วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปีใหม่...ไทยหมดทุกข์หมดโศก (แจกไดอารี่ปีใหม่ไทยรัฐ 4 เล่ม สี่ท่านแรก ด่วน! )






              เหลืออีกเพียง 2 วัน ชาวโลกจะอำลาปีเก่า 2554 และเริ่มต้นเฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2555 กันแล้ว แต่สำหรับคนไทย บรรยากาศการเฉลิมฉลองปีใหม่ยังไม่คึกคักเหมือนปีก่อนๆ

             เพราะแทบจะไม่เห็นความสวยงามของการประดับไฟหลากสีตามสถานที่ต่างๆ ไม่เห็นภาพของผู้คนที่เดินช็ปอปปิ้งของขวัญอย่างหนาตา และยิ่งแทบไม่เห็นเลยคือ รอยยิ้มของคนไทย ที่ถูกกระแสน้ำกลืนกินไปหมด

             แต่ภาพที่เห็นอย่างดาษดื่น ไม่ว่าจะมองไปทางไหน กลับเป็นความเสียหายจากน้ำท่วม ร่องรอยคราบน้ำที่เกาะติดฝังแน่นตามกำแพง ประตู ตู้โทรศัพท์สาธารณะสูงถึงระดับอก หรือเอว  ภาพของกองภูเขาขยะตามท้องถนน

 ภาพของกองดินคันกั้นน้ำ ที่ยังไม่ถูกจัดเก็บ ทำให้ถนนหนทางมีแต่ฝุ่นฟุ้งกระจาย ภาพของการกวาดล้างอาคารบ้านเรือนที่ยังไม่รู้จักเสร็จสิ้น

             ภาพเหล่านี้ ที่ปรากฎเป็นวงกว้างไปเกือบทั่วประเทศ ฟันนี่เอส ยอมรับตามตรงว่า ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่ และยังไม่รู้ว่า การบูรณะฟื้นฟูประเทศจะเสร็จสิ้นเมื่อไร ความเป็นปกติสุขของประเทศและคนไทยจะกลับมาเมื่อไร ที่สำคัญเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นซ้ำอีกหรือไม่





              ประชาชนอย่างเราๆ คงได้แต่เฝ้าดูการแก้ปัญหาของรัฐบาล ทั้งการวางแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศในระยะสั้น และระยะยาว ไม่ให้เกิดภัยแล้ง หรือภัยน้ำท่วม การฟื้นฟูเยียวยาประเทศและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เพื่อให้ขยายตัวมากขึ้นตามเป้าหมายที่ไว้

              ปีหน้าฟ้าใหม่ อยากให้ประเทศไทยพบเจอแต่สิ่งดีๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ แต่คงต้องขอพรจากพระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระแก้วมรกต คุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ดลบันดาลให้ นโยบายต่างๆ ของรัฐบาล เดินหน้าอย่างเต็มที่ และประสบความสำเร็จด้วยดี

  โดยเฉพาะการปรับสมดุลประเทศ ด้วยการกระตุ้นให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโต จากการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เกษตรกร และลดการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันเศรษฐกิจไทยติดโรคจากปัญหาเศรษฐกิจภายนอก

  เพราะถ้ามัวแต่จะรอให้รัฐบาลโชว์ฝีมือดำเนินนโยบายเหล่านี้ให้สำเร็จลุล่วงคงใช้เวลานาน และไม่ทันที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ยากของคนไทยเหมือนที่รัฐบาลใฝ่ฝันไว้แน่

  แต่ก็เอาเถอะ ไม่ว่าจะอย่างไร คนไทยจะรอดูฝีมือของรัฐบาล ขอแต่เพียงว่า อย่าฟัดกันเละ จนกลายเป็นรัฐบาลหมดน้ำยาก็แล้วกัน






  ในโอกาสปีใหม่นี้ คอลัมน์ กระจก8หน้า มีไดอารี่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 4 เล่มแจกให้กับผู้อ่าน 4 ท่านแรก ที่ส่งอีเมล์ติชมคอลัมน์มายัง lerdsud@yahoo.com เพื่อเป็นการขอบคุณที่ติดตามอ่านมาโดยตลอด (อย่าลืมส่งที่อยู่มาให้ด้วยนะคะ)

            ฟันนี่เอส

                                                          29 ธ.ค. 54

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ส่งออกจมน้ำ...ต่างชาติกระอัก







          ผลกระทบของน้ำท่วมใหญ่ช่วงที่ผ่านมา เริ่มสำแดงฤทธิ์ให้เห็นแล้วในภาคการส่งออก ตั้งแต่เดือนต.ค.และเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เพราะมูลค่าการส่งออกทั้ง 2 เดือนลดลงมากอย่างต่อเนื่อง

          โดยเดือนต.ค. มีมูลค่า 17,191.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลง 0.34% แต่ลดลงมากเมื่อเทียบกับเดือนก.ย.54 ที่มีมูลค่าสูงถึง 21,511.2 ล้านเหรียญฯ ส่วนเดือนพ.ย.54 มีมูลค่า 15,498.2 ล้านเหรียญฯ ลดลง 12.44% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน

           มูลค่าที่ลดลงนี้ เป็นการลดลงของสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพราะโรงงานจำนวนมากถูกน้ำท่วม ต้องหยุดเดินเครื่องผลิต และหยุดส่งออก โดยเฉพาะยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ที่มีมูลค่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าส่งออกรวมของไทย

          แม้ขณะนี้น้ำแห้งหมดแล้ว แต่ต้องใช้เวลาซ่อมแซมโรงาน และติดตั้งเครื่องจักรใหม่อีกนาน กว่าจะผลิตได้เหมือนเดิมก็ราวไตรมาสแรกปีหน้า จึงคาดว่า มูลค่าส่งออกในเดือนธ.ค.จะลดลงอีกจนถึงไตรมาสแรกปีหน้า






          สร้างความหงุดหงิดให้กับผู้ประกอบการมาก เพราะรายได้ที่ควรจะได้กลับต้องสูญไปโดยเปล่าประโยชน์ หนำซ้ำยังต้องใช้เงินทุนสำรองมาลงทุนใหม่อีก ยิ่งกว่าทุนหายกำไรหดเสียอีก!!

