วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

จีน-ไทยพี่น้องกัน


       







           เคยไปทำข่าวที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน  ตื่นเต้นมาก ที่จะได้เห็นแผ่นดินจีน แผ่นดินที่มีอารยธรรม และวัฒนธรรมหยั่งรากลึกมานานหลายพันปี


            ทันทีที่เดินออกจากงวงช้าง เข้าสู่ตัวสนามบิน จมูกได้สัมผัสกับกลิ่นไม่พึงปรารถนาโชยออกมาจากห้องน้ำ ถึงกับต้องกั้นหายใจ แล้วรีบจ้ำเดินให้ผ่านไปเร็วๆ ในใจตอนนั้น รับไม่ได้จริงๆ เพราะจีน ที่ได้ชื่อว่าพี่เบิ้มแห่งเอเชีย และมีประวัติศาสตร์ชาติยาวนาน แต่ห้องน้ำไม่สะอาดเอาเสียเลย










            แต่เมื่อรถแล่นเข้าสู่ตัวเมือง ต้องปรับความคิดใหม่ เพราะตะลึงกับตึกรามบ้านช่อง ที่ใหญ่โตโอฬาร แค่เสาต้นเดียวของ มหาศาลาประชาชน(The Great Hall of the People) หรือรัฐสภา ไม่รู้กี่คนโอบจึงจะรอบ


              แม้ตอนนั้น เศรษฐกิจจีนยังไม่ขยายตัวร้อนแรงเหมือนปัจจุบัน แต่พรรคคอมมิวนิสต์ ผู้บริหารประเทศ ไม่มีความคิดแบบไดโนเสาร์เต่าล้านปีเหมือนพรรคการเมืองบ้านเรา จึงได้พัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า ทันสมัย เพื่อให้จีนได้รับการยอมรับ และเบียดชาติตะวันตกมายืนอยู่แถวหน้าของโลกให้ได้

                เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้กลับไปกรุงปักกิ่งอีกครั้ง ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกปี 2551 และรองรับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน







               เริ่มตั้งแต่สนามบินนานาชาติ ที่ปรับปรุงใหม่ให้มีขนาดมหึมา ทันสมัยขึ้น ไม่มีกลิ่นจากห้องน้ำอีกแล้ว ถนนหนทางขยายใหญ่ขึ้นหลายช่องทาง ตึกรูปทรงทันสมัยผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แหล่งเสื่อมโทรมในเมืองหลวงไม่มีให้เห็นอีก ร้านอาหารฟาสต์ฟูดส์ และร้านกาแฟแบรนด์นอกมากขึ้น ห้างสรรพสินค้าสร้างใหม่ และถนนคนเดินขายของตลอดทางมากขึ้น รองรับความต้องการบริโภคของประชาชน ที่กินดีอยู่ดีมากขึ้น


            นโยบายของไทย ที่มุ่งกระชับความสัมพันธ์กับจีนในทุกระดับ ทั้งในเชิงลึกและกว้างจึงถือว่าถูกทาง เพราะนาทีนี้เศรษฐกิจจีนแข็งแกร่งที่สุดในโลก มีทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก เป็นผู้นำเข้า-ส่งออกอันดับต้นของโลก และยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งจะช่วยฉุดให้เศรษฐกิจไทยโตตามไปด้วย








               แล้วยิ่งในการเดินทางเยือนจีนของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามบันทึกข้อตกลงแผนพัฒนาระยะ 5 ปีว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน มีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 3 ล้านล้านบาท ในปี 2559 




               และยังได้รับข่าวดีจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนหลายแห่งว่าจะมาลงทุนในไทยแน่นอน ทั้งเซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสทรี ที่จะลงทุนผลิตรถยนต์สำเร็จรูป ปีละ 100,000 คัน ป้อนตลาดไทย และส่งออก บริษัท เกรทวอลล์ มอร์เตอร์ ที่จะลงทุนผลิตรถกระบะ


             รวมถึงการนายกรัฐมนตรีของจีน นายเวิน เจียเป่า รับปากที่จะให้ หลินปิงอยู่ที่ไทยต่อไปหลังจากจะต้องส่งกลับคืนแผ่นดินแม่ในเร็วๆ นี้ด้วยแล้ว

          น่าจะรับประกันได้อย่างดีว่า ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศจะยิ่งใกล้ชิด แน่นแฟ้นมากขึ้น ว่ากันว่า คนจีน คนไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกันทั้งนั้น การร่วมกันสร้างอนาคตของทั้ง 2 ฝ่ายจึงสมควรยิ่ง







                                                                               ฟันนี่เอส



                                                            26 เม..ย 55

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

บัตรเครดิตพลังงานส่อหนี้พุ่ง




                            

