วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

ลุ้น!ฟ้องเอ.พี.ฮอนด้า













            ช่วงนี้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ที่มีรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน กำลังลุ้นให้สำนักงานอัยการสูงสุด ทำเรื่องส่งฟ้องร้องต่อศาล กรณีบริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด

หลังจากที่คณะกรรมการฯ ได้มีมติยืนยันล่าสุดเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ เข้าข่ายมีพฤติกรรมแข่งขันทางการที่ไม่เป็นธรรม ตามพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าพ.ศ.2542 จริง และมีมติให้ทำเรื่องส่งไปให้สำนักงานอัยการสูงสุด ส่งฟ้องร้องต่อศาล









เพราะบริษัทฯ บังคับให้ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า ห้ามจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้ออื่นของบริษัทคู่แข่ง จนทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ ตามที่บริษัทคู่แข่ง ซึ่งได้แก่ บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัดบริษัท ไทยยามาฮ่า จำกัด และบริษัท คาวาซากิ ร้องเรียนมายังคณะกรรมการฯตั้งแต่ปี 2546 

แต่จนถึงขณะนี้ สำนักงานอัยการฯ ยังไม่พิจาณาส่งฟ้องศาล ที่สำคัญ คดีนี้จะหมดอายุความ 10 ปี ในเดือนเม.ย.56 หากยังนิ่งเฉย จนสิ้นอายุความ ก็จะไม่สามารถเอาผิดใดๆ กับบริษัทฯได้เลย

ทั้งๆ ที่ คณะกรรมการฯได้สอบสวนคดีนี้จนเสร็จสิ้น และส่งเรื่องไปให้สำนักงานอัยการฯ ทำสำนวนส่งฟ้องแล้วประมาณ 3-4 ครั้ง!!

แต่ทุกครั้ง สำนักงานอัยการฯมักมีเรื่องท้วงติง และส่งเรื่องกลับคืนมาให้คณะกรรมการฯ สอบสวนเพิ่มเติมในบางประเด็น โดยอ้างเพื่อความชัดเจนของสำนวน จนเวลาล่วงเลยมาเกือบครบ 10 ปีแล้ว ซึ่งหากยังไม่พิจารณาส่งฟ้องศาลอีก นอกจากจะเอาผิดกับบริษัทฯไม่ได้แล้ว

ยังจะทำให้พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ขาดความศักดิ์สิทธิ์ ส่วนคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จะหมดความน่าเชื่อถือ ที่สำคัญ ผู้ประกอบการ จะไม่เกรงกลัวกฎหมาย และอาจทำการค้าเอาเปรียบคู่แข่งได้อีก โดยเฉพาะธุรกิจต่างชาติ ที่จะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นภายหลังจากที่ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 แล้ว







          ดังนั้น กรมการค้าภายใน จึงต้องการเร่งรัดให้สำนักงานอัยการฯ พิจารณาโดยเร็ว ซึ่งหากตัดสินใจส่งฟ้อง และหากศาลพิจารณาแล้วว่า บริษัทฯมีความผิดจริง จะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


แต่เหนือสิ่งอื่นใด การส่งฟ้องศาลครั้งนี้ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า บริษัทฯจะถูกตัดสินให้รับโทษอย่างไร แต่อยู่ที่ว่า การดำเนินการดังกล่าวจะพิสูจน์ให้สังคม และผู้ประกอบการ ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ได้เห็นว่า ทางการไทยบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง

เพื่อปกป้องไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เอาเปรียบรายเล็ก จนเกิดความเสียหาย และทำธุรกิจต่อไม่ได้ ไม่ว่าผู้ประกอบการรายใด จะผิดหรือถูกกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ก็ต้องพิจารณากันไปตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ ที่คิดจะทำธุรกิจเอาเปรียบคู่แข่ง เกิดความเกรงกลัวกฎหมาย และไม่กล้าเอาเปรียบคู่แข่ง