          ขณะที่ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการให้ขยายตัวได้มากขึ้น ก็เซ็งพอกัน เพราะเครื่องจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าอย่างดีมาโดยตลอด และเป็นผลงานชิ้นโบแดงของกรม กลับต้องมาติดขัด

          ความสูญเสียนี้ ไม่น่าเกิดขึ้นเลย หากไทยวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างไม่เห็นแก่ตัว ไม่ผิดพลาด และมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคนบางคน บางกลุ่มอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งที่เป็นเรื่องระดับชาติ และเป็นเรื่องความเป็นความตายขนาดนี้

          แต่ยังโชคดีที่มูลค่าการส่งออกสะสมตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย.ขยายตัวเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 15% แล้ว ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหลือของปี แม้มูลค่าจะลดลง แต่ไม่ได้ทำให้การขยายตัวพลาดเป้าหมายไปได้






          ส่วนปีหน้า ต้องลุ้นว่า เป้าหมายที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ตั้งไว้ที่ 15% จากปีนี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ ภายใต้ปัจจัยเสี่ยง ทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากน้ำท่วมที่ยังไม่จบ และแนวโน้มค่าเงินบาทแข็งค่า

          อย่างไรก็ตาม “ฟันนี่เอส” เห็นด้วยกับจุดยืนของรัฐบาล ที่จะเปลี่ยนสมดุลประเทศ โดยพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น แทนพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว เพราะเห็นกันชัดๆ แล้วว่า หากการส่งออกสะดุด เศรษฐกิจไทยก็ทรุดลงตามอย่างเลี่ยงไม่ได้

         แต่อีกอย่างที่อยากให้รัฐบาลมอง และลงมือส่งเสริมภาคเอกชนคือ การแปรรูป และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพราะเมื่อมีรายได้จากการส่งออกสินค้าเหล่านี้มากๆ เงินจะตกถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง

          ต่างจากสินค้าอุตสาหกรรม ที่คนไทยจะได้รับเพียงเงินเดือน จากนายจ้างต่างชาติ และค่าจ้างผลิตเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ส่วนรายได้มหาศาลจากการขายสินค้าทั่วโลก โดยมีไทยเป็นฐานผลิต ถูกส่งกลับไปให้บริษัทแม่หมดเกลี้ยง!!


                                                                                 ฟันนี่เอส

                                                                                22 ธ.ค.54

                                                                    

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ไม่...เดินตามรอยเท้าพ่อ

 






            เคยได้ยินว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” หรือ “พ่อหลวง” ของปวงชนชาวไทย ทรงมีพระปรีชาสามารถในเรื่องน้ำมากที่สุดของประเทศไทย

            เพราะตั้งแต่เริ่มต้นครองราชย์ พระองค์ทรงอุทิศชีวิตในการศึกษา ค้นคว้า และแก้ปัญหาน้ำให้กับคนไทย โดยเฉพาะเกษตรกรในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ได้มีน้ำกินน้ำใช้ และน้ำทำพืชสวนไร่นา

            พระองค์ยังทรงวางแผนบริหารจัดการน้ำในประเทศไม่ให้เกิดภาวะแห้งแล้ง และน้ำท่วม โดยทรงมีพระราชดำริสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายน้ำล้น แก้มลิง หลายต่อหลายแห่ง รวมถึงขุดลอกขยายคลอง ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีน้ำกินน้ำใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ในช่วงหน้าแล้ง และไม่เกิดมหาอุทกภัยในช่วงหน้าน้ำเหมือนขณะนี้

            แม้ในปัจจุบัน ทั้งที่พระองค์ทรงมีพระอาการประชวร และมีพระชนมายุมากแล้ว ก็ยังไม่ทรงคลายความห่วงใยประเทศไทย และคนไทยที่จะต้องเผชิญกับปัญหาภัยธรรมชาติ

            แต่น่าเสียดาย ที่ฝ่ายบริหารของประเทศ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มองไม่เห็นอย่างที่พระองค์ท่านทรงเห็น และตามไม่ทันความคิดของพระองค์ท่าน
   หนำซ้ำยังเพิกเฉยกับกระแสพระราชดำรัสในการแก้ปัญหาน้ำ ที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2538 ซึ่งปีนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ

           พระราชดำรัสในครั้งนั้น สรุปความได้ว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น จะต้องมีการสร้างคันกั้นน้ำโดยปรับปรุงแนวถนนเดิม จัดให้มีพื้นที่สีเขียวเพื่อกันการขยายตัวของเมือง และเพื่อแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำ ขยายคูคลองเท่าที่มีอยู่ สร้างสถานที่เก็บน้ำตามจุดต่างๆ และขยายช่องทางรับน้ำที่ผ่านทางรถไฟ และทางหลวง โดยใช้ “แก้มลิง”