           ผ่านพ้นกันไปแล้วสำหรับเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 หวังว่าท่านผู้อ่านคงได้เต็มอิ่มกับการทำบุญ และรดน้ำดำหัวขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว แต่ที่น่าเสียใจก็คือการเกิดอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ และไม่สวมหมวกกันน็อคนี่ละ ที่ยังไม่ลดจำนวนลงเสียที ได้แต่หวังว่า ในปีต่อๆ ไปคงจะลดลงไปเรื่อยๆ

           จบจากความสุข ความสนุกสนาน มาถึงเรื่องหนักๆ ที่น่าเบื่อ แต่จำเป็นต้องรับรู้กันบ้างดีกว่า ฟันนี่เอสว่า นโยบายประชานิยมของรัฐบาล อย่าง บัตรเครดิตพลังงานเร่ิมส่อเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดกันแล้ว







 
          วันก่อน นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์รมว.พลังงาน ยอมรับว่า บัตรเครดิตพลังงาน ที่รัฐบาลผลักดันให้เกิดขึ้น จนมีผู้ขับขี่รถสาธารณะสมัครเข้าร่วมโครงการ 35,618 ราย และได้รับการอนุมัติแล้ว 27,268 รายนั้น ล่าสุด ณ วันที่ 4 เม.ย.55  มีผู้ขับขี่ โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถแท็กซี่ ไม่ชำระหนี้วงเงินเครดิตมากถึง 50% ของยอดการใช้บัตรที่ 6.7 ล้านบาท

            หมายความว่า นับตั้งแต่เร่ิมโครงการเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.54 มีผู้ขับขี่แท็กซี่เบี้ยวหนี้ถึงกว่า 3 ล้านบาท!!

          ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ รมว.พลังงาน ถึงกับอึ้ง! แต่ฝากให้ผู้ใช้บัตรเร่งจ่ายหนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถใช้บัตรได้อีก และจะเสียเครดิตในระยะยาว 

   


          ขณะเดียวกัน จะเร่งหารือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินโครงการ เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสีย และปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้บัตร รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ให้กับผู้ถือบัตร ที่ชำระหนี้ตรงเวลา เพื่อให้ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ จะหาทางลดขั้นตอนการเติมก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นเพื่อทำให้การใช้บัตรเครดิตพลังงานมีความน่าสนใจ และดึงดูดให้ผู้ขับขี่รถสาธารณะหันมาใช้มากขึ้นด้วย


           จะว่าไปแล้ว บัรเครดิตพลังงาน ถ้ารัฐบาลผลักดันให้ประสบความสำเร็จ จะบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และบรรเทาภาระค่าครองชีพที่หนักอึ้งให้กับผู้ขับขี่รถสาธารณะ ทั้งแท็กซี่ สามล้อ และรถตู้โดยสารร่วม ขสมก.ได้มากโข

           เพราะจะมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ถือบัตร ด้วยการให้วงเงินเครดิตสำหรับชำระค่าก๊าซเอ็นจีวีแทนเงินสด 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน และสิทธิส่วนลดราคาขายปลีกเอ็นจีวี 0.50-2.00 บาท แต่กำหนดเพดานการให้ส่วนลดราคาขายปลีกไม่เกินมูลค่ายอดการซื้อก๊าซ 9,000 บาทต่อเดือน

  


           แต่เมื่อเกิดปัญหาชักดาบหนี้ค่าก๊าซขึ้น และถ้ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีสำนึกจะชำระหนี้ก้อนนี้จริงๆ ภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะตกอยู่ที่ผู้ให้บริการน้ำมัน ซึ่งก็คือ ปตท. และยิ่งหากจำนวนผู้ขับขี่ที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่ี่เกือบ 60,000 ราย แล้วเพียงแค่ครึ่งเดียวของผู้ขับขี่เหล่านี้ยังเบี้ยวหนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้ ปตท. ต้องรับภาระมากขึ้นไปอีก


         หรือหากรัฐบาลจะใช้หนี้แทนผู้ขับขี่เหล่านั้น ก็ไม่พ้นต้องนำเอางบประมาณมาใช้อยู่ดี ถือเป็นการเอาภาษีของประชาชนมาอุ้มกลุ่มคนเพียงไม่กี่หยิบมือ ที่มีสันดานขี้โกงอย่างที่ไม่ควรจะเป็น แทนที่จะนำงบประมาณนั้นไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด


         อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะทำให้โครงการนี้เดินหน้าไปด้วยดี ก็ขอให้อุดรูรั่ว ช่องโหว่ของโครงการให้ดี อย่าให้คนสันดานเสียเพียงน้อยนิดมาทำให้คนดีๆ ที่ต้องการได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ต้องเสียชื่อ หรือเสียประโยชน์ตามไปด้วย เพื่อให้โครงการสามารถช่วยเหลือผู้ขับขี่ดีๆ ได้อย่างแท้จริง


          อย่าให้ใครมาว่าได้ว่า ประเทศไทยทุกสิ่งทุกอย่างดีหมด ยกเว้นอย่างเดียว คนไทยบางส่วนที่สุดขั้วจริงๆ!!




