วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

คุมเข้มนำเข้าสินค้ารับ AEC




            







              ตอนนี้ เชื่อเหลือเกินว่าแทบจะทุกหย่อมหญ้าในประเทศไทย ตื่นตัวเรื่องการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) ของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนกันมากขึ้น

            โดยเฉพาะผู้ประกอบการของไทย น่าจะสร้างจุดเด่น และปิดจุดด้อย หรือเร่งเสริมสร้างศักยภาพด้านการผลิต และการแข่งขันอย่างเต็มที่ เพื่อให้พร้อมรับกับการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงขึ้นภายหลังการเป็น AEC

              เนื่องจากจะมีการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุน และแรงงานอย่างเสรี ซึ่งจะทำให้การทำมาค้าขายระหว่างอาเซียนคล่องตัวมากขึ้น

              แต่ภายใต้การนำเข้าสินค้าอย่างเสรี ก็นำมาซึ่งความหวาดวิตก และความกังวล ทั้งของผู้ผลิตสินค้าของไทย และผู้บริโภค เพราะอาจมีการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค หรือนำเข้ามาอย่างไร้ขีดจำกัด จนกระทบต่อผู้ผลิตได้








             กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ออกประกาศจัดระเบียบการนำเข้าสินค้า 6 รายการ ได้แก่ มันสำปะหลัง หอมแดง ส้ม เครื่องในสุกร ยางรถยนต์ใหม่ และเครื่องใช้ไฟฟ้า (พัดลม หม้อหุงข้าว และหลอดไฟ)

  เพื่อรองรับการเป็น AEC และเพื่อดูแลเกษตรกร ผู้ประกอบการในประเทศ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าที่มากเกินไป รวมถึงดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย

       โดยสาเหตุที่เลือกทั้ง 6 ชนิดนี้มาจัดระเบียบการนำเข้าก่อน เพราะกรมฯได้ประเมินแล้วว่าน่าจะมีปัญหาการนำเข้ามากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจุบันมีการนำเข้าจำนวนมากอยู่แล้ว และอีกส่วนมีการลักลอบนำเข้ามาบ้างตามแนวชายแดน เพื่อสวมสิทธิ์เกษตรกรไทยเข้าโครงการรับจำนำของรัฐบาล ส่งผลให้เกษตรกรไทยเสียสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ

             สำหรับมาตรการที่ใช้ดูแล กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าต่อกรมฯ ต้องมีหนังสือรับรองสุขอนามัย หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หนังสือรับรองมาตรฐาน และต้องเก็บในสถานที่เก็บแยกต่างหากจากสินค้าปกติ ต้องรายงานการนำเข้า การครอบครอง การส่งออก สถานที่เก็บ การจำหน่ายจ่ายโอน ปริมาณคงเหลือ เป็นประจำทุกเดือน

             แต่หากยังมีข้อสงสัย สามารถดูรายละเอียดประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการนำเข้าเพิ่มเติมได้ที่ website: www.dft.go.th

 มาตรการเหล่านี้ ไม่ได้เพิ่มภาระในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเลย แต่ทำให้กรมฯติดตามดูแลการนำเข้าได้ว่า ใคร จะนำเข้าสินค้าใด เมื่อไร เพื่อประโยชน์อะไร มีสต๊อกสิเท่าไร เก็บไว้ที่ไหน ฯลฯ จากก่อนหน้านี้ ไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้เลย ซึ่งนอกจากจะป้องกันการนำเข้ามาสวมสิทธิในโครงการรับจำนำแล้ว ยังช่วยไม่ให้เกษตรกรเสียประโยชน์ และไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อนด้วย

ได้แต่หวังว่า การดำเนินการดังกล่าว จะเกิดประโยชน์กับทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และเกษตรกร อย่างแท้จริงอย่างที่กรมฯหวังไว้ เพราะคนไทยจะได้กิน ได้ใช้สินค้าดีๆ ไม่อันตราย และเกษตรกรจะได้ไม่ถูก ผีสวมสิทธิ์อย่างที่เป็นอยู่

