วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประกันภัยพิบัติ!














            โลกเราทุกวันนี้ อยู่ยากขึ้นทุกที! ตั้งแต่เกิดสภาวะโลกร้อน โลกก็วิปริตผิดธรรมชาติ สภาพอากาศแปรปรวน เกิดภัยพิบัติมากมาย ซึ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และสร้างความเสียหายให้กับผู้คนเหลือคณานับ

            อย่างในบ้านเราตอนนี้เกิดน้ำท่วม แม้จะไม่ได้เป็นภัยพิบัติเหมือนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 54 แต่ก็มากผิดปกติ สร้างความเสียหายให้กับผู้คนในเกือบ 30 จังหวัดทั่วประเทศ ผู้คนเดือดร้อนนับล้านคน เพราะทั้งบ้านเรือน เลือกสวนไร่นา บริษัทห้างร้าน โกดังเก็บสินค้า รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมเสียหาย













            จังหวัดที่ถูกภัยน้ำท่วมเล่นงานทุกปี หนีไม่พ้นพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ส่งผลให้ทั้งประชาชน และนักธุรกิจในพื้นที่นี้ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเสี่ยง เร่งซื้อประกันภัยพิบัติ เพื่อรับความคุ้มครองความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภัยน้ำท่วม พายุ รวมไปถึงแผ่นดินไหว


            “คุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผลประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดขายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติวันที่ 28 มี.ค.55จนถึงวันที่ 20 ก.ย.56 มียอดจำหน่ายแล้ว 1.67  ล้านฉบับ เป็นกรมธรรม์ที่ยังมีความคุ้มครอง 1.4 ล้านฉบับ คิดเป็นทุนประกันภัยพิบัติ 87,600 ล้านบาท







            ส่วน 5 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี และกรุงเทพฯ ตื่นตัวซื้อประกันภัยพิบัติกันมาก โดยมีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ 21,757 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48.65% ของทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ ทั้งประเทศที่ 44,719 ล้านบาท


              โดยกรุงเทพฯ มีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯสูงสุดที่ 13,793 ล้านบาท รองลงมาคือ นนทบุรี 2,650 ล้านบาท ตามด้วยปทุมธานี 2,492 ล้านบาท พระนครศรีอยุธยา 1,949 ล้านบาท และนครปฐม 874 ล้านบาท

           สำหรับกรุงเทพฯ มีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ ในส่วนของผู้ทำประกันภัยทั้ง 3 ประเภทสูงที่สุดในบรรดา 5 จังหวัด ได้แก่ บ้านอยู่อาศัย 9,727 ล้านบาท ธุรกิจขนาดกลางและย่อม 1,796 ล้านบาท และอุตสาหกรรม 2,270 ล้านบาท

              ขณะที่นนทบุรี มีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ ประเภทบ้านอยู่อาศัยสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 2,217 ล้านบาท ปทุมธานี มีทุนประกันภัยต่อฯ ประเภทธุรกิจขนาดกลางและย่อมสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 356 ล้านบาท และอยุธยา มีทุนประกันภัยต่อฯ ประเภทอุตสาหกรรมสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 1,499 ล้านบาท







             คุณพยุงศักดิ์ ระบุต่อว่า การสร้างหลักประกันเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินเมื่อประสบภัยพิบัตินั้น นอกจากจะช่วยเหลือประชาชน และเจ้าของกิจการที่แล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทย และทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่ถอนสมอทิ้งไทยไปลงทุนประเทศอื่น

          ฟันนี่เอสเชื่อแน่ว่า ในอนาคต ประชาชน และนักธุรกิจ จะซื้อประกันภัยพิบัติเพิ่มขึ้น เพราะเมืองไทย เสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติใหญ่ๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะน้ำท่วม ที่นับจากนี้ปริมาณน้ำในโลกน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

              เพราะน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วมาก ปริมาณน้ำไม่ไปไหน วนเวียนอยู่ในโลก และไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ดังนั้น จังหวัดในพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำคงต้องหาซื้อเรือ ซื้อแพมาอยู่อาศัยแทนบ้านในไม่ช้านี้ หรือคงต้องซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติเพื่อรับความคุ้มครองความเสียหายกันแล้ว

              เว้นเสียแต่ว่า โครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาทของรัฐบาลสัมฤทธิ์ผล และป้องกันน้ำท่วมใหญ่ได้ชะงัดนัก!!!

