วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

สันดานเอาเปรียบ













           

              ในภาวะที่ราคาน้ำมันดิบในต่างประเทศทะยานขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นนี้ น่าจะทำให้ราคาพืชพลังงานทดแทน อย่างมันสำปะหลัง ขยับขึ้นได้มาก จากความต้องการที่มากขึ้น เพื่อนำไปผลิตพลังงานทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง

             แต่สิ่งที่กล่าวไปแล้วข้างต้น กลับไม่เกิดขึ้นกับมันสำปะหลังของไทย ตรงกันข้าม ราคาขณะนี้ เรียกว่า “ดิ่งเหว” ก็คงจะไม่ผิดนัก


ชาวไร่มันขายได้เพียงกิโลกรัม (กก.) ละ 1.30-1.70 บาท ทั้งที่รัฐบาลกำลังดำเนินโครงการรับจำนำมันสำปะหลังปี 54/55 โดยตั้งราคารับจำนำเริ่มต้นที่กก.ละ 2.75 บาท และทยอยปรับขึ้นเดือนละ 5 สตางค์/กก. จนมีราคาสุดท้ายในเดือนพ.ค.ที่กก.ละ 2.90 บาท


สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการส่งออกชะลอตัว จากการที่ผู้นำเข้าต่างประเทศหันไปซื้อมันสับจากเวียดนาม และกัมพูชา เพราะคุณภาพดีกว่า และราคาถูกกว่าของไทย ส่งผลให้การค้ามันสำปะหลังในประเทศซบเซา







ภาพจาก http://talk.mthai.com/topic/330623



ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง ลานมัน และโรงแป้งบางราย ฉวยโอกาสกดราคารับซื้อ ขณะที่บางราย ที่แม้จะเข้าร่วมโครงการ ก็กลับอ้างกับชาวไร่ที่นำมันไปจำนำว่า ไม่มีพื้นที่จัดเก็บ จึงขอชะลอการจำนำ แต่ถ้าชาวไร่ไม่อยากเสียเวลา และค่าขนส่งมันจากไร่มาจุดรับจำนำซ้ำแล้วซ้ำอีก ผู้ประกอบการจะขอซื้อไว้ในราคาต่ำกว่าราคาจำนำ  ชาวไร่ไม่มีทางเลือก ก็จำเป็นต้องขาย







นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากจุดรับจำนำไม่เพียงพอ เพราะลานมัน โรงแป้งบางราย ไม่เข้าร่วมโครงการ โดยอ้างว่าไม่มีพื้นที่เพียงพอจัดเก็บมัน ทำให้ชาวไร่หาจุดรับจำนำยาก ราคาก็ตกลง


แต่เหตุผลจริง วงการค้ามันรู้ดีว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว้านซื้อหัวมันสดมาเก็บไว้จำนวนมากตั้งแต่ต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวเมื่อปลายปีก่อน เพราะคาดว่า เมื่อมีโครงการรับจำนำ ราคาจะสูงขึ้นได้ และจะมีโอกาสขายทำกำไรได้มาก


ถือเป็นการคาดเดาที่ผิดพลาด เพราะตัวแปรสำคัญคือการส่งออกชะลอลง ราคาจึงดิ่งลง ลานมัน โรงแป้งเลยกดราคาซื้อ เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนสูง ที่ซื้อไว้ปลายปีก่อน เพื่อให้ยังพอมีกำไร หรือไม่ขาดทุน



  เพื่อแก้ปัญหาราคาตก ในการประชุม ครม.วันนี้ (29มี.ค.) กระทรวงพาณิชย์ เสนอให้พิจารณาเพิ่มราคารับจำนำหัวมันสด เชื้อแป้ง 25% โดยราคาเดือนเม.ย. เพิ่มเป็นกก.ละ 3.00 บาท จากเดิมกก.ละ 2.85 บาท และเดือนพ.ค. เป็นกก.ละ 3.20 บาท จาก 2.90 บาท รวมทั้งเพิ่มค่าขนส่งไม่เกิน 50 กก.