                                                                                            
                                               ฟันนี่เอส


                                                                                                                         
                                                         31 ม.ค. 56
   

ธาตุแท้มหามิตร












              สัปดาห์ก่อน เขียนถึงกรณีที่สหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานการละเมิดและการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานผิดกฎหมายในการผลิตสินค้า โดยระบุว่า ไทยเป็น 1 ใน 74 ประเทศทั่วโลก ที่ใช้แรงงานเด็ก และแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมอาหารทะเล เครื่องนุ่งห่ม น้ำตาล และสื่อลามก
  อีกทั้งยังระบุเพิ่มอีกว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาให้คลี่คลายลง

             จนไทยนั่งไม่ติด รีบเชิญสหรัฐฯเดินทางเข้าไปในพื้นที่ตรวจสอบวิถีชีวิตแรงงานในอุตสาหกรรมประมง และชี้แจงการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยไปแล้ว ซึ่งยังไม่รู้ว่า จะทำให้สหรัฐฯเข้าใจ และพอใจหรือไม่











  แต่ที่แน่ๆ ข้อมูลล่าสุดจาก “นางพิรมล เจริญเผ่า” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่ได้เดินทางไปเจรจากรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สัปดาห์ก่อน ระบุว่า ขณะนี้ สหรัฐฯรณรงค์ให้ผู้บริโภคในประเทศ “เลิก” บริโภคอาหารทะเลแช่แข็งจากไทยแล้ว เพราะใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมาย

  สัปดาห์นี้ เลยต้องขอเขียนถึง “วิบากกรรม” การส่งออกกุ้งไทยไปสหรัฐฯอีกครั้ง เพราะสหรัฐฯขยันหาเรื่อง “เล่นงาน” กุ้งนำเข้าจากไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ แบบไม่รู้จบ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมกุ้งภายในไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการนำเข้ากุ้งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา สหรัฐฯยังได้ประกาศเปิดไต่สวนการอุดหนุน (CVD) กุ้งแช่แข็งจาก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และเอกวาดอร์

  โดยอ้าง รัฐบาลของ 7 ประเทศให้การอุดหนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกุ้ง เพื่อให้มีความได้เปรียบในด้านการแข่งขัน จนอาจทำให้อุตสาหกรรมของสหรัฐฯเสียหาย

  ซึ่งหากไต่สวนแล้วพบว่า อุตสาหกรรมกุ้งสหรัฐฯเสียหาย และรัฐบาลทั้ง 7 ประเทศอุดหนุนจริง จะเรียกเก็บภาษี CVD เพื่อทำให้ราคากุ้งนำเข้าจาก 7 ประเทศสูงขึ้น และแข่งขันกับกุ้งสหรัฐฯยากขึ้นไปอีก จากปัจจุบัน ที่กุ้งจาก 7 ประเทศถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) อยู่ก่อนแล้ว โดยกุ้งไทยถูกเรียกเก็บเกือบ 1%

  แม้การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (NBT) ที่สหรัฐฯสรรหามาสกัดการนำเข้ากุ้งไทย ไม่ผิดกฎกติกาการค้าในเวทีโลก แต่ก็ทำให้เห็น “ธาตุแท้” ของ “มหามิตร” ที่ใครๆ ยกให้เป็น “พี่เบิ้ม” ของโลกว่า ไม่เคยเสียเปรียบใคร และไม่เคยให้ใครได้ประโยชน์เหนือกว่า

  การเจรจาเปิดเสรีการค้ารอบโดฮา ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ที่ยังค้างคามานานนับ 10 ปี และไม่สามารถปิดการเจรจาได้ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่โอนอ่อนผ่อนปรนของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ












  แม้กระทั่งไทย ประเทศเล็กๆ ที่ขนาดของเศรษฐกิจเทียบกับสหรัฐฯไม่ได้เลย ยังต้องหาเรื่องกีดกันการค้าเป็นว่าเล่น แต่กลับไม่มองถึงความได้เปรียบที่ตักตวงเอาไปจากไทยเลย โดยเฉพาะจากสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ

  เข้าใจดีว่า ทุกประเทศในโลกอยู่ด้วยกันแบบพึ่งพากันและกัน ยอมโอนอ่อนผ่อนปรนให้กัน ยอมเสียสละให้กันบ้าง เพื่อให้ความสัมพันธ์ไม่บุบสลาย และที่ผ่านมา สหรัฐฯมีน้ำใจกับคนไทยอย่างเหลือล้น แต่อยากรู้จริงๆ ว่า ถ้าจบเรื่อง CVD แล้ว สหรัฐฯจะหาเรื่องอะไรมาเล่นงานไทยอีก!!       



     ฟันนี่เอส


                                                                             24 ม.ค. 56

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

กำลังใจจากแฟนๆ กระจก 8 หน้า


         











           ขอบคุณ คุณ หรรษา แฟนคอลัมน์ "กระจก 8 หน้า" จากระยอง และท่านอื่นๆอีก 9 ท่าน รอรับไดอารี่ที่บ้านได้เลยค่ะ ฟันนี่เอสจัดส่งให้เรียบร้อยค่ะ และอย่าลืมติดตามคอลัมน์กระจกฯ ต่อไปอีกนะคะ ขอบคุณแฟนๆที่ยังไม่ทิ้งกันค่ะ ขอส่งความปารถนาดีนี้กลับไปสู่แฟนๆผู้อ่านทุกๆท่านด้วยค่ะ



                                                                 ฟันนี่เอส

                               

                                                                                             18 มกราคม 2556

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

เรียกร้องความเป็นธรรม

















            เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตซ้ำอีกจนได้ สำหรับปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของไทย หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ The U.S. Department of Labor"s Bureau of International Labor Affairs (ILAB) ได้เผยแพร่รายงานการละเมิดและการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานผิดกฎหมายในการผลิตสินค้า 134 รายการจาก 74 ประเทศทั่วโลก

โดยระบุว่า ไทยเป็นอีก 1 ประเทศ ที่ใช้แรงงานเด็ก และแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมอาหารทะเล เครื่องนุ่งห่ม น้ำตาล และหนังสือประเภทตำราเรียน

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังเผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Tip Report) ประจำปี 55 โดยจัดให้ไทยอยู่ในบัญชี Tier 2 Watch List หรือประเทศที่ถูกจับตามอง
เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ยังใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการแก้ปัญหา

ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้านั้น หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนของไทย ได้แก้ไขปัญหาร่วมกับสหรัฐฯ และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อย่างต่อเนื่อง เพราะกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นวันสองวันนี้

อีกทั้ง กระทรวงแรงงานไทย ยังบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้แรงงานเด็ก แรงงานผิดกฎหมาย หรือแรงงานทาส อย่างเข้มงวด ซึ่งผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออก ต้องปฏิบัติตามทั้งกฎหมายในประเทศ และกฎระเบียบประเทศผู้นำเข้าอย่างเคร่งครัด หากไม่ปฏิบัติตาม อาจถูกสั่งห้ามนำเข้าสินค้า และสูญเสียตลาดได้

แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้สหรัฐฯพอใจ และปรับอันดับให้ไทยดีขึ้นเลย กรณีนี้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ และการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะอาหารทะเล และเครื่องนุ่งห่ม ที่มีสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกหลัก นำรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท เพราะอาจทำให้ผู้นำเข้าไม่มั่นใจนำเข้าอีกต่อไป

            ขณะเดียวกัน ทางการสหรัฐฯ อาจใช้เป็นข้ออ้างประกาศใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับสินค้าไทย เช่น สั่งห้ามนำเข้า หรือตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เป็นต้น

