วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ข้าวไทยปลอดภัยไร้กังวล













              เป็นนักข่าวกระทรวงพาณิชย์มาหลายปี ได้รับรู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องข้าวมาก็มาก

 แต่ยังไม่เคยได้รับข้อมูลว่า ข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวสารบรรจุถุง มียาฆ่าเชื้อรา และแมลงในระดับที่เป็นอันตราย หรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้าย เช่น มะเร็ง อย่างที่เป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมาเลย

            เข้าใจว่า เรื่องข้าวไม่ปลอดภัย เป็นความพยายามสร้างข่าวโจมตีว่า ข้าวที่เก็บในสต๊อกรัฐบาลไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการรักษาคุณภาพให้ดี จนข้าวเน่าบ้าง มีมอด แมลง หรือหนูกินบ้าง

            เป็นความพยายามขยายผล ให้ประชาชนเห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนี้ นอกจากจะมีการโกงกินอย่างมโหฬาร ข้าวในสต๊อกขายไม่ออก รัฐขาดทุนมหาศาลแล้ว ยังต้องการให้เห็นอีกว่า การเก็บรักษาข้าวก็ห่วยสิ้นดี เพราะมีข้าวเน่าคาโกดังอยู่หลายแห่ง  






             ทั้งที่ในความเป็นจริง การเก็บรักษาข้าวในสต๊อก รัฐบาลเช่าโกดังกลาง หรือคลังสินค้ากลางของเอกชนเพื่อฝากเก็บข้าว มีการทำสัญญาอย่างชัดเจนรัดกุมว่า เจ้าของโกดัง หรือคลังสินค้านั้นต้องดำเนินการอย่างไรกับข้าวที่รัฐฝากเก็บ

            เช่น รักษาคุณภาพ ด้วยการรมยาฆ่ามอด แมลง 2 ครั้ง/เดือน มีผู้ตรวจสอบคุณภาพ (เซอร์เวเยอร์) มาตรวจคุณภาพเป็นประจำ หากข้าวในโกดัง เกิดเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น เน่า  มีเชื้อรา ชื้นจนจับตัวเป็นก้อน น้ำท่วม ไฟไหม้ ฯลฯ เจ้าของโกดังต้องรับผิดชอบ เพราะรัฐไม่ปล่อยให้ข้าวเสียหาย หรือเสื่อมคุณภาพจนขายไม่ได้แน่ (เว้นแต่เป็นข้าวเก่าเก็บหลายๆ ปี)






            ในเรื่องนี้ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลเดียวกันว่า ข้าวในสต๊อก จำเป็นต้องรมยา เพื่อรักษาคุณภาพ โดยใช้ยา "อลูมิเนียมฟอสไฟด์" ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ควบคุมนำเข้า และวิธีการใช้ ตามมาตรฐานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) คือ ต้องมีสารตกค้างไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อข้าวสาร 1 กิโลกรัม ยาชนิดนี้ จะไม่ตกค้าง เพราะจะระเหิดไปเองภายใน 5-7 วัน

            ขณะที่ผู้ส่งออก ก็ให้ข้อมูลตรงกันว่า จำเป็นต้องรมยา เพื่อขจัดมอด แมลง ถ้าไม่รมยา ระหว่างการขนส่งข้าวจากไทยไปประเทศผู้ซื้อ เกิดไข่มอด ไข่แมลงไปฟักเป็นตัวเข้า จะยิ่งเสียหายหนัก ผู้ซื้ออาจสั่งเผาทิ้งข้าวล็อตนั้นทันที และอาจห้ามการนำเข้าจากไทยได้

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามปั้นข่าวโจมตีขยายผลต่อเนื่องไปถึงข้าวสารบรรจุถุงว่าไม่ปลอดภัย ส่งผลให้ผู้ผลิตข้าวถุงหลายยี่ห้อ เปิดแถลงข่าวยืนยันข้าวของตนเองปลอดภัย ไร้กังวลต่อการบริโภค





