วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กุ้งไทยโคม่า!

    

                                                   



              

           ดูเหมือนว่าปีนี้จะเป็นอีกปีหนึ่งที่หนักหนาสาหัส สำหรับอุตสาหกรรมกุ้งของไทย เพราะเกิดโรคตายด่วน (EMS : Early Mortality Syndrome) ระบาดอย่างหนัก และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนถึงขณะนี้







           ทำให้กุ้งเลี้ยงตายก่อนวัยอันควร ผลผลิตลดลงมาก จนแทบไม่มีส่งออก และบริโภคในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณ และมูลค่าส่งออกกุ้งไทยลดฮวบ คาดว่า ปีนี้มูลค่าส่งออกกุ้งสดจะลดลงมากถึง 30%

           มิหนำซ้ำ เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (ITC : The U.S. International Trade Commission) ยังได้ประกาศผลการไต่สวนเบื้องต้นเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD : Countervailing Duty) สินค้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยอีก

           โดยได้ประกาศจัดเก็บภาษี CVD เบื้องต้นในสินค้าดังกล่าวของไทย ที่ส่งออกไปสหรัฐฯในอัตรา 2.09% ซึ่งยังไม่รวมภาษีอื่นๆ ที่จะต้องเสียให้กับสหรัฐฯอีก ทั้งภาษีนำเข้าในอัตราสูง และภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD : Anti-Dumping) ที่ถูกสหรัฐฯเรียกเก็บมาแล้วกว่า 5 ปี

              สาเหตุที่ ITC เปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการ CVD เพราะได้รับการร้องเรียนจากผู้เลี้ยงกุ้งในสหรัฐฯว่าหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลไทยมีการใช้มาตรการอุดหนุนสินค้ากุ้ง 13 ข้อกล่าวหา เพื่อให้กุ้งไทยมีต้นทุนการส่งออกต่ำ และได้เปรียบการแข่งขันเหนือกุ้งที่ผลิตได้ภายในสหรัฐฯ

   หลังจากนั้น ITC จึงได้เปิดการไต่สวน และพบว่า ทั้ง 13 ข้อกล่าวหา มีเพียง 3 ข้อกล่าวหาเท่านั้นมีเป็นความจริง ได้แก่ ผู้ส่งออกกุ้งไทยที่เสียภาษีส่งออก จะได้รับเงินคืนจากกรมสรรพากรในอัตรา 0.13%, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมกุ้งไทย ทำให้ต้นทุนอุตสาหกรรมกุ้งลดลง 2% และบีโอไอยังลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรให้กับอุตสาหกรรมกุ้งไทยด้วย

           แต่ไม่ได้มีเพียงกุ้งสดไทยเท่านั้น ที่ถูกเรียกเก็บภาษี CVD ยังมีจากประเทศคู่แข่งสำคัญอีก โดยมาเลเซีย ถูกเรียกเก็บสูงสุดที่ 62.74% อินเดีย 10.87% เวียดนาม 6.07% ขณะที่อินโดนีเซีย และเอกวาดอร์ ถูกไต่สวนเช่นกัน แต่ไม่พบมีการอุดหนุน จึงไม่ถูกเรียกเก็บภาษี CVDดำ) 

           อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้มาตรการ CVD กับกุ้งสดจากไทย ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ เพราะเป็นเพียงการประกาศเรียกเก็บภาษีในขั้นต้นเท่านั้น สหรัฐฯจะประกาศผลการไต่สวนขั้นสุดท้ายวันที่ 14 ส.ค.นี้ แต่ระหว่างวันที่ 10-14 มิ.ย.นี้ สหรัฐฯจะเปิดรับข้อมูล ข้อเท็จจริง จากประเทศที่ถูกใช้มาตรการขั้นต้นอีกครั้ง

           ดังนั้น กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกับผู้ส่งออกไทย ที่ถูกสหรัฐฯกำหนดให้ตอบแบบสอบถาม จะเร่งส่งข้อมูลต่างๆ ไปให้สหรัฐฯ ประกอบการพิจารณา

   โดยหากสามารถชี้แจงได้ว่า ไทยไม่ได้อุดหนุนจริง และการประกาศผลขั้นสุดท้าย สหรัฐฯเรียกเก็บภาษี CVD ต่ำกว่า 2% อุตสาหกรรมกุ้งไทยจะไม่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าวอีกเลย แต่หากการประกาศผลขั้นสุดท้าย ภาษี CVD กุ้งไทยเท่าเดิม หรือมีการเรียกเก็บเพิ่มขึ้น ผู้ส่งออกกุ้งไทยลำบากแน่นอน








  เพราะราคากุ้งไทยที่ส่งไปขายในตลาดสหรัฐฯจะสูงขึ้นมาก ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และสูญเสียตลาดได้ในอนาคต ทำให้คนในวงการอุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบเจ๊งไปตามๆ กันแน่นอน

 คงต้องฝากความหวังไว้ที่กรมการค้าต่างประเทศ และบริษัทที่ตอบแบบสอบถามสหรัฐฯซะแล้ว!!


                
   ฟันนี่เอส


                                            6 มิ.ย.56

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น