แต่นอกจากคดีประวัติศาสตร์ เอ.พี.ฮอนด้า แล้ว อยากให้เร่งพิจารณากรณีร้องเรียนอื่นๆ ด้วย เพราะแต่ละคดีร้องเรียนมานายหลายปีแล้ว จนคู่แข่งที่ถูกเอาเปรียบบางรายต้องออกจากวงจรธุรกิจไปแล้ว

กฎหมายอุดช่องโหว่ไม่ให้รายใหญ่ทำธุรกิจเอาเปรียบรายเล็กอยู่แล้ว คนมีอำนาจใช้กฎหมายก็ต้องใช้อย่างจริงจัง อย่าทำเฉยไม่ยอมใช้อำนาจที่มีอยู่เอาผิดคนทำความผิด เพราะไม่เช่นนั้น กฎหมายของไทยก็จะเป็นแค่ เศษกระดาษที่ไม่มีใครเกรงกลัวเลย




                         ฟันนี่เอส


                                                                                          28 มี.ค.56

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

พ่อแม่รังแกฉัน











 
                                                           


โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล มีปัญหาได้ตลอดเวลาจริงๆ ไม่เคยเห็นราบรื่นเลยสักครั้ง ล่าสุด รัฐบาลกำลังจะเริ่มโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 55/56 รอบ 2 หรือโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 56 ราววันที่ 1 เม.ย.56

           
ที่ว่าเป็นเรื่องเพราะ รัฐบาลห้ามชาวนานำข้าวเปลือกอายุสั้น หรือใช้เวลาปลูกไม่เกิน 100 วัน มาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งกำหนดห้ามไว้ 18 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ 75 หรือบีพี 75, ซี-75, ราชินี, พวงทอง, พวงเงิน, พวงเงินพวงทอง, พวงแก้ว, ขาวปทุมสามพราน 1, พันธุ์ 039 หรือเจ้าพระยา หรือพีเอสแอลซี 2001-240, โพธิ์ทอง, ขาวคลองหลวง, มาเลเซีย, เตี้ยมาเล, ขาวมาเล, มาเลแดง, เบตง และอีแล็ปหรืออีเล็ป

           
เพราะข้าวดังกล่าวมีคุณภาพต่ำมาก และไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ส่งออกแทบไม่ได้ โดยหากนำข้าวเปลือกทั้ง 18 สายพันธุ์ มาสีแปรสภาพเป็นข้าวสาร จะได้เป็นข้าวสารขาว 35% หมายความว่า ในข้าว 100% มีข้าวเต็มเมล็ดอยู่ 65% ส่วนอีก 35% เป็นข้าวหักผสมอยู่

อีกทั้งการเพาะปลูกข้าวทั้ง 18 สายพันธุ์ ยังส่งผลเสียต่อการเพาะปลูกในระยะยาว เพราะหากเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในรอบต่อไป ผลผลิตจะลดลงเรื่อยๆ จนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และยังไม่ต้านทานโรค

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลจึงต้องห้ามนำมาจำนำ เพราะขืนรับจำนำไปก็ขายไม่ได้ และอาจทำให้รัฐบาลขาดทุนมาก มิหนำซ้ำยังอาจทำให้ชื่อเสียงข้าวไทยเสียหายได้ เนื่องจากไทยเน้นการส่งออกข้าวคุณภาพดี ราคาสูง












ส่งผลให้ชาวนาร้องเรียนผ่านสภาการเกษตร และสมาคมชาวนาไทย ขอให้รัฐบาลรับจำนำข้าวทั้ง 18 สายพันธุ์ไปก่อน เพราะปัจจุบัน ชาวนาไทยนิยมปลูกกันมาก เนื่องจากใช้เวลาสั้น ภายใน1 ปี ปลูกได้ถึง 4 รอบ ทำให้ชาวนาทำเงินจากการจำนำได้มากขึ้น โดยชาวนาภาคกลาง และภาคเหนือ ที่พื้นที่นาอยู่ในเขตชลประทาน ได้ลงทุนเพาะปลูก และรอการเก็บเกี่ยว เพื่อหวังนำมาเข้าร่วมโครงการรับจำนำแล้ว

หรือหากรัฐบาลจะห้ามจริง ก็ควรประกาศเตือนชาวนาล่วงหน้าก่อนลงมือ และลงทุนเพาะปลูก เพราะจะไม่ได้ไม่เจ็บตัว และเจ็บใจกับนโยบายของรัฐบาลเช่นนี้!!