 โดยให้เหตุผลว่า การรมยาเป็นมาตรฐานที่อุตสาหกรรมข้าวใช้กันทั่วโลก สารรมยาระเหยได้เองใน 7 วัน หลังจากนั้นจะเปิดผ้าคลุมกอง โดยใช้เวลาอีก 1 วันให้สารระเหยออกจนหมด และก่อนบรรจุถุงต้องปรับปรุงคุณภาพอีก ส่วนข้าวส่งออก การรมยาก็เป็นไปตามมาตรฐานเช่นกัน

ที่สำคัญ รัฐบาลไม่ได้ระบายสต๊อกข้าวมาหลายเดือนแล้ว ดังนั้น ข้าวสารถุงที่ขายในประเทศ เป็นข้าวที่ผู้ประกอบการข้าวถุงไปหาซื้อเองในท้องตลาด ไม่ใช่จากสต๊อกรัฐบาลอย่างแน่นอน!!

          เมื่อข้อมูลมีมาเช่นนี้แล้ว ก็อยู่ที่วิจารณญาณของผู้บริโภคเองว่าจะเชื่อหรือไม่ ขออย่างเดียว! อย่าหลงเชื่อเพียงเพราะนิยมชมชอบคนพูด ไม่ว่าคนนั้นจะพูดผิดอย่างไร ก็ยังตะแบงหลงเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง!



ฟันนี่เอส



                                                                       27 มิ.ย. 56

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รัฐบาลเจ๊งจำนำข้าว!










            ในที่สุด! รัฐบาลต้องแพ้ภัยนโยบาย ประชามหานิยมแบบสุดขั้วของตัวเอง เพราะโครงการรับจำนำข้าว ที่กำหนดราคารับจำนำสูงโต่ง นำตลาดหลายเท่าตัว และรับจำนำแบบไม่จำกัดปริมาณ เพียงเพื่อต้องการให้ชาวนามีรายได้เท่ากับแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาทนั้น

            ทำให้ความมั่นคงของรัฐบาลซวนเซ เพราะมีแต่ข่าวลบๆ เรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นกับโครงการนี้ไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะหลังจากพรรคฝ่ายค้านสาวไส้ออกมาแฉว่ารัฐบาลขาดทุนจากโครงการนี้ราว 260,000 ล้านบาท มีการทุจริตมโหฬาร มีข้าวเน่าโผล่มากมาย มีการเผาโกดังกลบทุจริตข้าวเน่า หรือสต๊อกลม

            อีกทั้งคนไทยยังได้เห็นรัฐบาลใช้เงินเกินตัว และไร้ประสิทธิภาพ เพราะใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวนาปีปี 54/55 นาปรังปี 55 และปี 55/56 ทั้ง 2 รอบไปแล้วราว 600,000 ล้านบาท แต่ได้คืนกลับมาเพียง 120,000 ล้านบาท แม้ยังมีข้าวในสต๊อกที่รอการขายอยู่อีกมาก แต่ไม่รู้จะได้เงินกลับคืนมาคุ้มทุนหรือไม่!













นอกจากนี้ ยังทำให้ข้าวในสต๊อกของรัฐบาลขายแทบไม่ได้ เพราะราคาขายสูงกว่าคู่แข่ง ขณะที่เอกชนก็ขายไม่ออก เพราะลูกค้าซื้อจากคู่แข่งกันหมด ทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในหลายประเทศ

ส่งผลให้รัฐบาลนั่งไม่ติด ต้องคิดหาทางแก้ปัญหา และสุดท้ายคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานได้ประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น

มีมติให้ลดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 56 ลงเหลือตันละ 12,000 บาท จาก 15,000 บาท ที่ความชื้น 15% มีผลตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้ และยังจำกัดวงเงินชาวนาในการนำข้าวมาจำนำไม่เกินรายละ 500,000 บาท มีผล 20 มิ.ย.56 ส่วนข้าวเปลือกนาปี 56/57จะพิจารณาราคาที่เหมาะสมอีกครั้ง

            สาเหตุที่ต้องลดราคาลง นายบุญทรง ยืนกระต่ายขาเดียวว่า รัฐบาลไม่ถังแตก ยังมีเงินที่จะทำโครงการอยู่ตามที่ครม.ได้อนุมัติไว้รวมราว 500,000 ล้านบาท แต่เพื่อรักษาวินัยทางการเงินการคลัง และทำให้กระทรวงการคลังทำงบประมาณสมดุลได้ภายในปี 2560

            ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดก็ตาม แต่สุดท้าย คนไทยได้เห็นแล้วว่า นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลนี้ เป็นนโยบายที่ผิดพลาด เพราะมีแต่ผลเสียมากมาย แม้จะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 0.5-1% ในปี 55 จากเงินที่ชาวนาใช้จ่ายและหมุนในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ

            ที่สำคัญ ไทยไม่ได้ปลูกข้าวได้ประเทศเดียวในโลก ดังนั้น การคาดการณ์ว่า ไทยจะฮุบปริมาณข้าวไว้ในมือจำนวนมาก เพื่อจะขายในตลาดโลกได้แบบมีรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำนั้น ถือว่าเป็นการคาดการณ์ที่ผิดถนัด!!

            เพราะปริมาณข้าวในโลกล้นเหลือ ทำให้อินเดีย และเวียดนาม แข่งกันลดราคาขาย จนข้าวไทยขายไม่ได้ ส่งผลต่อเนื่องมาถึงโครงการรับจำนำ เมื่อข้าวในสต๊อกมาก แต่ขายออกได้น้อย ก็มีเงินมาใช้คืนคลังได้น้อย รัฐบาลขาดทุน และเป็นภาระหนักอึ้งต่องบประมาณประเทศ







            แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลทำนโยบายผิดพลาด แต่การยอมรับความผิดพลาด และแก้ไขทำในสิ่งที่ถูกต้อง สังคมควรจะให้โอกาสอีกครั้ง เพราะยังมีชาวนาอีกมากที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ควรปิดช่องโหว่ไม่ให้ทุจริตซ้ำซาก จนสังคมรับไม่ได้เหมือนที่ผ่านมาด้วย

        เรื่องฉาวโฉ่เหม็นเน่าของการรับจำนำข้าวไม่ได้เกิดขึ้นกับรัฐบาลนี้เป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นกับทุกรัฐบาล อยู่ที่ว่าใครจะสาวไส้ใครได้เก่งกว่ากันก็เท่านั้น
           



                                                                                        ฟันนี่เอส



                                                                                                                       20 มิ.ย.56


                                          ...................................................................








ให้ความเห็นเรื่อง "รับจำนำข้าว"
รายการ เก็บข่าวมาเล่า FM 102
18 มิ.ย.2556





วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ยังไม่เสร็จนาจะฆ่าโคถึกซะแล้ว

     








            หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมไทยเฝ้ารอคอยคำตอบจาก “นายบุญทรง เตริยาภิรมย์” รมว.พาณิชย์ อย่างใจจดใจจ่อว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดนี้ ขาดทุนมากถึง 260,000 ล้านบาทจริงหรือไม่

ตามที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร กระทรวงการคลังได้ประเมินไว้ และพรรคประชาธิปัตย์หยิบขึ้นมาตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้ผลการทำงานของรัฐบาล และการใช้งบประมาณรับจำนำข้าวว่าคุ้มค่าเพียงไร

แต่หลังฟังการแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่อุตส่าห์ยกพลมานั่งแถลงข่าวกันเป็นแถว ตั้งแต่นายบุญทรง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง นายนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ฯลฯ  ก็ต้องผิดหวังอย่างรุนแรง






เพราะข้อมูลที่แต่ละคนหยิบขึ้นมาชี้แจง ไม่มีอะไรแปลกใหม่ไปจากที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว เช่น โครงการรับจำนำไม่ได้ขาดทุนมากถึง 260,000 ล้านบาท, โครงการรับจำนำข้าวทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยสนับสนุนให้จีดีพีไทยเติบโตตามเป้าหมาย หรือข้อมูลที่คณะอนุกรรมการฯทำมา ไม่รู้คิดอย่างไร และยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จึงยังเชื่อถือไม่ได้ ฯลฯ