          โดยโครงการแก้มลิงที่พระองค์ตรัสถึงนั้น หมายถึง โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำระบายออกสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจะมีทั้งโครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย และโครงการแก้มลิงคลองสุนัขหอน

           แต่จนถึงปัจจุบัน กระแสพระราชดำรัสครั้งนั้น ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร แก้มลิงบางโครงการยังเป็นเพียงการศึกษาอยู่ในเศษกระดาษเท่านั้น สถานที่ที่จะก่อสร้างแก้มลิงบางแห่งก็ถูกชุมชนรุกล้ำ สร้างที่อยู่อาศัย ตึกรามบ้านช่อง ปิดกั้นทางเดินน้ำไปจนหมด

           จึงช่วยไม่ได้เลยที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดต่างๆ ของประเทศอย่างในปัจจุบัน จนสร้างความสูญเสียมหาศาลให้กับประชาชน และประเทศชาติ ที่สำคัญทำให้ชาวต่างชาติไม่มั่นใจประเทศไทย และไม่กล้าเข้ามาลงทุน เพราะเกรงปัญหานี้จะเกิดขึ้นซ้ำอีก ขณะที่คนไทย ก็ยังอกสั่นขวัญแขวน ไม่มั่นใจเหมือนกัน

            ”ฟันนี่เอส” อยากเตือนสติผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดน้ำ ให้น้อมรับกระแสพระราชดำรัสใส่เกล้า และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อย่ามัวแต่หลงเชื่อคำพูดนักการเมือง ที่ตลอดทั้งชีวิตแทบไม่เคยทำประโยชน์เพื่อแผ่นดินเลย นอกจากประโยชน์ตัวเอง... ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้


ฟันนี่เอส

                                                           8 ธ.ค.54

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คุมค่าซ่อมรถจมน้ำ





 
   หลังจากน้ำที่ท่วมขังลดลงแล้วในหลายพื้นที่ ภาพที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ อู่ซ่อมรถยนต์ แน่นขนัดไปด้วยรถยนต์ที่จมน้ำ รอคิวซ่อมกันอยู่

   สำหรับรถยนต์มีประกันชั้น 1 เจ้าของรถคลายความกังวลได้ เพราะบริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบให้สูงสุดเต็มทุนประกันที่ทำไว้ แต่สำหรับรายที่ทำประกันประเภท 2 และประเภท 3 ก็ต้องซ่อมเอง บริษัทประกันภัยจะคุ้มครองความเสียหายเฉพาะตามที่ได้ซื้อภัยไว้เท่านั้น

  แน่นอนว่า เจ้าของรถกลุ่มหลังนี้คงต้องปวดหัวกับค่าซ่อม ที่ไม่รู้ว่าจะบานปลายไปแค่ไหน และไม่รู้ว่า อู่ที่เข้าไปซ่อมจะไว้ใจได้เพียงใด และจะถูกเอาเปรียบโขกค่าซ่อมเกินจริงหรือไม่

  แต่หน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยโดยตรง อย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ จึงได้ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย และสมาคมสหมิตรอู่ซ่อมรถยนต์ กำหนดราคากลางค่าซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม

  เพื่อใช้เป็นราคาอ้างอิง หรือบรรทัดฐานในการซ่อมรถยนต์ ทำให้ผู้เอาประกันภัย และเจ้าของรถที่ถูกน้ำท่วมไม่ถูกเอาเปรียบ สามารถนำรถเข้าซ่อมได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาประเมินราคาให้ยุ่งยาก









   โดยราคากลางที่กำหนดนั้นแบ่งเป็น 4 ระดับคือ กรณีรถจมน้ำถึงพื้นและที่นั่ง ค่าซ่อมอยู่ที่ 8,000-10,000 บาท มีรายการซ่อม 15 รายการ เช่น ถอดพรมซักล้าง อบแห้ง เป็นต้น กรณีน้ำท่วมถึงเบาะ ค่าซ่อม 15,000-20,000 บาท เช่น ถ่ายน้ำมันเครื่องเกียร์เฟืองท้าย ถอดทำความสะอาดแผงประตู 4 บาน เป็นต้น

   กรณีน้ำท่วมถึงหน้าปัดเรือนไมล์ และคอนโซล ค่าซ่อม 20,000-30,000 บาท มีรายการซ่อม 39 รายการ เช่น ไล่น้ำจากเครื่องยนต์ ท่อไอดี เช็กระบบไฟ เป็นต้น และน้ำท่วมถึงหลังคาหรือมิดคัน ค่าซ่อม ค่าอะไหล่ไม่เกิน 70% ของราคารถ 

  เมื่อเห็นราคากลางนี้แล้ว น่าจะทำให้เจ้าของรถโล่งใจได้เปราะหนึ่ง เพราะเป็นราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ที่สำคัญ จะได้ไม่เสียรู้อู่ซ่อมรถ ที่ชอบโก่งราคาเป็นว่าเล่น และหากินกับความไม่รู้ของคน

  แต่ก็มีจุดอ่อนอยู่นิดตรงที่ ราคากลางนี้จะใช้เป็นราคาอ้างอิงได้เฉพาะกับอู่ที่เป็นสมาชิกของสมาคมสหมิตร ซึ่งเป็นอู่ในเครือบริษัทประกัน และอู่กลางทั่วประเทศ 500-600 แห่งเท่านั้น ส่วนอู่ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ก็แล้วแต่จะตกลงกันเองระหว่างเจ้าของรถ กับอู่ซ่อม

  “ฟันนี่เอส” แนะนำว่า อู่ไหนที่โขกราคาเกินจริง อย่าไปใช้บริการเป็นดีที่สุด แต่ถ้าถอนตัวไม่ทัน โดนฟันเงินไปแล้ว ก็ควรร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้เล่นงานเอาผิดกันไปเลย อย่าปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด!!