  นอกจากนี้ เสนอ ครม.ให้รัฐบาลตั้งโต๊ะรับซื้อหัวมันสดจากเกษตรกร ที่ไม่มีหนังสือรับรองสิทธิ์ ตามราคารับจำนำ เพื่อแก้ปัญหาที่เกษตรกรเหล่านี้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการจำนำได้ และสุดท้าย จะออกราคาแนะนำรับซื้อหัวมันสดนอกโครงการตามราคาจำนำ เมื่อดัดหลังลานมัน โรงแป้ง ที่กดราคารับซื้อ


  กระทรวงพาณิชย์ หวังว่า มาตรการเหล่านี้จะแก้ปัญหาราคาตกต่ำได้ ส่วนพวกลานมัน โรงแป้ง ที่มีสันดานโกง เอาเปรียบ ตอนนี้ กรมการค้าภายใน รู้ตัวแล้วว่าเป็นใคร ก็ขอเตือนให้เลิกซะ ไม่เช่นนั้น จะเล่นงานหนัก


   “ฟันนี่เอส” เห็นดีด้วย งานนี้ต้องเอาให้หนัก เอาให้เข็ด จะได้เลิกพฤติกรรมทุเรศๆ เสียที ทำไมน้า ทำไมถึงชอบเอาเปรียบเกษตรกรกันนัก หรือเห็นว่า ไม่มีปากมีเสียง เลยจะทำยังไงก็ได้ งั้นหรือ?



    ฟันนี่เอส



                                                   29 มี.ค.55





วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

“หมาเฝ้าบ้าน”กวาดล้างทุจริต"











            ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเอกชนเกือบ 40 องค์กร เพื่อดำเนินกิจกรรมต่อต้านการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบในประเทศไทย และมีนายประมนต์ สุธีวงศ์ อดีตประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นประธาน นั้น กำลังทำงานเชิงรุกเพื่อขจัดปัญหาคอร์รัปชั่นให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย

            ล่าสุด ได้จัดทำโครงการ "หมาเฝ้าบ้าน" เปิดรับสมัครประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเป็นผู้จับผิดทุจริตในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งรุ่นแรกมีอาสาสมัคร หมาเฝ้าบ้านแล้ว 130 คน

            หลังผ่านการอบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการเฝ้าระวัง และจับตาการทุจริต จากมือปราบคอร์รัปชั่น อย่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปแล้ว





            อาสาสมัครทั้งหมดจะมีส่วนช่วยตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการและงบประมาณแก้ปัญหาและฟื้นฟูน้ำท่วมระยะเร่งด่วนถึงระยะยาวกว่า 4 แสนล้านบาท




            โดยหากโครงการใดส่อเค้าส่งกลิ่น หรือไม่ชอบมาพากล ก็สามารถแจ้งมายังภาคีฯ เพื่อจะได้เก็บรวบรวมข้อมูล และตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนส่งเรื่องให้ป.ป.ช. หรือสตง. หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการต่อไป

            เหตุที่เน้นจับตางบก้อนนี้เป็นพิเศษ เพราะภาคเอกชนเป็นห่วงเหลือเกินว่า จะถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า และมีการโกงกินกันได้มากที่สุด และง่ายที่สุด หากหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นผู้ตั้งโครงการเบิกจ่ายงบประมาณนี้ จะจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ แทนที่จะเปิดประมูลอย่างเปิดเผย และโปร่งใส หรือจงใจทำให้เกิดการรั่วไหลเข้ากระเป๋าตัวเอง และพวงพ้อง

           ขณะที่ภาคประชาชนก็เป็นห่วงเช่นกัน เพราะคนไทยทุกคนรับรู้มาโดยตลอดว่า ทุกหย่อมหญ้าในผืนแผ่นดินนี้ มีการโกงกินกันสะบั้นหั่นแหลก ที่ติดอันดับมากที่สุดหนีไม่พ้นในวงการการเมือง และวงการข้าราชการ เพราะโกงอะไรก็ไม่มันมือเท่ากับโกงกินเงินหลวง

          จากการสำรวจความคิดเห็นภาคเอกชน โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ล่าสุดเมื่อเดือนม.ค.55 พบว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการทุจริตในโครงการต่างๆ ของภาครัฐสูงถึง 25-30% ของงบประมาณ และงบลงทุนภาครัฐที่ 2-3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่สูญเสียไป 1.8-2 แสนล้านบาท