เรื่องที่รัฐบาลจะช่วยเหลือเกษตรกร ไม่มีใครตำหนิ แต่การช่วยเหลือควรทำอย่างพอดี และมีเหตุผล ไม่ใช่ตะบี้ตะบันทำเพราะหวังเสียงสนับสนุนจากเกษตรกร แล้วสร้างความเสียหายด้านอื่นๆ ตามมาอีกมาก

ผู้รู้ต่างพูดตรงกันว่า การรับจำนำ รัฐบาลควรทำในระยะสั้น กำหนดปริมาณรับจำนำ และราคาต้องไม่สูงโต่งเกินจริง ที่สำคัญควรช่วยเหลือลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจะดีกว่า เพราะจะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรในระยะยาวมากกว่า แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยช่วยเหลือเกษตรกรอย่างที่ว่าเลยสักนิด

รู้อยู่ว่าพ่อแม่ทุกคนเป็นห่วงลูก แต่คงไม่มีใครคิดจะป้อนข้าวป้อนน้ำลูกไปจนวันตาย ถ้าพ่อแม่ตายก่อน ลูกคงเอาตัวไม่รอด พ่อแม่ที่ดีควรจะสอนให้ลูกมีวิชาใช้เลี้ยงตัวเอง จะได้ไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ตลอดไป

ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น รัฐบาลควรสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีพเกษตรกร ไม่ใช่ช่วยด้วยการทำโครงการรับจำนำทุกๆ ปี เพราะแม้จะทำให้เกษตรกรขายสินค้าได้ราคาสูง แต่ก็จะไม่รู้จักวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปลูกพืชแบบตามมีตามเกิด เพราะรู้อยู่ว่า ไม่ว่าจะอย่างไร รัฐบาลก็ต้องรับจำนำอยู่ดี

ในระยะยาว จะทำให้ภาคเกษตรไทยอ่อนแอลง ขณะที่ภาครัฐก็จะง่อยเปลี้ยเสียขา เพราะกู้หนี้ยืมสินมารับจำนำ และสร้างภาระงบประมาณในการเก็บรักษา สุดท้ายไม่มีใครได้ประโยชน์เลยสักนิด หยุดทำตัวเป็นพ่อแม่รังแกฉันจะดีกว่ามั้ย?



ฟันนี่เอส


                                                                       21 มี.ค. 56

วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

จุดเปลี่ยน “โชห่วย”



           








            ดูท่าว่า “นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” รมช.พาณิชย์ จะเอาจริงเอากับการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของร้าน “โชห่วย” หรือร้านขายของชำเล็กๆ ที่บริหารงานกันเองภายในครอบครัว และสืบทอดกิจการกันยันลูกหลาน
ให้กลายเป็นร้าน “โชว์สวย” เพื่อให้มีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพในการแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อ หรือห้างค้าปลีกสมัยใหม่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องล้มหายตายจากไปจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว

และที่สำคัญ ชื่อที่เปลี่ยนใหม่นี้ ยังเพิ่มความเป็นศิริมงคล ให้กับร้านค้า เพราะแม้ชื่อเดิมที่เป็นภาษาจีน จะไม่ได้แปลว่า “โชว์ความห่วย” แต่เมื่อฟังเสียงภาษาไทยแล้ว ตีความหมายไม่ต่างกันเลยสักนิด