 นอกจากปัญหาราคาซ่อมรถแล้ว ยังแว่วๆ ว่า ศูนย์ซ่อมรถยนต์หลายบริษัท ไม่รับซ่อมรถยนต์จมน้ำ เพราะอ้างว่ามีความยุ่งยากมากในการซ่อม ต้องถอดระบบต่างๆ ออกมาทำใหม่ทั้งหมด ยิ่งระบบไฟฟ้า หรือสมองกลด้วยแล้วยิ่งยากใหญ่ ทำให้ใช้เวลาซ่อมนานนับเดือน และไม่อยากซ่อมให้

 ในภาวการณ์เช่นนี้ ศูนย์ฯน่าจะเห็นใจกันบ้าง เจ้าของรถใหม่ร้อยทั้งร้อยต้องการซ่อมที่ศูนย์ฯทั้งนั้น ดูๆ แล้ว ศูนย์ฯไม่เสียอะไรเลย นอกจากเวลานิดๆ หน่อยๆ เพราะเมื่อซ่อมเสร็จแล้ว ศูนย์ฯก็ไปเอาเงินกับบริษัทประกันภัยได้ ทำอย่างนี้ เท่ากับปิดทางซ่อมรถกันเลย น่าจะเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง

 กรณีนี้คงไม่มีหน่วยงานใดช่วยได้ นอกจากช่วยกันกระตุกจิตสำนึกให้คิดถึงคนเดือดร้อน และมีใจคิดช่วยเหลือกันบ้าง อย่าซ้ำเติมกันเลย ใครๆ ก็ว่าคนไทยไม่เคยทิ้งกันอยู่แล้ว จริงเปล่า?


                                                ฟันนี่เอส

                                      1 ธ.ค.54
                                                           (ขออภัยบทความย้อนหลัง เนื่องภาวะน้ำท่วม)

ค่าตั๋วเครื่องบินขึ้นแน่!





       

            ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 เป็นต้นไป สหภาพยุโรป (อียู) 27 ประเทศ รวมถึงประเทศนอกอียูอีก 3 ประเทศ ทั้งนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ จะเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ก๊าซเรือนกระจก) จากทุกสายการบิน รวมถึงจากประเทศไทย ที่บินเข้า-ออกน่านฟ้าทั้ง 30 ประเทศ

            เป็นการเริ่มต้นใช้ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (European Union Emission Trading System: EU ETS) ของอียูครั้งแรกในภาคอุตสาหกรรมการบิน และเป็นกลุ่มประเทศแรกในโลก






            เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และลดภาวะโลกร้อน!!

     เพราะองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คาดว่า อุตสาหกรรมการบินปล่อยก๊าซฯเพิ่มขึ้นถึง 75% ในปี 2548-63 และเพิ่มเป็น 300-600% ภายในปี 2593 แม้ไม่มากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น แต่อียูรับไม่ได้ และสวนทางกับเป้าหมายของโลกที่ไม่ต้องการให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส




            ดังนั้น อียูจึงได้วางแผน และดำเนินการตามแผนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่ปี 2552 ประกาศใช้ระเบียบ ETS และสมาชิกทุกประเทศต้องนำระเบียบนี้ไปปรับใช้เป็นกฎหมายภายใน จากนั้นในปี 2553 รวบรวมข้อมูลการบินของสายการบินต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดโควตาปล่อยก๊าซฯ 

              ส่วนปี 54 คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดโควตาการปล่อยก๊าซฯ โดยแต่ละสายการบินจะต้องซื้อใบอนุญาตปล่อยก๊าซฯ และปี 55 กฎหมาย EU ETS มีผลบังคับใช้กับทุกสายการ




     อียูหวังผลักดันระบบนี้ ให้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับโลกร้อนในระดับสากล และมีแผนจะให้ครอบคลุมภาคส่วนและสาขาอุตสาหกรรมมากขึ้น รวมถึงเพิ่มเติมชนิดของก๊าซเรือนกระจกที่ซื้อขายได้ อีกทั้งยังสนับสนุนการก่อตั้งตลาดคาร์บอนในประเทศอื่นๆ ด้วย

     แต่การดำเนินการอย่างแข็งขันนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก 3 ประเทศนอกอียู และออสเตรเลีย ที่จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมเร็วๆ นี้เช่นกัน ขณะที่สายการบินนานาประเทศ รุมคัดค้านหัวชนฝา และมีมาตรการตอบโต้ทางการค้าอย่างรุนแรง เช่น จีน ยกเลิกซื้อเครื่องบินแอร์บัส A380 จำนวน 10 ลำ

    เพราะจะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารที่จะต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้น รวมถึงทำให้ค่าขนส่งสินค้าทางอากาศเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกัน ยังทำให้สายการบินอื่นๆ ที่ไม่ได้มีฐานการบินในอียูเสียค่าธรรมเนียมสูงกว่า และเสียเปรียบด้านการแข่งขัน







   ที่คัดค้านหนักสุด เห็นจะเป็น องค์การการขนส่งทางอากาศของสหรัฐฯ ที่ฟ้องร้องอียูผ่านศาลของสหราชอาณาจักร ว่า EU ETS เป็นมาตรการฝ่ายเดียว ขัดกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และเชื่อว่า คำตัดสินน่าจะออกมาภายหลังจาก EU ETS มีผลบังคับใช้ไปแล้วแน่นอน

