วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

ขึ้นค่าแรง...เปล่าประโยชน์










                  หลังวันที่ 1 เม.ย.55 เป็นต้นมา เถ้าแก่เจ้าของกิจการใน 7 จังหวัดนำร่องคือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ตามนโยบายรัฐบาล

            จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีลูกจ้างได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 5.17-6.96 ล้านคน จากลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 12.98 ล้านคน


               ทำเอาลูกจ้างกลุ่มนี้ดีใจกันยกใหญ่ เพราะคิดว่าจะมีเงินเพิ่มขึ้นมาจับจ่ายซื้อข้าวของ แต่เอาเข้าจริง เงินที่เพิ่มขึ้นก็ยังไม่พอกับรายจ่ายอยู่ดี  เพราะราคาข้าวของดาหน้าขึ้นไปล่วงหน้าหมดแล้ว




               ความหวังของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จากการมีรายได้มากขึ้น และนำเงินมาใช้จ่ายซื้อสินค้า ทำให้เงินในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้หลายตลบ ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจประเทศโดยรวมขยายตัวมากขึ้นนั้น อาจไม่บรรลุตามเป้าหมาย!!


                มิหนำซ้ำ อาจทำให้เถ้าแก่เจ้าของกิจการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เจียนตาย เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก คิดเล่นๆ ถ้าโรงงานแห่งหนึ่ง จ้างคนงาน 30 คน ก่อนหน้านั้นได้เงินเดือนคนละ 250 บาท หรือเดือนละ 7,500 บาท รวม 30 คนต้องจ่ายเดือนละ 225,000 บาท แต่เมื่อขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท เถ้าแก่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 45,000 บาท รวมต้องจ่ายต่อเดือน 270,000 บาท

               ถ้าเป็นกิจการที่ไปได้ดี มีกำไรต่อเดือนมาก คงไม่มีปัญหากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นกิจการที่มีคู่แข่งจำนวนมาก กิจการแทบไม่มีกำไรต่อเดือนเลย ก็อาจต้องล้มตายแน่นอน!!







               จากข้อมูลหอการค้าไทย ระบุว่า การขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัด ทำให้เอสเอ็มอี 98% ของเอสเอ็มอีทั้งประเทศ 2.2 ล้านราย ได้รับผลกระทบแน่นอน และ อีกราว 10% หรือราว 2 แสนรายต้องปิดกิจการ หรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่ามาก อย่างบางประเทศวันละเพียง 50-60 บาทเท่านั้น

                ส่วนกิจการใหญ่ๆ แทบไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างตรงที่กำไรที่ได้จะลดลง เพราะต้องเอาไปจ่ายเป็นค่าแรงคนงานแทนเข้ากระเป๋าเถ้าแก่ แต่กิจการใหญ่ๆ จากต่างประเทศ คงต้องมองหาการย้ายฐานการผลิต เพราะเมื่อเทียบผลประโยชน์ระยะยาวแล้ว คุ้มเกินคุ้มแน่นอน

               ดังนั้น ทั้งหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี เบื้องต้นน่าจะมีทุนประเดิม 10,000 ล้านบาท ใช้สนับสนุนให้เอสเอ็มอี เพิ่มศักยภาพในการผลิต และการแข่งขัน รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ไปลงทุนในต่างประเทศด้วย

                 ถึงตอนนี้ แม้จะยังไม่ได้ยินเสียงใดๆ จากรัฐบาล แต่ นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ ที่ดูแลกรมส่งเสริมการส่งออก ได้มอบหมายให้กรมฯ ติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ หลังการขึ้นค่าแรง 300 บาท เพื่อหาทางช่วยเหลือให้ธุรกิจเดินหน้า เพราะยอมรับว่าการขึ้นค่าแรงทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

                ที่จริงเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง เพราะแรงงานไทยค่าหัวถูกเหลือเกิน แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าเงินที่เพิ่มขึ้นซื้ออะไรไม่ได้เลย ไม่อยากบอกว่า รัฐบาลต้องเร่งดูแลค่าครองชีพอย่าให้สูงเกินรายได้ เพราะรู้อยู่แล้ว แต่อยากให้ทำสำเร็จเสียที เพราะยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง เหมือนลิงแก้แหยังไงยังงั้น!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น