           หากไม่สามารถลดปัญหานี้ได้ ภายใน 5-10 ปี รัฐจะสูญเสียเงินไปกับการคอร์รัปชั่นสูงถึง 8 แสนล้าน-1ล้านล้านบาท สามารถสร้างถนนใหม่ๆ ได้นับสิบสาย





          มาถึงตรงนี้ ทำให้ ฟันนี่เอสนึกถึงการพูดคุยกับ คุณดุสิต นนทะนาครอดีตประธานกรรมการหอการค้าไทย ผู้ล่วงลับ และผู้ริเริ่มปลุกระดมภาคเอกชน และคนไทยให้ต่อต้านทุจริตในประเทศ

          คุณดุสิต เคยพูดว่า สถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยเลวร้ายมากขึ้น มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับผู้มีอำนาจ เพื่อให้ได้งานหรือสิทธิประโยชน์ ถือเป็นการปล้นชาติ เพราะงบประมาณทุกบาทที่ควรนำมาพัฒนาประเทศได้ถูกโกงกิน ที่สำคัญ คนไทยกลับรับได้ ซึ่งอันตรายมาก หากปล่อยไว้ อนาคต ประเทศไทยคงล่มสลาย จำเป็นที่ทุกคนต้องต่อต้านคอร์รัปชั่น แม้เป็นเรื่องยาก แต่ต้องทำ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น

           เชื่อแน่ว่า นับจากนี้ คนไทยทุกคนคงเอาใจช่วยให้การทำงานของภาคีฯประสบความสำเร็จ สามารถขจัดคอร์รัปชั่น ที่หยั่งรากฝังลึกในสังคมไทยอย่างยากจะถอนได้ ให้หมดไปในเร็ววัน



                                                                  ฟันนี่เอส



                                                                22 มี.ค.55

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

80 ปีหอการค้าไทย : ชี้นำเศรษฐกิจโลก












            เมื่อไรก็ตามที่เศรษฐกิจประเทศใดเกิดวิกฤติ เศรษฐกิจโลกจะติดเชื้องอมแงมจนล้มลุกคลุกคลานตาม มีบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วหลายครั้งหลายครา ทั้งจากวิกฤติต้มยำกุ้งในไทยเมื่อปี 2540 ตามด้วยวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯอีก 10 ปีให้หลัง และล่าสุดปี 2554 วิกฤติหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปทำให้โลกเริ่มเห็นว่า แม้เศรษฐกิจทุนนิยมแบบเปิด จะมีผลดี ทำให้การค้า การลงทุนเป็นไปอย่างเสรี

              แต่มีจุดอ่อนที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา ประเทศเล็กๆ มักเสียเปรียบ และเกิดความไม่สมดุลในการพัฒนา ทำให้การเติบโตไม่ยั่งยืน  ที่สำคัญ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ณ ประเทศใด ปัญหาจะลุกลามไปทั่วโลกอย่างง่ายดายเหมือนฟางที่ไหม้ไฟอย่างรวดเร็ว




             ขณะนี้ โลกจึงกำลังมองหาโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่จะสร้างสมดุลให้กับเศรษฐกิจโลก ทำให้การเติบโตเป็นไปอย่างมั่นคง และยั่งยืนมากขึ้น

             หอการค้าไทย องค์กรภาคเอกชนที่เข้มแข็งที่สุดอีกองค์กรหนึ่งของประเทศ ได้ลุกขึ้นประกาศชัดเจนว่า เศรษฐกิจแบบพอเพียงที่ ในหลวงพระราชทานให้แก่พสกนิกรเมื่อหลายสิบปีก่อน จะเป็นทางออก ที่กูรูด้านเศรษฐกิจกำลังมองหากันอยู่

             ในปีที่ผ่านมา หอการค้าไทย ได้นำเอาหลักปรัชญานี้ มาประยุกต์ใช้แล้วใน 5 แนวทาง ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำ ชี้นำเศรษฐกิจ ต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น สร้างสรรค์สังคมไทย และก้าวไกลสู่สากล