   ดังนั้น ระหว่างนี้ อียูยืนยันเดินหน้าเก็บค่าธรรมเนียมต่อไป ไม่สนว่าใครคัดค้าน หรือแม้แต่สายการบินของสหรัฐฯเอง ก็ยังเตรียมความพร้อมและปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้น จะเสียค่าใช้จ่ายสูงยิ่งขึ้นได้ ส่วนสายการบินของไทย จำเป็นต้องเตรียมความพร้อม และปฏิบัติตามเช่นกัน          

  แต่กรรมหนักจะตกอยู่ที่ผู้บริโภคนี่ละ ถึงคราวต้องควักกระเป๋า
จ่ายค่าตั๋วเครื่องบินเพิ่มกันแล้ว


 ฟันนี่เอส 


15 ธ.ค.54


  ผู้ที่สนใจ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเรื่องนี้ได้ในเซ็บไซต์ www.thaieurope.net

วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รัฐไม่จริงใจช่วยประชาชน






       
  
         เห็นหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯทำความสะอาดครั้งใหญ่ บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์ภายหลังน้ำลดแล้วก็อดดีใจด้วยไม่ได้ เพราะได้กลับเข้าไปอยู่ในบ้านได้เหมือนเดิมแล้ว หลังจากต้องอพยพเหมือนคนจรไปเรื่อยๆ  
   
         แต่อีกหลายพื้นที่ในเขตปริมณฑล อย่างปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม น้ำยังไม่มีทีท่าลดลงเลย หนำซ้ำบางพื้นที่กลับเพิ่มระดับขึ้นด้วย เพราะกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ว่าอย่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ปิดประตูระบายน้ำหลายแห่ง และวางแนวกระสอบทรายกั้นน้ำจากนนทบุรี และปทุมธานี ที่จะไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อทำให้กรุงเทพฯน้ำแห้งสนิท   
   
         คงลืมนึกถึงคนในจังหวัดติดกัน ที่เมื่อกั้นน้ำแล้ว น้ำไม่มีทางไหล ก็ต้องขังเน่าอยู่อย่างนั้น รอวันให้ระเหยขึ้นฟ้าไปเองอย่างไร้ความหวัง ทำราวกับว่า มีชาวกรุงเทพฯเป็นคนไทยอยู่เมืองเดียวเท่านั้น ส่วนคนจังหวัดอื่นไม่ใช่คนไทย จึงไม่มีใครช่วยเหลือเหลียวแล
   
         ยิ่งรัฐบาลด้วยแล้ว ยิ่งทำเหมือนไม่มีตัวตน เพราะแทบไม่ให้การช่วยเหลือใดๆ แก่ประชาชนเลย ยกเว้นการให้เงินชดเชยครอบครัวละ 5,000 บาทเท่านั้น ซึ่งแทบไม่มีค่าอันใด เมื่อเทียบกับความเสียหายของแต่ละบ้าน ที่น้ำท่วมถึงอก ถึงเอว หรือมิดหัวนานนับเดือน
   
         เช่นเดียวกับเกษตรกร ที่รัฐบาลช่วยเหลือแบบขอไปที เพราะเงินชดเชยไร่ละพันกว่าบาทก็เทียบไม่ได้กับความเสียหายของไร่นาที่จมน้ำนานหลายเดือน จนผลผลิตเสียหายหมด ขายทำเงินไม่ได้เลย
   




         ฟันนี่เอสผิดหวังกับการช่วยเหลือเพียงน้อยนิดของรัฐบาล เมื่อเทียบกับความกระตือรือร้นของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่พยายามทุกวิถีทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทั้งคนไทย และต่างประเทศ ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จมน้ำ
   
        ทั้งการกู้โรงงานให้กลับมาเดินเครื่องผลิตได้เร็วที่สุด การประสานธนาคารพาณิชย์ให้ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ และเครื่องจักร เพื่อฟื้นฟูโรงงาน ฯลฯ
  
        ก็เข้าใจได้ว่า โรงงานเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งมูลค่าจากการลงทุนโดยตรง และมูลค่าจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การขายสินค้าที่ผลิตได้ การจ้างงาน เป็นต้น หากกลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้ง จะเกิดเม็ดเงินมากมายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามมา
  
        จึงเป็นธรรมดาที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมากกว่าบ้านเรือนประชาชน และเลือกสวนไร่นา ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ถึงเศษเสี้ยวของมูลค่าในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อหวังให้ต่างชาติไม่คิดถอนสมอทิ้งไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน 
  




         แต่ ฟันนี่เอสอดไม่ได้ที่จะเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับประชาชน และเกษตรกรที่ถูกน้ำท่วม เพราะคนเหล่านี้ไม่มีความผิดอะไรเลย แต่ต้องกลายเป็นผู้รับเคราะห์จากการกระทำของนักการเมืองตกยุค และข้าราชการในอุ้งมือ ที่บริหารจัดการน้ำผิดพลาด
  