                                                                                 
                                                                                                  ฟันนี่เอส

                                                               24
ต.ค.56

วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เป้าหมาย “เอเปก”

















         เมื่อวันที่ 4-5 ต.ค.ที่ผ่านมา นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปก (กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก)  ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

        ประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือ การบรรลุเป้าหมายโบกอร์ เพื่อเปิดเสรีการค้าการลงทุนในภูมิภาค ภายในปี 2563 โดยเน้นการเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียม ลดช่องว่างการพัฒนาของสมาชิก เช่น มาตรการภาษี มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (เอ็นทีเอ็ม) และการร่วมกันต่อต้านมาตรการกีดกันทางการค้าทุกรูปแบบ







         นอกจากนี้ เอเปก ยังผลักดัน การลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมของสมาชิก 54 รายการ ให้มีภาษีนำเข้าเหลือไม่เกิน 5% ภายในปี 58 เช่น หม้อไอน้ำชีวมวล กังหันก๊าซ กังหันลม เตาเผาขยะ เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องจักรสำหรับทำอากาศหรือก๊าซให้เป็นของเหลว เครื่องจักรกลที่ใช้สำหรับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขับด้วยกำลังลม เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ เป็นต้น

         ความพยายามในการลดภาษีสิ่งแวดล้อมนี้ เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า เอเปกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ มีความตั้งใจจริงในการรักษาสิ่งแวดล้อม และต้องการช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

        รวมถึงยังจะทำให้การค้าขายสินค้าดังกล่าวระหว่างเอเปก สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น
ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากการนำเข้า เพราะสินค้าบางรายการไม่มีผลิตในประเทศ เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีสูง อีกทั้งคนไทยจะได้ใช้สินค้าเหล่านี้ในราคาถูกลง มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการจัดการน้ำเสีย การจัดการขยะ และการใช้พลังงานสะอาด







         ที่สำคัญ ยังจะทำให้สินค้าสิ่งแวดล้อมของไทยมีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับกระจกรับแสงอาทิตย์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า ส่วนประกอบของเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้กรองของเหลวหรือก๊าซ เป็นต้น

        ขณะเดียวกัน เอเปกยังเห็นพ้องกันที่จะสนับสนุนให้การประชุมรัฐมนตรี องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ครั้งที่ 9 ในเดือนธ.ค.นี้ ที่บาหลี ประสบผลสำเร็จ หลังจากที่ไม่สามารถเจรจาเพื่อปิดการเจรจาเปิดเสรีรอบโดฮา ได้มานานนับสิบปีแล้ว!!!

        โดยเอเปกได้ออก “Bali Package” หรือปฏิญญาร่วมของเอเปก เพื่อแสดงท่าทีว่า ต้องการให้การประชุมรัฐมนตรีดับบลิวทีโอ ครั้งที่ 9 นี้ แม้จะไม่สามารถเจรจาปิดรอบโดฮาได้

          แต่สมาชิกต้องยืดหยุ่นในการเจรจา และต้องมีข้อตกลงในบางเรื่องให้ได้ก่อน เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้าเกษตร และประเด็นผลประโยชน์ของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เพื่อให้การเจรจารอบโดฮาเข้าใกล้กับเป้าหมายการเจรจาให้ได้มากที่สุด

          โลกทุกวันนี้ ไม่มีใครอยู่ได้โดยลำพัง แต่ละประเทศจึงต้องรวมกลุ่มกันเพื่อพึ่งพาอาศัยกันและกัน ดังนั้น ข้อตกลงต่างๆ ที่แต่ละกลุ่มทำร่วมกัน ต้องพยายามทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย ไม่เช่นนั้น การรวมกลุ่มกันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย!!)