                                                                                                       ฟันนี่เอส


                                                                                                     19 เม.ย.55

ORECคืนชีพ










              กว่าสิบปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์เคยมีความพยายามจะจับมือกับประเทศผู้ปลูกข้าวในอาเซียน ทั้งเวียดนาม กัมพูชา พม่า และลาว รวมไปถึงประเทศอื่นในเอเชีย อย่างอินเดีย และปากีสถาน ร่วมกันขายข้าวในตลาดโลกโดยไม่ตัดราคากันเอง



  และเพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อ เพื่อหวังดันราคาข้าวโลกให้สูงขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนการส่งออกข้าวในโลกมากถึง 60-70% กลายเป็นกลุ่มผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ (OREC : Organization of the Rice Exporting Countries) ที่สามารถกำหนดราคาข้าวร่วมกันได้ เหมือนที่กลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (OPEC : Organization of the Petroleum Exporting Countries) ดำเนินการกับสินค้าน้ำมัน






  ความประสงค์ดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะคู่แข่งของไทยหลายประเทศ มักแข่งกันขายข้าวราคาต่ำ เพื่อหวังขายให้ได้ปริมาณมากๆ อีกทั้งยังไม่มีโรงสี หรือที่เก็บข้าวเพื่อรอการขาย เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วต้องเร่งขาย แม้จะไม่ได้ราคาดี ส่งผลให้ราคาขายข้าวแต่ละประเทศดิ่งลงเรื่อยๆ และไม่เป็นผลดีกับเกษตรกร

  แต่ความร่วมมือดังกล่าว จนถึงปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่า “ล้มเหลว” โดยสิ้นเชิง!!



  เพราะแต่ละประเทศ ต่างต้องการขายข้าวด้วยกันทั้งนั้น เมื่อมีคนมาขอซื้อก็ขายให้ทันที ถ้าเล่นตัวมากอาจชวดออร์เดอร์ เพราะมีหลายประเทศพร้อมจะขายเหมือนกัน ตลาดจึงเป็นของผู้ซื้อ ไม่ใช่ของผู้ขาย






  แต่ล่าสุด ในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา เมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ผู้นำออกแถลงการณ์ร่วมกันที่จะจัดระบบสินค้าเกษตร พัฒนาระบบการผลิตและคุณภาพสินค้า รวมถึงพัฒนาระบบการค้าร่วมกัน โดยเอาข้าวเป็นสินค้านำร่อง


   เป้าหมายไม่ต่างจากสิ่งที่ไทยเคยริเริ่มไว้ เพื่อทำให้ราคาขายข้าวสูงขึ้น เพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อ โดยระหว่างนี้ ให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของสมาชิกหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย


   กระทรวงพาณิชย์ของไทย มองว่า การพัฒนาระบบการตลาดยากที่สุด เพราะต้องหาทางแบ่งปันผลประโยชน์ให้ลงตัว ไม่เช่นนั้น ความร่วมมืออาจล้มเหลวเหมือนที่ผ่านมาได้


  โดยในการหารือกันนั้น จะเสนอให้แบ่งแยกตลาดข้าวแต่ละประเทศให้ชัดเจน ไม่แย่งกันขาย เช่น ประเทศเพื่อนบ้านขายข้าวคุณภาพต่ำ ส่วนไทยจะขายข้าวคุณภาพสูง รวมถึงไทยอาจทำตลาดข้าวให้เพื่อนบ้านด้วย เช่น เจรจาขายข้าวให้






  หรืออาจใช้วิธีนำเข้าข้าวสารของเพื่อนบ้านมาไว้ที่เขตฟรีโซน ซึ่งต้องกำหนดพื้นที่ตะเข็บชายแดนเท่านั้น และกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าเพื่อส่งออกอย่างเดียว เพื่อไม่ให้ข้าวสารของเพื่อนบ้านเข้ามาขายในประเทศ กระทบเกษตรกรในประเทศ และไม่อนุญาตให้นำเข้าข้าวเปลือก ป้องกันการสวมสิทธิ์เกษตรกรไทยเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป็นต้น



  ความร่วมมือครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ไทย เชื่อว่า น่าจะสำเร็จ สามารถดึงราคาข้าวขึ้นได้ ชาวนาแต่ละประเทศขายข้าวได้ราคาดีขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ผู้นำต้องการให้เกิดขึ้น