              โดยได้จัดทำกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ที่สนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรแบบผสมผสานในนาข้าวพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งจะมีรายได้กลับมา 1 แสนบาทหรือมากกว่า แล้วขยายผลต่อไปยังโครงการ 1 บริษัท 1 ชุมชน โดยเอาผลผลิตที่ได้จากโครงการแรก หรือจากชุมชนไปให้บริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทยจัดจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออก

              การจัดตั้งภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอรัปชั่น ที่มีองค์กรภาคเอกชนเข้าร่วมมากมาย เพื่อขจัดการทุจริตคอรัปชั่นให้หมดไปจากสังคมไทย หรือการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในแบบฉบับของหอการค้าไทย เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจแต่ละสาขา แต่ละภูมิภาค ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น




              ผลจากการดำเนินโครงการเหล่านี้ ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจไทยจากจุดเล็กๆ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย โดยเฉพาะโครงการ 1 ไร่ 1 แสน หรือ 1 บริษัท 1 ชุมชน ที่เกษตรกรในโครงการสามารถปลดหนี้ และมีเงินเหลือไปลงทุนทำมาหากินได้ต่อไป

             หอการค้าไทย ตั้งใจจะนำเสนอความสำเร็จจากการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างงานฉลองครอบรอบ 80 ปีแห่งการก่อตั้งในเดือนพ.ย.นี้รวมถึงจะจัดสัมมนาทางวิชาการ (Symposium) เพื่อนำเสนอแนวคิดนี้ต่อสาธารณะ และมั่นใจว่า จะได้รบการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งจากคนไทย และกูรูเศรษฐกิจโลก ที่จะเชิญเข้าร่วมงานด้วย ทำให้ ฟันนี่เอสนึกถึงคำพูดของคุณวิชัย อัศรัสกร กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย ที่ว่า ประเทศไทยเดินตามฝรั่งมามากแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องเอาของดีที่มีในบ้านเมือง โดยเฉพาะคำสอนของในหลวง มาใช้ให้ฝรั่งเห็นและเดินตามเราบ้าง







                                                                              ฟันนี่เอส



                                                            15 มี.ค.55

วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

ใครเป็นรมว.พาณิชย์?



              




        วันนี้ ฟันนี่เอสขอทำหน้าที่เป็น มวยแทนแทน มิสไฟน์หนึ่งวันค่ะ เพราะติดภาระกิจเดินทางไปทำข่าวต่างประเทศ

        มีคำถามง่ายๆ มาถามท่านผู้อ่าน  (แต่ตอบได้ไม่มีรางวัล) รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2” ใครนั่งตำแหน่ง รมว.พาณิชย์”  เชื่อเหลือเกินว่า คงมีเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่รู้ว่าเป็น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์

            ส่วนคนที่ไม่รู้จัก ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ ท่านบุญทรงไม่ค่อยมีข่าวคราวให้ชาวบ้านได้อัพเดทกันตามสื่อต่างๆ แม้จะรับตำแหน่งนี้มา 2 เดือนแล้ว กระทั่งนักข่าวประจำกระทรวงพาณิชย์เองก็ยังแทบเขียนชื่อ-นามสกุลไม่ถูกเลยด้วยซ้ำ
         
            ทั้งที่ประเทศทุกวันนี้เข้าสู่ยุค ข้าวยากหมากแพง อีกครั้ง เพราะราคาของกิน ของใช้ดาหน้าขึ้นราคาเป็นว่าเล่น ชาวบ้านเดือดร้อนแสนสาหัส และเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ดูแล และแก้ปัญหาปากท้องให้ได้อย่างรวดเร็ว

            แต่ก็แปลก ที่ไม่ยักเห็นว่า รมว.พาณิชย์ คนนี้มีนโยบายอะไรใหม่ๆ แก้ปัญหาปากท้องให้ได้ ทั้งที่ดูแลกรมการค้าภายใน หน่วยงานหลักดูแลค่าครองชีพประชาชน จากตอนรับตำแหน่งวันแรก มอบนโยบายข้าราชการสวยหรูว่าต้องทำงานเชิงรุก อย่ามัวรอให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อนแล้วแก้ไข แต่ต้องวางแผนตั้งรับดักหน้าปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น

           เอาเข้าจริง นโยบายเชิงรุกนั้น จนถึงวันนี้ยังไม่เห็นมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเหมือนปากว่า!!
   



