว ก็ควรจะขยายฐานออกไปสร้าง “อาณาจักร” ใหม่ คุณอาจเป็นอีกคนหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ ไม่แพ้คนที่ประสบความสำเร็จแล้วในวันนี้





ฟันนี่เอส 


                                                         19 ก.ย.56

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

“เหยื่ออารมณ์” ?

              






              ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ที่นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค.56 และพบว่า เงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับค่าครองชีพประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น
  และยังมี ผู้(ไม่)หวังดีตัดต่อคลิปเสียง และภาพที่ปลัดกระทรวงฯ แถลงข่าวในวันนั้น และตอบคำถามผู้สื่อข่าวอย่างไม่ตรงใจนัก โพสต์ในโซเชียลมีเดีย มีการแชร์กันอย่างสนุกมือ คอมเมนต์ถล่มเละอย่างสะใจ





   ส่งผลให้ทั้งท่านปลัดฯ และกระทรวงพาณิชย์ ตกเป็น เหยื่ออารมณ์ของชาวบ้านในทันที!!
              ชาวบ้านส่วนหนึ่ง ที่ไม่พอใจการดูแลราคาสินค้า และค่าครองชีพ โทรศัพท์มาที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569”   ต่อว่าดูแลค่าครองชีพล้มเหลว พร้อม ขู่ จะสาดน้ำกรดปลัดฯ และ ขู่วางระเบิดในทุกสถานที่ที่กรมการค้าภายใน และกระทรวงพาณิชย์ ไปจัดงาน มิหนำซ้ำยังมีม็อบต่างๆ ประท้วงหน้ากระทรวงฯ ฐานไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพสูงได้อีก
               หากพิจารณาอย่างเป็นธรรม แม้การดูแลภาวะราคาสินค้า ค่าครองชีพ การยกระดับราคาสินค้าเกษตร และการสร้างความเป็นธรรมทางการค้า เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์โดยตรง แต่การที่ค่าครองชีพสูงขึ้น จะโทษกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานเดียวก็ใช่ที่
                เพราะสินค้าที่ผลิต และขายในท้องตลาดในประเทศ มีนับหมื่นนับแสนรายการ กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถควบคุมดูแลได้ทั้งหมด มีเพียงกว่า 200 รายการ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น ที่ติดตามดูแลสถานการณ์ราคา และภาวะการค้าเป็นประจำทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุก 15 วัน








                ยังมีอีก 43 รายการที่เป็นสินค้าและบริการควบคุม กรมการค้าภายใน ใช้มาตรการทางกฎหมายบริหารจัดการได้ และหนึ่งในนั้นมีเพียงน้ำตาลทราย ที่กำหนดราคาขายสูงสุดไม่เกินกิโลกรัมละ 23.50 บาท รวมถึงยังมีสินค้าอีกจำนวนหนึ่งที่กำหนดราคาแนะนำ เช่น สุกร ไข่ไก่ ปุ๋ยเคมี เหล็กเส้น ฯลฯ หากผู้ค้าขายเกินราคาจะมีโทษตามพ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542
                สินค้าที่เหลือนอกจากนี้ อย่างสินค้าฟุ่มเฟือย กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ควบคุม เพราะการควบคุมอย่างเข้มงวดทุกรายการ เท่ากับรัฐแทรกแซงธุรกิจเอกชน ทำให้กลไกตลาดบิดเบือน หากผู้ผลิตขาดทุนมากๆ ก็อาจเลิกผลิต ปิดกิจการ เกิดภาวะขาดแคลนสินค้า และผู้บริโภครับกรรม






                ขณะที่สินค้าอาหารสด อย่าง เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ผักสด ผลไม้สด นั้น ต้องใช้อุปสงค์ และอุปทานเป็นสำคัญ โดยหากผลผลิตมากกว่าความต้องการบริโภค ราคาจะตก ผู้ผลิตเดือดร้อน ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่ถ้าผลผลิตน้อยกว่าความต้องการเมื่อไร ผู้ผลิตได้ประโยชน์ ผู้บริโภคเดือดร้อนทันที
                กระทรวงพาณิชย์ จึงต้องสร้างความสมดุลทางการค้า อย่างที่นายกรัฐมนตรีพูดว่า “ต้องดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ” หมายถึง ตั้งแต่ผู้ผลิต/เกษตรกร, ผู้ค้า/พ่อค้าคนกลาง และผู้บริโภค ไม่ให้ใครได้-เสียมากจนเกินควร
                แต่ทุกวันนี้ เมื่อผลผลิตมาก ราคากลับไม่ลดลง ชาวบ้านยังซื้อของแพงอยู่ หรือฉวยขึ้นราคาสินค้าปลายทางมากเกินควร กระทรวงฯทำได้แค่ ตรวจสอบภาวะการค้า ถ้าพบรายใดขายสินค้าแนะนำ สินค้าควบคุม เกินราคา หรือไม่ปิดป้ายาคา ก็ดำเนินการตามกฎหมาย แล้วก็ใช้ “ธงฟ้า” ยาวิเศษลดค่าครองชีพ
     แต่เอาเถอะ! ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ประชาชนให้รักษาสิทธิตนเองบ้าง ถ้าพบเห็นผู้ค้าฉวยโอกาสเอาเปรียบ แจ้ง 1569 หรือสำนักงานการค้าภายในทุกจังหวัด คนเอาเปรียบถูกลงโทษตามกฎหมายแน่