  ถ้าทำได้จริงจะดีมากๆ แต่ขอให้วางระบบป้องกันให้ดี อย่าให้ข้าวของเพื่อนบ้านเข้ามาขายในไทยได้แม้แต่เมล็ดเดียว ไม่เช่นนั้น ชาวนาไทยคงจะเสียเปรียบวันยังค่ำ







 ฟันนี่เอส



12 เม.ย.55

ขึ้นค่าแรง...เปล่าประโยชน์










                  หลังวันที่ 1 เม.ย.55 เป็นต้นมา เถ้าแก่เจ้าของกิจการใน 7 จังหวัดนำร่องคือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ตามนโยบายรัฐบาล

            จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีลูกจ้างได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 5.17-6.96 ล้านคน จากลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 12.98 ล้านคน


               ทำเอาลูกจ้างกลุ่มนี้ดีใจกันยกใหญ่ เพราะคิดว่าจะมีเงินเพิ่มขึ้นมาจับจ่ายซื้อข้าวของ แต่เอาเข้าจริง เงินที่เพิ่มขึ้นก็ยังไม่พอกับรายจ่ายอยู่ดี  เพราะราคาข้าวของดาหน้าขึ้นไปล่วงหน้าหมดแล้ว




               ความหวังของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จากการมีรายได้มากขึ้น และนำเงินมาใช้จ่ายซื้อสินค้า ทำให้เงินในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้หลายตลบ ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจประเทศโดยรวมขยายตัวมากขึ้นนั้น อาจไม่บรรลุตามเป้าหมาย!!


                มิหนำซ้ำ อาจทำให้เถ้าแก่เจ้าของกิจการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เจียนตาย เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก คิดเล่นๆ ถ้าโรงงานแห่งหนึ่ง จ้างคนงาน 30 คน ก่อนหน้านั้นได้เงินเดือนคนละ 250 บาท หรือเดือนละ 7,500 บาท รวม 30 คนต้องจ่ายเดือนละ 225,000 บาท แต่เมื่อขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท เถ้าแก่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 45,000 บาท รวมต้องจ่ายต่อเดือน 270,000 บาท

               ถ้าเป็นกิจการที่ไปได้ดี มีกำไรต่อเดือนมาก คงไม่มีปัญหากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นกิจการที่มีคู่แข่งจำนวนมาก กิจการแทบไม่มีกำไรต่อเดือนเลย ก็อาจต้องล้มตายแน่นอน!!







               จากข้อมูลหอการค้าไทย ระบุว่า การขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัด ทำให้เอสเอ็มอี 98% ของเอสเอ็มอีทั้งประเทศ 2.2 ล้านราย ได้รับผลกระทบแน่นอน และ อีกราว 10% หรือราว 2 แสนรายต้องปิดกิจการ หรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่ามาก อย่างบางประเทศวันละเพียง 50-60 บาทเท่านั้น

                ส่วนกิจการใหญ่ๆ แทบไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างตรงที่กำไรที่ได้จะลดลง เพราะต้องเอาไปจ่ายเป็นค่าแรงคนงานแทนเข้ากระเป๋าเถ้าแก่ แต่กิจการใหญ่ๆ จากต่างประเทศ คงต้องมองหาการย้ายฐานการผลิต เพราะเมื่อเทียบผลประโยชน์ระยะยาวแล้ว คุ้มเกินคุ้มแน่นอน

               ดังนั้น ทั้งหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี เบื้องต้นน่าจะมีทุนประเดิม 10,000 ล้านบาท ใช้สนับสนุนให้เอสเอ็มอี เพิ่มศักยภาพในการผลิต และการแข่งขัน รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ไปลงทุนในต่างประเทศด้วย

                 ถึงตอนนี้ แม้จะยังไม่ได้ยินเสียงใดๆ จากรัฐบาล แต่ นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ ที่ดูแลกรมส่งเสริมการส่งออก ได้มอบหมายให้กรมฯ ติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ หลังการขึ้นค่าแรง 300 บาท เพื่อหาทางช่วยเหลือให้ธุรกิจเดินหน้า เพราะยอมรับว่าการขึ้นค่าแรงทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

                ที่จริงเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง เพราะแรงงานไทยค่าหัวถูกเหลือเกิน แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าเงินที่เพิ่มขึ้นซื้ออะไรไม่ได้เลย ไม่อยากบอกว่า รัฐบาลต้องเร่งดูแลค่าครองชีพอย่าให้สูงเกินรายได้ เพราะรู้อยู่แล้ว แต่อยากให้ทำสำเร็จเสียที เพราะยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง เหมือนลิงแก้แหยังไงยังงั้น!!