แม้นักข่าว ช่วยกันรุกตั้งคำถามอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน แต่ก็ไม่สามารถทำให้ผู้ตอบคำถาม โดยเฉพาะนายบุญทรง และนายณัฐวุฒิ เคลียร์ชัดได้สักประเด็น มิหนำซ้ำ ในบางคำถาม ยังตอบแบบแถๆ เอาสีข้างเข้าถูเสียอีก

ยังดีที่การแถลงข่าวครั้งนี้ มีการถ่ายทอดสดโดย “เนชั่น ทีวี” จึงทำให้ประชาชนได้เห็นถึง “พฤติกรรม” ของคนที่เป็นรัฐมนตรีว่า มักทำอะไรลับลมคมใน และไม่โปร่งใสในสายตาประชาชน ผู้เสียภาษีให้รัฐบาลเอาไปถลุงเล่น และเข้าพกเข้าห่อตัวเอง แทนที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

มีการตั้งคำถามกันนานแล้วว่า ทำไมกระทรวงพาณิชย์ ไม่พูดความจริงว่า โครงการรับจำนำขาดทุนเท่าไร คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปหรือไม่ ข้าวที่ขายแบบจีทูจีขายให้ประเทศใดบ้าง ราคาเฉลี่ยเท่าไร เป็นต้น






เพื่อให้สังคมได้รู้ความจริงว่า การใช้เงินกว่า 600,000 ล้านบาทรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประชาชน และประเทศชาติเสียหายเท่าไรแล้ว นอกเหนือจากผลประโยชน์ที่ทำให้จีดีพีเติบโต ที่สำคัญคุ้มค่ามากพอที่รัฐบาลจะยังเดินหน้ารับจำนำราคาสูงๆ และไม่จำกัดปริมาณอีกหรือไม่

แต่ตราบใดที่ยังไร้คำตอบ ตำแหน่ง “รมว.พาณิชย์” สั่นคลอนแน่ เพราะตอนนี้กลายเป็นจุดอ่อน ที่ทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลเสียหาย และรัฐบาลพร้อมปลดทิ้งทุกเมื่อ เพื่อทำให้ภาพลักษณ์กลับมาดีขึ้น

น่าจับตาที่ชื่อของ “นายวราเทพ รัตนากร” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปรากฏเป็นชื่อแรกที่จะมาเป็น “รมว.พาณิชย์” ทุกครั้งที่มีข่าวโยกย้าย และครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้ยังไม่มีข่าวโยกย้าย แต่นายกรัฐมนตรี ไว้วางใจให้ นายวราเทพ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้าวเลย เป็นผู้ชี้แจงเรื่องข้าวต่อสาธารณะ เหมือนเป็นการ “ดิสเครดิต” นายบุญทรง อย่างเห็นได้ชัด

“นายบุญทรง” คงต้องได้แต่ทำไจ โทษใครไม่ได้ ต้องโทษตัวเอง ที่ปกป้องคนที่อยู่เบื้องหลัง โดยไม่คิดถึงชื่อเสียงตนเอง และวงศ์ตระกูลแม้แต่น้อย นี่ขนาดยังไม่เสร็จนา แต่คิดจะฆ่าโคถึกซะแล้ว


ฟันนี่เอส


                                                                       13 มิ.ย.56

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กุ้งไทยโคม่า!

    

                                                   



              

           ดูเหมือนว่าปีนี้จะเป็นอีกปีหนึ่งที่หนักหนาสาหัส สำหรับอุตสาหกรรมกุ้งของไทย เพราะเกิดโรคตายด่วน (EMS : Early Mortality Syndrome) ระบาดอย่างหนัก และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนถึงขณะนี้







           ทำให้กุ้งเลี้ยงตายก่อนวัยอันควร ผลผลิตลดลงมาก จนแทบไม่มีส่งออก และบริโภคในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณ และมูลค่าส่งออกกุ้งไทยลดฮวบ คาดว่า ปีนี้มูลค่าส่งออกกุ้งสดจะลดลงมากถึง 30%

           มิหนำซ้ำ เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (ITC : The U.S. International Trade Commission) ยังได้ประกาศผลการไต่สวนเบื้องต้นเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD : Countervailing Duty) สินค้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยอีก

           โดยได้ประกาศจัดเก็บภาษี CVD เบื้องต้นในสินค้าดังกล่าวของไทย ที่ส่งออกไปสหรัฐฯในอัตรา 2.09% ซึ่งยังไม่รวมภาษีอื่นๆ ที่จะต้องเสียให้กับสหรัฐฯอีก ทั้งภาษีนำเข้าในอัตราสูง และภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD : Anti-Dumping) ที่ถูกสหรัฐฯเรียกเก็บมาแล้วกว่า 5 ปี

              สาเหตุที่ ITC เปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการ CVD เพราะได้รับการร้องเรียนจากผู้เลี้ยงกุ้งในสหรัฐฯว่าหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลไทยมีการใช้มาตรการอุดหนุนสินค้ากุ้ง 13 ข้อกล่าวหา เพื่อให้กุ้งไทยมีต้นทุนการส่งออกต่ำ และได้เปรียบการแข่งขันเหนือกุ้งที่ผลิตได้ภายในสหรัฐฯ

   หลังจากนั้น ITC จึงได้เปิดการไต่สวน และพบว่า ทั้ง 13 ข้อกล่าวหา มีเพียง 3 ข้อกล่าวหาเท่านั้นมีเป็นความจริง ได้แก่ ผู้ส่งออกกุ้งไทยที่เสียภาษีส่งออก จะได้รับเงินคืนจากกรมสรรพากรในอัตรา 0.13%, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมกุ้งไทย ทำให้ต้นทุนอุตสาหกรรมกุ้งลดลง 2% และบีโอไอยังลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรให้กับอุตสาหกรรมกุ้งไทยด้วย

           แต่ไม่ได้มีเพียงกุ้งสดไทยเท่านั้น ที่ถูกเรียกเก็บภาษี CVD ยังมีจากประเทศคู่แข่งสำคัญอีก โดยมาเลเซีย ถูกเรียกเก็บสูงสุดที่ 62.74% อินเดีย 10.87% เวียดนาม 6.07% ขณะที่อินโดนีเซีย และเอกวาดอร์ ถูกไต่สวนเช่นกัน แต่ไม่พบมีการอุดหนุน จึงไม่ถูกเรียกเก็บภาษี CVDดำ) 

           อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้มาตรการ CVD กับกุ้งสดจากไทย ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ เพราะเป็นเพียงการประกาศเรียกเก็บภาษีในขั้นต้นเท่านั้น สหรัฐฯจะประกาศผลการไต่สวนขั้นสุดท้ายวันที่ 14 ส.ค.นี้ แต่ระหว่างวันที่ 10-14 มิ.ย.นี้ สหรัฐฯจะเปิดรับข้อมูล ข้อเท็จจริง จากประเทศที่ถูกใช้มาตรการขั้นต้นอีกครั้ง

           ดังนั้น กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกับผู้ส่งออกไทย ที่ถูกสหรัฐฯกำหนดให้ตอบแบบสอบถาม จะเร่งส่งข้อมูลต่างๆ ไปให้สหรัฐฯ ประกอบการพิจารณา

   โดยหากสามารถชี้แจงได้ว่า ไทยไม่ได้อุดหนุนจริง และการประกาศผลขั้นสุดท้าย สหรัฐฯเรียกเก็บภาษี CVD ต่ำกว่า 2% อุตสาหกรรมกุ้งไทยจะไม่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าวอีกเลย แต่หากการประกาศผลขั้นสุดท้าย ภาษี CVD กุ้งไทยเท่าเดิม หรือมีการเรียกเก็บเพิ่มขึ้น ผู้ส่งออกกุ้งไทยลำบากแน่นอน








  เพราะราคากุ้งไทยที่ส่งไปขายในตลาดสหรัฐฯจะสูงขึ้นมาก ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และสูญเสียตลาดได้ในอนาคต ทำให้คนในวงการอุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบเจ๊งไปตามๆ กันแน่นอน

 คงต้องฝากความหวังไว้ที่กรมการค้าต่างประเทศ และบริษัทที่ตอบแบบสอบถามสหรัฐฯซะแล้ว!!


                
   ฟันนี่เอส


                                            6 มิ.ย.56