                                                             

                                                                          ฟันนี่เอส


                                               17 ต.ค.56

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ผู้ประสบภัยจากรถต้องอ่าน!


          





            ได้ยินข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เสนอให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พิจารณาเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ.2535

            กรณีการปรับเพิ่มเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ตามพ.ร.บ.คุ้มครองฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ กรณีได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดความเสียหายต่อร่างกาย เป็นเงินไม่เกิน 30,000 บาท/คน จากปัจจุบันที่ไม่เกิน 15,000 บาท/คน








             ที่สำคัญ ไม่มีการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยแต่อย่างใด โดยเจ้าของรถยนต์ ยังคงเสียเบี้ยประกันภัยที่ไม่เกิน 800 บาท/คัน/ปี และรถจักรยานยนต์ ประมาณ 300 บาท/คัน/ปีเท่านั้น

              โดยนายกิตติรัตน์ เห็นชอบแล้ว และจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในเร็วๆ นี้ (อาจเป็นสัปดาห์หน้า) จากนั้นจะออกเป็นกฎกระทรวงการคลัง และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

               การปรับเพิ่มเงินค่าเสียหายเบื้องต้นครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ประสบภัยจากรถอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประสบภัยที่เกิดจากรถที่ไม่ทำประกันภัย หรือถูกชนแล้วหนี เพราะจะได้รับความคุ้มครองที่มากขึ้น จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

             ที่มาของการปรับขึ้นเงินค่าเสียหายเบื้องต้นครั้งนี้ เพราะ คปภ. ต้องการคืนกำไรสู่สังคมให้มากขึ้น เพราะเบี้ยประกันภัยที่เก็บจากผู้ขับขี่ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองฯ เพื่อนำเข้าสู่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยนั้น มีจำนวนมาก จึงนำมาเพิ่มความคุ้มครองให้ผู้ประสบภัยจากรถ และบริษัทประกันภัย ก็ไม่ขัดข้องที่ยังคงเก็บเบี้ยเท่าเดิม

               อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองฯมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความคุ้มครองประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ปรับเพิ่มวงเงินคุ้มครองกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ เป็น 200,000 บาท/คน จากเดิมเพียง 100,000 บาท/คน

            นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ.ยังต้องการให้ผู้มีรายได้น้อย สามารถซื้อประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและร่างกายของตนเอง และเยียวยาครอบครัวได้ จึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ กรมธรรม์ประกันภัย 200”

            ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยแบบไมโครอินชัวรันส์ ที่มีเบี้ยประกันภัยต่ำเพียง 200 บาท ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพที่เสียชีวิตจากการเจ็บป่วย







               โดยกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตาหรือทุพพลภาพถาวรเนื่องจากอุบัติเหตุจะได้รับความคุ้มครอง 100,000 บาท กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตาหรือทุพพลภาพถาวร จากถูกฆาตกรรม ลอบทำร้าย ร่างกาย และ/หรือจากขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 50,000 บาท

           และกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 120 วันแรก) จะได้รับค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพ หรือค่าปลงศพ 10,000 บาท ขณะนี้ได้นำร่องเปิดขายแล้วที่ร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น และจะเปิดขายเต็มรูปแบบที่ห้างเทสโก้ โลตัส ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และที่ทำการไปรษณีย์

             ทุกวันนี้! ชีวิตเรามีความเสี่ยงมากขึ้น การซื้อประกันภัยไว้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หรือเป็นการแช่งชักตัวเองเหมือนคนสมัยก่อนคิด แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นไปเสียแล้ว ไม่เชื่อก็ลองดู!