ฟันนี่เอส


                                                         12 ก.ย.56

            

วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

เงินเฟ้อ : ภาพลวงตาหรือแค่ความรู้สึก


          








            วันก่อน กระทรวงพาณิชย์ โดยนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงข่าวอัตราเงินเฟ้อไทยเดือนส.ค.56 ซึ่งเป็นเดือนล่าสุดว่า เท่ากับ 105.41 สูงขึ้น 1.59% เทียบกับเดือนส.ค.55 นับเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 46 เดือน นับตั้งแต่เดือนต.ค.52 ที่ขยายตัว 0.4% และเมื่อเทียบกับเดือนก.ค.56 ลดลง 0.01% ส่วนเฉลี่ย 8 เดือนปี 56 สูงขึ้น 2.47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 55

            หลายคนอาจสงสัยว่า เงินเฟ้อคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรในระบบเศรษฐกิจ ฟันนี่เอสขอใช้ความรู้อันน้อยนิด อธิบายสั้นๆ ว่า เงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง มีผลให้ค่าของเงินในกระเป๋าลดลง โดยมูลค่าเงินเท่าเดิมแต่กลับซื้อสินค้าได้น้อยชิ้นลง

               ยกตัวอย่าง เช่น  เคยซื้อไข่ไก่ 1 ถาด 30 ฟองในราคา 60 บาท หรือเฉลี่ยฟองละ 2 บาท แต่ปัจจุบัน ราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นถาดละ 120 บาท หรือเฉลี่ยฟองละ 4 บาท ถ้าจะใช้เงินเท่าเดิม 60 บาท จะซื้อได้แค่ 15 ฟอง ถ้าต้องการซื้อทั้ง 30 ฟอง ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นอีก 60 บาท เป็น 120 บาท แบบนี้เรียกว่า เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นแล้ว เพราะเงินจำนวนเท่าเดิมในกระเป๋าเรามีค่าลดลง ซื้อสินค้าได้น้อยชิ้นลง

             ถือว่า เงินเฟ้อ เป็นดัชนีชี้วัดค่าครองชีพของประชาชนว่าดีขึ้น หรือแย่ลง เงินในกระเป๋าเรามีค่ามากขึ้น หรือลดลงอย่างไร!!

                และยังเป็นเครื่องมือที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนคาดการณ์เงินเฟ้อได้อย่างเหมาะสม สามารถวางแผนการใช้จ่าย ทั้งการบริโภคการผลิต และการลงทุนได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน

            เงินเฟ้อเดือนส.ค.ที่เพิ่มขึ้น 1.59% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.55 หมายความว่า ราคาสินค้าและบริการในเดือนส.ค.ปีนี้สูงกว่าเดือนส.ค.ปีก่อน 1.59% แต่อัตราดังกล่าวกลับลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี ส่วนเฉลี่ย 8 เดือนปี 56 สูงขึ้น 2.47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 55 หมายความว่า ราคาสินค้าและบริการ 8 เดือนปีนี้แพงกว่า 8 เดือนปีก่อน 2.47%













               เมื่อพิจารณาตามหลักวิชาการแล้ว จะเห็นว่า ราคาสินค้าและบริการขณะนี้ยังแพงกว่าปีก่อน อย่างที่ประชาชนกำลังรู้สึก และเผชิญหน้าอยู่ แม้กระทรวงพาณิชย์ พยายามชี้แจงว่า ราคาสินค้าและบริการปีนี้แทบไม่ต่างจากปีก่อนเลย

             และแม้จะเห็นการลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 56 เพราะความต้องการบริโภคประชาชนลดลง จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาลสิ้นสุดลงแล้ว โดยเฉพาะโครงการรถยนต์คันแรก

               แต่ ฟันนี่เอสมองว่า เงินเฟ้อในเดือนก.ย.นี้ อาจขยับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนส.ค.56 เพราะราคาก๊าซหุงต้มปรับขึ้นอีกกก.ละ 50 สตางค์ ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ เพิ่มขึ้นอีก 7 สตางค์/หน่วย และค่าทางด่วนขึ้นอีก 5 บาท

               แม้กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ทั้ง 3 ปัจจัยจะทำให้เงินเฟ้อถึงสิ้นปีเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% แต่ในด้านจิตวิทยา ราคาสินค้า โดยเฉพาะอาหาร ซึ่งมีน้ำหนักมากในการคำนวณเงินเฟ้อ ปรับขึ้นไปรอราคาก๊าซที่ปรับขึ้นแล้ว และยิ่งสหรัฐฯถล่มซีเรีย ก็จะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้น และจะกดดันเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นได้อีก

                 คงต้องจับตากันอย่างไม่กระพริบว่า เงินเฟ้อปีนี้ จะต่ำกว่าเป้าหมาย หรือโตตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ 2.80-3.40% หรือไม่

                                                                                     
                                                                                      ฟันนี่เอส


                                                       5 ก.ย. 56