        อย่างราคาอาหารปรุงสำเร็จ ที่กำหนดราคาแนะนำขายไม่เกิน 20-35 บาท ก็ยังไม่เห็นใครร่วมมือ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ที่ไม่ให้ขายเกิน 35 บาทก็ยังไม่เห็น ทุกร้านเริ่มต้นก็ 40 บาทแล้ว

          การเข้าร่วมโครงการร้านอาหารธงฟ้า ที่ตั้งเป้า 8,000 แห่งทั่วประเทศ ก็ยังไม่ถึง แถมยังมีรายที่เข้าร่วมไปแล้วถอนตัวออกก็มาก เพราะบังคับให้ขายถูก แต่กระทรวงพาณิชย์กลับไม่ช่วยหาวัตถุดิบราคาถูกมาป้อนให้เลย

           ส่วนสินค้าเกษตร ก็ทยอยเกิดปัญหาขึ้นอีก ทั้งที่วางแผนล่วงหน้าได้ว่าจะรับมืออย่างไร เพราะมีวงจรชีวิตอยู่แล้วว่าช่วงไหนผลผลิตมาก ช่วงไหนน้อย แต่ก็ไม่เห็นมีแผนเชิงรุกจะทำอย่างไรช่วงผลผลิตมาก เพื่อไม่ให้ราคาตก และพอช่วงผลผลิตน้อย จะทำอย่างไรไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน จากราคาที่แพงขึ้น



          ที่เห็นชัดที่สุด คือ มะนาว ใครๆ ก็รู้ว่า หน้าร้อนมะนาวไม่มีน้ำ และผลผลิตลดลง ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น ล่าสุดแพงถึงลูกละกว่า 8 บาทแล้ว สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ทำคือ การเชื่อมโยงมะนาวจากแหล่งผลิตเข้ามาขายในกรุงเทพฯวันละ 1 แสนลูก

          ก็ให้แปลกใจอีกว่า ทำไมไม่แก้ไขก่อนล่วงหน้า ต้องปล่อยให้ชาวบ้านออกมาโวยวาย หรือต้องให้เป็นข่าวก่อน จึงจะคิดหาทางแก้ไขกัน




          หรือปาล์มน้ำมัน ตอนนี้ก็มีมาให้ปวดหัวอีกแล้ว นี่ยังไม่นับรวมน้ำตาลทราย ที่อาจขาดแคลนซ้ำรอยปีก่อน หรือการรับจำนำมันสำปะหลัง ที่ลานมัน โรงแป้งยังไม่ยอมเข้าร่วมโครงการ แล้วยังจะไข่ไก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่เดี๋ยวล้นตลาด ราคาตก เดี๋ยวขาดแคลน ราคาแพง ฯลฯ ไหนยังจะเล่ห์กลของพ่อค้า ที่เดินเกมปั่นราคา ปั่นหัวกระทรวงพาณิชย์ ที่ไม่รู้จะตามทันหรือเปล่า

          เหล่านี้คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การนำของ นายบุญทรงยังแก้ปัญหาไม่เป็นท่า และไม่มีแผนเชิงรุกจัดการ ขอร้องผู้มีส่วนสำคัญในการเลือกคนมาเป็นรัฐมนตรี ควรให้ความสำคัญกับความรู้ ความสามารถ และความตั้งใจจริงของคนคนนั้น อย่าเห็นแก่ว่าเป็นเด็กใครมากกว่าเลย เพราะผลเสียจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ และประชาชนแบบนี้ล่ะ



                                                                     ฟันนี่เอส

                                     14 มี.ค.55    

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวหรือไม่










              ท่านผู้อ่านหลายท่านถาม ฟันนี่เอสว่า ไทยจะเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกจริงหรือ ถ้าเป็นจริง จะเกิดผลอย่างไรบ้าง เพราะเห็นจากข่าวว่า ไทยจะเสียแชมป์ให้กับคู่แข่งเวียดนามในเร็วๆ นี้
             ฟันนี่เอสขอใช้ความรู้เท่าที่มีอยู่อธิบายให้ฟังว่า ในช่วงสัก 10 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวสารทุกชนิดรวมกันได้มากที่สุดในโลก เฉลี่ยปีละ 9-10 ล้านตัน จากผลผลิตข้าวเปลือกในประเทศเฉลี่ยประมาณ 30 ล้านตัน หรือประมาณ 20 ล้านตันข้าวสาร ส่วนที่เหลือบริโภคในประเทศ
             ขณะที่เวียดนาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แม้ปริมาณส่งออกน้อยกว่ามาก เพียง 3-5 ล้านตัน แต่ปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ล่าสุดปี 54 ส่งออกได้มากกว่า 7 ล้านตัน และในปีนี้ก็ตั้งเป้าหมายใกล้เคียงกัน




