วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

ORECคืนชีพ










              กว่าสิบปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์เคยมีความพยายามจะจับมือกับประเทศผู้ปลูกข้าวในอาเซียน ทั้งเวียดนาม กัมพูชา พม่า และลาว รวมไปถึงประเทศอื่นในเอเชีย อย่างอินเดีย และปากีสถาน ร่วมกันขายข้าวในตลาดโลกโดยไม่ตัดราคากันเอง



  และเพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อ เพื่อหวังดันราคาข้าวโลกให้สูงขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนการส่งออกข้าวในโลกมากถึง 60-70% กลายเป็นกลุ่มผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ (OREC : Organization of the Rice Exporting Countries) ที่สามารถกำหนดราคาข้าวร่วมกันได้ เหมือนที่กลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (OPEC : Organization of the Petroleum Exporting Countries) ดำเนินการกับสินค้าน้ำมัน






  ความประสงค์ดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะคู่แข่งของไทยหลายประเทศ มักแข่งกันขายข้าวราคาต่ำ เพื่อหวังขายให้ได้ปริมาณมากๆ อีกทั้งยังไม่มีโรงสี หรือที่เก็บข้าวเพื่อรอการขาย เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วต้องเร่งขาย แม้จะไม่ได้ราคาดี ส่งผลให้ราคาขายข้าวแต่ละประเทศดิ่งลงเรื่อยๆ และไม่เป็นผลดีกับเกษตรกร

  แต่ความร่วมมือดังกล่าว จนถึงปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่า “ล้มเหลว” โดยสิ้นเชิง!!



  เพราะแต่ละประเทศ ต่างต้องการขายข้าวด้วยกันทั้งนั้น เมื่อมีคนมาขอซื้อก็ขายให้ทันที ถ้าเล่นตัวมากอาจชวดออร์เดอร์ เพราะมีหลายประเทศพร้อมจะขายเหมือนกัน ตลาดจึงเป็นของผู้ซื้อ ไม่ใช่ของผู้ขาย






  แต่ล่าสุด ในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา เมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ผู้นำออกแถลงการณ์ร่วมกันที่จะจัดระบบสินค้าเกษตร พัฒนาระบบการผลิตและคุณภาพสินค้า รวมถึงพัฒนาระบบการค้าร่วมกัน โดยเอาข้าวเป็นสินค้านำร่อง


   เป้าหมายไม่ต่างจากสิ่งที่ไทยเคยริเริ่มไว้ เพื่อทำให้ราคาขายข้าวสูงขึ้น เพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อ โดยระหว่างนี้ ให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของสมาชิกหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย


   กระทรวงพาณิชย์ของไทย มองว่า การพัฒนาระบบการตลาดยากที่สุด เพราะต้องหาทางแบ่งปันผลประโยชน์ให้ลงตัว ไม่เช่นนั้น ความร่วมมืออาจล้มเหลวเหมือนที่ผ่านมาได้


  โดยในการหารือกันนั้น จะเสนอให้แบ่งแยกตลาดข้าวแต่ละประเทศให้ชัดเจน ไม่แย่งกันขาย เช่น ประเทศเพื่อนบ้านขายข้าวคุณภาพต่ำ ส่วนไทยจะขายข้าวคุณภาพสูง รวมถึงไทยอาจทำตลาดข้าวให้เพื่อนบ้านด้วย เช่น เจรจาขายข้าวให้






  หรืออาจใช้วิธีนำเข้าข้าวสารของเพื่อนบ้านมาไว้ที่เขตฟรีโซน ซึ่งต้องกำหนดพื้นที่ตะเข็บชายแดนเท่านั้น และกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าเพื่อส่งออกอย่างเดียว เพื่อไม่ให้ข้าวสารของเพื่อนบ้านเข้ามาขายในประเทศ กระทบเกษตรกรในประเทศ และไม่อนุญาตให้นำเข้าข้าวเปลือก ป้องกันการสวมสิทธิ์เกษตรกรไทยเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป็นต้น



  ความร่วมมือครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ไทย เชื่อว่า น่าจะสำเร็จ สามารถดึงราคาข้าวขึ้นได้ ชาวนาแต่ละประเทศขายข้าวได้ราคาดีขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ผู้นำต้องการให้เกิดขึ้น


  ถ้าทำได้จริงจะดีมากๆ แต่ขอให้วางระบบป้องกันให้ดี อย่าให้ข้าวของเพื่อนบ้านเข้ามาขายในไทยได้แม้แต่เมล็ดเดียว ไม่เช่นนั้น ชาวนาไทยคงจะเสียเปรียบวันยังค่ำ







 ฟันนี่เอส



12 เม.ย.55

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น