         ที่สำคัญกลุ่มคนเหล่านี้ ส่วนใหญ่แทบไม่มีปัญญาฟื้นฟูเยียวยาตนเองด้วยซ้ำ ดังนั้น รัฐบาลน่าจะหาทางช่วยเหลือด้วยวิธีการอื่นๆ อีก เช่น เจรจากับธนาคารพาณิชย์ยืดเวลาพักชำระหนี้ออกไปอีก 6 เดือนอย่างไม่คิดดอกเบี้ย (ตอนนี้แบงก์แต่ละแห่งยืดเวลาพักชำระหนี้ที่อยู่อาศัยแบบคิดดอกเบี้ย) ปล่อยกู้แบบดอกเบี้ยต่ำสุดๆ เพื่อเอาเงินไปลงทุนทำกิน หรือรัฐช่วยเหลือให้เครื่องมือทำมาหากิน ฯลฯ
 
        เพียงแค่รัฐบาลแสดงความจริงใจช่วยเหลือให้มากกว่าที่ทำอยู่ ก็น่าจะได้ใจประชาชนกลับคืนมาบ้าง ดีกว่าปล่อยให้ฐานเสียงหายไป เพราะคนที่เคยรักเคยชอบกลับเกลียดชังหลังจากเดือดร้อนแล้วไม่มีใครเห็นหัว
   
                   
ฟันนี่เอส

  24 พ.ย. 54
(ขออภัยบทความย้อนหลัง เนื่องจากสภาวะน้ำท่วม)

วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จับตารัฐปราบทุจริตจำนำข้าว







            รัฐบาลเพิ่งประกาศเริ่มโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปี 54/55 ได้เพียงเดือนกว่า ก็เกิดข่าวฉาวขึ้นแล้ว ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมายของสังคมเล้ย เพราะมั่นใจอยู่แล้วว่า จะมีทุจริตคอรัปชันเกิดขึ้นแน่นอน แม้รัฐบาลจะโก่งคอการันตีไม่มีทุจริต 100% เพียงแต่รอเวลาให้เป็นข่าวเท่านั้น

            โดยล่าสุด เจ้าของคลังสินค้า/โกดัง ที่สมัครเข้าร่วมเป็นโกดังกลาง รับฝากเก็บข้าวรัฐ ที่ได้มาจากการรับจำนำของเกษตรกร ได้เรียกร้องให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ตรวจสอบพฤติกรรมเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) โดยด่วน

            เพราะสุดทนกับพฤติกรรมเรียกรับเงินใต้โต๊ะกระสอบละ 2 บาท แลกกับการได้รับคัดเลือกให้ได้เป็นโกดังกลางฝากเก็บข้าวในโครงการฯ หากรายใดไม่ยอมจ่าย ก็จะชวดงานนี้ไป

            คิดกันเล่นๆ ว่า ถ้าเจ้าของโกดังแต่ละรายมีพื้นที่เก็บข้าวได้ 3,000 ตัน หรือ 30,000 กระสอบ ต้องจ่ายใต้โต๊ะถึง 60,000 บาท แต่เจ้าของโกดังทั่วประเทศไม่ได้มี 1-2 ราย แต่มีจำนวนมาก และบางรายมีศักยภาพเก็บข้าวได้เป็นหมื่นตัน ทำให้หลับตาเห็นเลยว่า จะมีเงินไหลเข้าสู่กระเป๋าเจ้าหน้าที่รัฐได้เป็นกอบเป็นกำ

            เพราะ “ฟันนี่เอส” มั่นใจว่า มีเจ้าของโกดังจำนวนมาก ที่แม้จะไม่พอใจกับการถูกขูดรีด แต่ก็พร้อมจะจ่ายเงิน เพื่อให้ได้งาน และได้ค่าฝากเก็บข้าวจากรัฐตันละ 20 บาทต่อเดือน ถ้าเก็บข้าวรัฐ 3,000 ตัน ก็จะได้เงินเฉยๆ เดือนละ 60,000 บาท ถ้า 5,000 ตัน จะได้เงินถึงเดือนละ 100,000 บาท

            นี่ยังไม่ได้พูดถึงการเรียกเงินใต้โต๊ะจากขั้นตอนอื่นๆ อีก เช่น การเรียกเงินจากบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) เพื่อให้ได้รับการคัดเลือกเข้าตรวจสอบคุณภาพข้าวในโครงการฯ หรือการเรียกใต้โต๊ะของเจ้าหน้าที่รัฐส่วนอื่นๆ ที่เก็บจากผู้ส่งออก แลกกับการเป็นผู้ชนะการประมูลซื้อข้าวในสต๊อกรัฐ





            หรือกรณีที่ภาคเอกชนเรียกเก็บจากภาคเอกชนด้วยกันเอง เช่น เซอร์เวเยอร์เรียกเงินจากเจ้าของโกดัง หรือโรงสี เพื่อให้ตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพตรงกับก่อนรับฝากเก็บ หลังจากโกดังนำข้าวรัฐออกไปขายก่อน หรือโรงสีภาคกลางบางรายเตรียมจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐ แลกกับการอนุมัติให้สามารถข้ามเขตเข้าไปรับจำนำข้าวจากเกษตรกรภาคอีสานได้ หนำซ้ำยังเตรียมนำเอาข้าวราคาถูก คุณภาพต่ำจากภาคกลาง เช่น ข้าวเจ้า ข้าวหอมปทุมธานี มาปลอมปนกับข้าวหอมมะลิฟันกำไรส่วนต่างอีก เป็นต้น

    สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้พื้นฐานที่คนเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำรู้กันดี แต่ไม่รู้ว่า ตัวรัฐบาลเอง จะรู้ทันล่ห์เหลี่ยมกลุ่มคนเหล่านี้ และปิดช่องได้หรือไม่