ล่าสุด ได้แต่งตั้งคณะทำงาน โดยมี นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธาน ร่วมกับตัวแทนจากสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ตัวแทนจากสหกรณ์ ฯลฯ
เพื่อกำหนดรูปแบบการพัฒนา การสนับสนุนจากภาครัฐ และบริหารจัดการร้านโชห่วยเดิม ที่มีกว่า 400,000 รายทั่วประเทศในปัจจุบัน ให้มีความทันสมัย สะอาด จัดวางสินค้าให้เป็นหมวดหมู่ เลือกซื้อได้ง่าย มีระบบบัญชีที่ถูกต้อง โปร่งใส และบริหารงานแบบมืออาชีพ
            ซึ่งขณะนี้ ได้กำหนดรูปแบบ (โมเดล) ร้านโชว์สวยแล้ว 2 ขนาดตามพื้นที่ คือ พื้นที่ 5 ตารางเมตร (ตร.ม.) และพื้นที่ 10 ตร.ม. จากนั้นจะเข้าไปฝึกอบรมผู้ประกอบการให้มีการบริหารจัดการที่ดี ประสานผู้ผลิต และสหกรณ์ให้เข้ามามีส่วนช่วยในการสนับสนุนสินค้าราคาถูกให้
รวมถึงจะหารือกับสถาบันการเงินให้สนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการ และจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแคมเปญผลักดันให้ประชาชนยอมรับร้านโชว์สวยให้มากขึ้น
พร้อมกับยืนยันว่า การสนับสนุนในการปรับปรุงร้านโชว์สวยของภาครัฐนี้ ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการร้านถูกใจ เพราะร้านถูกใจ ที่ขายสินค้าราคาถูกนั้น กำลังจะหมดโครงการในสิ้นเดือนมี.ค.นี้แล้ว จากนั้นยังไม่รู้ว่า โครงการจะเดินหน้าต่อหรือไม่ เพราะรัฐบาลไม่ได้ให้งบสนับสนุนอีกแล้ว แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนในชุมชนต่างๆ อยากให้รัฐเดินหน้าโครง การต่อไป







 “ฟันนี่เอส” เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวของ รมช.ณัฐวุฒิ เพราะในปัจจุบัน แทบจะไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนร้านโชห่วย ให้ยืนหยัดลุกขึ้นต่อสู้กับธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยอย่างไม่หยุดยั้งนี้ได้เลย จนทำให้ร้านโชห่วย ที่แต่เดิมมีหลายแสนแห่งทั่วประเทศ ต้องปิดกิจการไปจำนวนมาก
แม้กระทรวงพาณิชย์มีความพยายามมาหลายปีในการออกพ.ร.บ.ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เพื่อดูแลการขยายสาขาของห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่สัญชาตินอก ไม่ให้เข้ามากินรวบกิจการค้าปลีกค้าส่งในไทย แต่จนแล้วจนรอดกฎหมายดังกล่าวก็ “แท้ง” อย่างน่าเสียดายหลายครั้งหลายคราว
เพราะมีแรงล้มคว่ำกฎหมายจาก “คนไทยหัวใจนอก” เพียงไม่กี่หยิบมือ ที่ไม่ต้องการให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ เพราะอาจทำให้แหล่ง “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของคนเหล่านั้นต้องลดน้อยถอยลงไป
ตอนนี้ ขออย่างเดียว ให้โครงการเดินหน้าอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นม้าตีนต้น พอจุดพลุติดแล้ว อีกเดี๋ยวคนลืมก็เลิกทำ ถ้าทำได้จริง รัฐบาลคงได้เสียงเชียร์จากโชห่วยอีกมากโข อีกอย่าง กระทรวงพาณิชย์ยุคนี้มีแต่เรื่องฉาว มีเรื่องดีๆ บ้างคงจะดีไม่น้อย



                                                       ฟันนี่เอส


                                                                     14 มี.ค.56