             สาเหตุเพราะราคาข้าวเวียดนามต่ำกว่าไทยมาก  เฉลี่ยตันละ 50-70 เหรียญสหรัฐฯ บางช่วงห่างกันถึง 100 เหรียญฯ จึงเป็นแรงจูงใจอย่างดีให้ผู้นำเข้าทั่วโลก ซื้อจากเวียดนามแทน 
             โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดซื้อขายข้าวโลกซบเซาอย่างในปัจจุบัน และอินเดียหันกลับมาส่งออกอีกครั้งตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เวียดนาม ต้องดัมพ์ราคาขายให้ต่ำกว่าเดิมมาก เพื่อแข่งขันกับอินเดีย จึงทำให้ข้าวของทั้ง 2 ประเทศขายดีเป็นเทน้ำเทท่า





              ผิดกับข้าวไทย ที่ปริมาณการส่งออกใน 2 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า ปริมาณส่งออกข้าวไทยวันที่ 1 ม.ค.-23ก.พ.55 ได้เพียง 465,081 ตัน ลดลง 41.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 796,724 ตัน
              ผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่า การตั้งราคารับจำนำที่สูงมาก เป็นสาเหตุสำคัญให้ราคาส่งออกข้าวไทยสูงขึ้นตาม และผู้ส่งออกไม่สามารถเสนอขายตัดราคาแข่งกับทั้ง 2 ประเทศได้ ลูกค้าจึงหนีหมด
             แต่กระทรวงพาณิชย์ เห็นว่า ปริมาณที่ลดลง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไทยไม่จำเป็นต้องขายข้าวตัดราคากับคู่แข่ง เพราะข้าวไทยเป็นข้าวคุณภาพยอดเยี่ยม โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ
            ดังนั้น การขายให้ได้ราคาดี เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ แม้ปริมาณส่งออกลดลง แต่เงินที่กลับเข้าประเทศเพิ่มขึ้นมาก เป็นสิ่งที่น่าจะดีใจมากกว่า
            กรณีเสียแชมป์หรือไม่ เป็นเรื่องมองต่างมุมของผู้ส่งออก และภาครัฐ ที่ฝ่ายหนึ่งมองในแง่ปริมาณ ที่ต้องการส่งออกให้ได้มากๆ โดยไม่คิดถึงมูลค่าที่ขายได้ ส่งผลเสียตามมาคือ ประเทศไทย ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ไม่สามารถกำหนดราคาข้าวได้อย่างแท้จริง และยังทำให้ราคาข้าวในประเทศไม่สูงขึ้นตาม




             อีกฝ่ายมองในแง่ของรายได้ที่จะกลับเข้าประเทศ จะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะของดีต้องขายแพง เมื่อราคาส่งออกสูง ราคาข้าวในประเทศจะสูงขึ้นตาม เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น
            และเพื่อป้องกันการเสียตลาด กระทรวงพาณิชย์จัดชั้นคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยใหม่แบ่งเป็นหลายเกรด ตามรสนิยม และกระเป๋าของผู้บริโภค ซึ่งทำให้คนมีเงินน้อย ยังกินข้าวไทยเหมือนเดิม
            ฟันนี่เอสว่าการเสียแชมป์หรือไม่ไม่สำคัญ สำคัญที่ไทยต้องวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูก และพันธุ์ข้าวให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ลดต้นทุนการผลิตให้ได้ เพื่อถีบตัวหนีคู่แข่ง ถ้าไม่ทำวันนี้...เวียดนาม หรือกระทั่งกัมพูชา พม่า และลาวเบียดไทยตกเวทีโลกแน่



                                                                              ฟันนี่เอส

                                           8 มี.ค. 55