                                                


                                                                                                 ฟันนี่เอส


                                                    10 ต.ค..56

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พิสูจน์ฝีมือปลัดพาณิชย์











            ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.56 เป็นต้นมา กระทรวงพาณิชย์ได้เปลี่ยน แม่บ้านหรือ ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ แทนนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนเก่าที่เกษียณอายุราชการแล้ว

            โดยนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ รับตำแหน่งใหม่แทน แต่ไม่ว่าปลัดกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นคนเก่าหรือคนใหม่ เชื่อแน่ว่า ยังต้องทำงานหนักเหมือนเดิม และอาจจะหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะยังมีงานที่ท้าทาย รอพิสูจน์ฝีมืออีกมาก

            ที่ต้องเร่งทำในทันที คือ การดูแลโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่ต้องการยกระดับรายได้เกษตรกรและให้อยู่ดีกินดีมากขึ้น

            แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอย่างที่รู้ๆ ว่า โครงการนี้มีปัญหาสารพัดอย่าง!

            ตั้งแต่วงเงินที่ ครม.อนุมัติให้เพียง 270,000 ล้านบาท ไม่รู้จะพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่พอจะเอาเงินจากไหนมาทำโครงการต่อ ถ้ากู้เพิ่มจะมีปัญญาใช้หนี้หรือไม่ แต่ถ้าไม่มีเงิน เกษตรกรจะเป็นอย่างไร และจะลุกฮือขึ้นประท้วงรัฐบาลหรือไม่

            แล้วยังจะมีปัญหาทุจริตที่โกงกินกันทุกขั้นตอนของการรับจำนำ โกงกินกันเป็นขบวนการ เงินรั่วไหลถึงมือชาวนาไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย มีปัญหาขายข้าวในสต๊อกไม่ได้ เอาเงินมาคืนคลังล่าช้า และปิดบัญชีไม่ลงอีก

            นอกจากนี้ ยังมีปัญหาภาคการส่งออกที่ต้องเร่งกู้วิกฤติ หลังจากมูลค่าส่งออกไทย 7 เดือนปีนี้ ขยายตัวแค่ 1% จากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ขยายตัว 7-7.5% จากปีก่อน (แต่กระทรวงพาณิชย์ลดเป้าหมายใหม่เหลือโต 4% เท่านั้น)

             ซึ่งการกู้วิกฤติการส่งออกนี้ ถือว่าเป็น งานหินเพราะการที่ส่งออกไทยลดลง เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ที่อยู่เหนือการควบคุมของไทย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงมาก จนกำลังซื้อลดลง

            ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอย่างไร คงไม่สามารถเพิ่มกำลังซื้อ หรืออารมณ์ต้องการซื้อของผู้บริโภคได้ จึงทำได้แค่ปรับกลยุทธ์ผลักดันการส่งออกเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าขยายตัวดี ผู้ขายแทบไม่ต้องทำอะไรเลยก็ขายสินค้าได้ถล่มทลาย








          ส่วนปัญหาค่าครองชีพ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่รอการแก้ไข เพราะปัจจุบัน ผู้บริโภคเหมือน รับกรรมอยู่ฝ่ายเดียว เพราะผู้ประกอบการผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาให้ผู้บริโภครับผิดชอบแต่เพียงลำพัง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องสร้างสมดุลระหว่างผู้ผลิต/เกษตรกร พ่อค้า และผู้บริโภคให้ได้ ไม่ใช่เทน้ำหนักให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป

            อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและทุกภาคส่วน ให้พร้อมรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ที่ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการและคนไทย ยังไม่พร้อมเอาเสียเลย และอาจทำให้ไทยเสียเปรียบสมาชิกอาเซียนอื่นได้








            และที่ลืมไม่ได้คือ การเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีต่างๆ ที่ไทยอยู่ระหว่างการเจรจาให้บรรลุผล โดยเฉพาะกับยุโรป โดยต้องทำอย่างละเอียด รอบคอบ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศอย่างสูงสุด รวมถึงต้องเตรียมมาตรการเชิงรุก ปกป้องการค้าไทยในเวทีโลก เพื่อให้ไทยไม่แพ้ใครด้วย

            ที่ร่ายมาทั้งหมดนี้ก็แทบจะรับมือไม่ไหวแล้ว แต่ก็ขอเอาใจช่วยให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ ทำงานได้สำเร็จลุล่วง เพราะเหล่านี้เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติทั้งสิ้น!!

                                                                                  
                                                                                          ฟันนี่เอส

                                                   3 ต.ค.56