            แต่ “ฟันนี่เอส” ขอสบประมาทตรงนี้เลยว่า รัฐบาลไม่สามารถปราบทุจริตได้แน่นอน!! เพราะคนที่เคยทุจริต ต้องอดอยากปากแห้งมานาน หลังรัฐบาลก่อนใช้โครงการประกันรายได้เกษตรกรแทน แต่เมื่อรับจำนำมา ต่างไชโยโห่ร้อง และเตรียมพร้อมเข้าสู่เส้นทางผลประโยชน์ หาช่องทางกอบโกยกันแล้ว

            ถ้ารัฐบาลอยากกู้หน้าคืน หลังแก้ปัญหาน้ำท่วมล้มเหลวไม่เป็นท่า ก็ควรปราบทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ที่ได้ชื่อว่าเป็น Classic Case ของประเทศให้ได้ ก็จะน่าเรียกความศรัทธาของประชาชนกลับมาได้บ้าง...บางส่วน!!

                                
                                      ฟันนี่เอส

                                     17 พ.ย. 54

                                                                (ขออภัยบทความย้อนหลัง เนื่องจากภาวะน้ำท่วม)

ชะตากรรมข้าวไทย!









            ท่านผู้อ่านที่รักทราบหรือไม่รู้ว่า ข้าวชนิดใดอร่อยที่สุดในโลก?

    ถ้าเป็นคนไทยคงต้องบอก “ข้าวหอมมะลิไทย” ที่มีกลิ่นหอมเหมือนใบเตย เวลารับประทานจะรู้สึกได้ถึงความเหนียว นุ่ม อร่อย จึงเป็นข้าวที่ครองใจคนไทยทั้งประเทศ รวมถึงคนชาติอื่นๆ ทั่วโลก

            แต่ “ฟันนี่เอส” ไม่แน่ใจว่า รสนิยมคนทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หลังจากที่เมื่อกลางเดือนต.ค.ที่ผ่านมา Rice Trader องค์การที่ปรึกษาข้าวระดับโลก ผู้จัดงานประชุมข้าวโลก และงานประกวดสุดยอดข้าวครั้งที่ 3 ที่เมืองโฮจิมินห์ ซิตี้ ประเทศเวียดนาม





   ได้ประกาศให้ข้าว “Pearl Paw San” ของพม่า เป็นข้าวที่มีคุณภาพดี และอร่อยที่สุดในโลก ตัดหน้าข้าวหอมมะลิไทย ที่เคยครองตำแหน่งนี้มาแล้ว 2 ปีซ้อน

   เพราะเมื่อหุงแล้วจะขึ้นหม้อ แม้จะมีความยาวเมล็ดเพียง 5-5.5 มิลลิเมตร แต่ขยายตัวได้มากกว่าเดิม 3-4 เท่า ทำให้มีความนุ่มแน่น และสามารถรักษากลิ่นหอมเฉพาะไว้ได้

   “ฟันนี่เอส” หวั่นใจว่า เมื่อพม่าเพาะปลูกมากขึ้น และส่งออกเจาะฐานลูกค้าข้าวหอมมะลิ หรือข้าวขาวไทยมากขึ้นแล้ว ก็อาจแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยได้มาก แม้จะไม่ใช่วันนี้ พรุ่งนี้ แต่ 2-3 ปีนับจากนี้ คงกลายเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่น่ากลัวของไทย ต่อจากเวียดนาม อินเดีย และจีนแน่นอน





   ไม่เพียงแค่นั้น ไทยยังมีคู่แข่งข้าวหอมมะลิที่น่ากลัวอย่างสหรัฐฯอีก เพราะเมื่อ 3 ปีที่แล้วได้ทำตลาดข้าวพันธุ์ใหม่ ที่พัฒนาสายพันธุ์ข้าวจากจีน และข้าวรัฐอาร์คันซอส์นาน 12 ปี เพื่อแข่งกับข้าวหอมมะลิไทย จนได้เป็นข้าวแจซแมน (Jazzman Rice) วางขายทั่วสหรัฐฯ และส่งออกไปฮ่องกง ลูกค้าสำคัญข้าวหอมมะลิไทย

  และล่าสุดได้มีการพัฒนาข้าวแจซแมนให้ดียิ่งขึ้นเป็น “ข้าวแจซแมน 2” มีคุณสมบัติใกล้เคียงข้าวหอมมะลิมากสุด เพราะมีกลิ่นหอม และความเหนียวนุ่มมากขึ้น ขณะนี้มีการขายเมล็ดพันธุ์ให้ชาวนาสหรัฐฯปลูกมากขึ้นแล้ว จึงเดาได้เลยว่า ข้าวแจซแมน 2 จะแย่งตลาดข้าวหอมมะลิไทยได้แน่นอน

  นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมอาหารเวียดนาม ได้ประกาศว่า สามารถครองตลาดข้าวในจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดข้าวสำคัญของไทยได้แล้ว เพราะราคาที่ต่ำกว่าข้าวไทยมาก อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามจูงใจให้ชาวนาปลูกข้าวหอม คุณภาพดีมากขึ้น เพื่อแข่งกับข้าวหอมมะลิ

  เหล่านี้คือวิบากกรรมที่ข้าวไทยจะต้องเผชิญ ซึ่งคงทำให้เห็นอนาคตข้าวไทยในตลาดโลกได้แล้วว่าจะเป็นอย่างไร รัฐบาลและผู้ส่งออกยังจะดีใจกับการเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 เฉลี่ยปีละ 9-10 ล้านตันอีกนานแค่ไหน เพราะคู่แข่งหายใจลดต้นคออยู่





  จึงเป็นหน้าที่หนักของรัฐบาลที่จะช่วยชาวนา และผู้ส่งออกถีบตัวหนีคู่แข่ง “ฟันนี่เอส” คงไม่ต้องชี้แจงว่าต้องทำอะไร เพราะรู้อยู่แล้ว แต่ไม่เคยทำ ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณภาพดีขึ้น มีคุณสมบัติพิเศษกว่าข้าวในตลาด เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เป็นต้น

    ถ้ารัฐบาลยังนิ่งเฉย มัวแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ ไม่วางแผนพัฒนาระยะยาว ข้าวไทยคงถึงจุดจบเข้าสักวัน!


ฟันนี่เอส

10 พ.ย. 54

(ขออภัยบทความย้อนหลัง เนื่องมาจากภาวะน้ำท่วม)

สันดานคนไทย!








            ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องคนไทยทุกคน (รวมถึงตัวเอง) ที่บ้านยังจมอยู่ใต้บาดาล แม้จะผ่านไปหลายเดือนแล้ว แต่รัฐบาล (ไร้สมอง) ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหามหาอุทกภัยครั้งนี้ได้

            ยิ่งนานวัน ปัญหาก็ยิ่งรุนแรงขึ้น จนเรียกได้ว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงกลียุคแล้ว เพราะไม่เพียงแต่ประชาชนที่ถูกน้ำท่วมบ้านเท่านั้นที่ลำบากย่ำแย่ อกไหม้ไส้ขม เนื่องจากไม่มีที่อยู่ ครอบครัวแตกสานซ่านเซ็นไปคนละทิศทาง ไร้อาชีพ ไร้รายได้ ไร้อาหารการกิน

            หนำซ้ำเมื่ออพยพออกจากบ้านแล้วไปหาที่อยู่ใหม่ อย่างคอนโด, อพาร์ท เมนท์ หรือบ้านเช่า ก็ถูกโก่งราคาน่าดู อย่างคอนโดเคยให้เช่าคืนละ 500 บาท เหมาจ่ายเดือนละ 3,000 บาท ขึ้นทันทีเป็นเดือนละ 7,000 บาท ก็ต้องจำใจจ่าย ถ้าไม่จ่ายก็ไม่มีที่อยู่

    ส่วนบางคนอยากกลับเข้าไปดูบ้าน เพราะกลัวถูกขโมยงัดแงะ พอจะหาเรือรับจ้าง ก็ถูกโก่งราคาเหมาจ่ายเที่ยวละเป็นพันบาทในระยะทางไม่ไกลนัก  

   นี่ล่ะสันดานคนไทย มีความเห็นแก่ตัวสูง ชอบซ้ำเติมคนอื่น และไม่เคยเห็นใจคนตกทุกข์ได้ยาก!!

   ส่วนประชาชนที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม ได้รับผลกระทบแล้ว เพราะหาซื้อข้าวของจะกินจะใช้แทบไม่ได้ ไม่ว่าจะกี่ร้านค้า กี่ห้างสรรพสินค้า ข้าวของจำเป็นถูกแย่งกันซื้อไปกักตุนไว้จนเกลี้ยง

  จากการสอบถามสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ความว่า สินค้าจำเป็น ทั้งอาหารแห้ง อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์นม สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผ้าอนามัย ฯลฯ หายไปจากตลาดมากถึง 40% ของกำลังการผลิต

  สาเหตุจากโรงงานผลิตส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จมนำไปแล้ว ทำให้โรงงานไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้อีกต่อไป หรือบางแห่งยังไม่จมน้ำก็ไม่ผลิตแล้ว ถอดปลั๊กเครื่องจักรออก เตรียมตั้งรับกับน้ำละลอกใหญ่ที่กำลังจะมาถึงในอีกชั่วอึดใจ

  ขณะที่สินค้าบางส่วนที่ผลิตแล้ว ยังติดอยู่ในศูนย์กระจายสินค้าที่ถูกน้ำท่วม เช่น อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี หรือจ.ปทุมธานี ทำให้ขนย้ายออกมาไม่ได้ ซึ่งมีมากถึง 1,200 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือใช้ได้นาน 1-2 เดือนในยามปกติ และอีกบางส่วนที่ผลิตอยู่ในจังหวัดต่างๆ ยังไม่สามารถขนเข้ามายังศูนย์กระจายสินค้าได้ จึงเกิดปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก

  รัฐบาลถึงขั้นต้องอนุมัติให้นำเข้าสินค้าจำเป็นจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเร่งด่วน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน คาดว่าต้นสัปดาห์หน้า สินค้านำเข้าเหล่านี้จะถึงมือคนไทยแน่นอน

  ทั้งที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอาหาร ป้อนผู้คนในอาเซียน และมีการนำเข้าสินค้าเหล่านี้น้อยมาก แต่ ณ วันนี้ ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย มันยากเกินกว่ามันสมองของคนที่เป็นรัฐบาลจะหาทางแก้ไขได้แล้ว มีแต่ปล่อยชาวบ้านจมน้ำตายไปตามๆ กัน

  ณ วันนี้ บอกตามตรงว่า อับอายกับความเป็นคนไทยของตัวเองจริงๆ ที่มีเพื่อนร่วมชาติไร้น้ำใจ และมีรัฐบาลไร้กึ๋นแบบนี้!!

ฟันนี่เอส

27 ต.ค. 54

(ขออภัยบทความย้อนหลัง เนื่องจากภาวะน้ำท่วม)