            แต่จะว่าไปแล้ว การดำเนินการของสหรัฐฯเช่นนี้ ไม่เกินความคาดหมาย เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (NTB) ที่นานาประเทศใช้กันอยู่

 แม้จะไม่ผิดกฎ กติกาการค้าโลก แต่สหรัฐฯน่าจะให้ความเป็นธรรมกับประเทศไทย และผู้ประกอบการไทยบ้าง การที่สินค้าไทยขายดีจนต้องเพิ่มปริมาณนำเข้าทุกปี เพราะสินค้าไทยมีมาตรฐาน ถูกรสนิยมผู้บริโภค ถือเป็นความผิดของผู้ประกอบการไทยหรือ










 โดยเฉพาะกุ้งสดแช่แย็นแช่แข็ง และแปรรูป ที่ขายดีมาก แต่ผู้ส่งอกกลับประสบวิบากกรรมสารพัด ทั้งถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด หรือถูกตัด GSP แล้วยังมีปัญหาแรงงานผิดกฎหมายอีก ซึ่งไม่ได้มีแต่ไทยเท่านั้นที่เกิดปัญหาเช่นนี้ คู่แข่งของไทยหลายประเทศ ล้วนมีปัญหาเช่นเดียวกันหมด เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย เอกวาดอร์ ฯลฯ

 คิดกันเล่นๆ ว่า สหรัฐฯจะใช้มาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าไทยหรือไม่ หากสินค้านั้นขายไม่ดี และปริมาณการนำเข้าไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตไม่ได้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบที่สหรรัฐฯกำหนด

  
                 ฟันนี่เอส

                                                                                17 ม.ค. 56

วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

ดีกว่าไม่ช่วยอะไรเลย











            หลังจากลุ้นอยู่นานว่ารัฐบาลจะมีมาตรการลดผลกระทบให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.56  อย่างไร

            ในที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ก็ได้เห็นชอบมาตรการลดผลกระทบดังกล่าวแล้ว ทั้งมาตรการด้านภาษี มาตรการสินเชื่อและเงินทุนหมุนเวียน และมาตรการอื่นๆ  

แม้จะไม่สามารถลดผลกระทบให้กับเอสเอ็มอี และนายจ้างได้ทุกรายทั่วประเทศ หรือบางมาตรการ “เกาไม่ถูกที่คัน” แต่ก็ยังดีกว่า รัฐไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาช่วยเหลือเลย

            ที่สำคัญ แม้มาตรการด้านภาษีที่ออกมานี้ จะทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ปีละกว่า 2,800 ล้านบาท แต่ต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเอง เพื่อทำให้รัฐบาลไม่ถูกก่นด่า และเอสเอ็มอียังสามารถทำธุรกิจต่อไปได้







 
ไม่ใช่ทยอยตายหมู่จากนโยบายรัฐบาล ที่เป็นเหมือนดาบสองคม คมหนึ่งเพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ใช้แรงงาน แต่อีกคมหนึ่งกลับหวนหาทิ่มแทงเอสเอ็มอีให้ด่าวดิ้น เพราะการขึ้นค่าแรง 300 บาท เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้เอสเอ็มอีเช่นกัน

            โดยมาตรการด้านภาษี ได้แก่ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 15% สำหรับเอสเอ็มอีที่มีผลกำไรไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี จากเดิมที่กำหนดกำไรไม่เกิน 150,000 บาท คาดจะมีเอสเอ็มอี ที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 210,000 ราย จากกว่า 2 ล้านรายทั่วประเทศ

การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และเพิ่มขีดความสามารถของเอสเอ็มอีออกไปอีก 1 ปี เป็นสิ้นสุด 31 ธ.ค. 56 จากเดิมสิ้นสุด 31 ธ.ค.55 นายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมและนิติบุคคลหักค่าใช้จ่ายส่วนต่างค่าแรงขั้นต่ำได้ 1.5 เท่า








การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายเครื่องจักรเก่ามาซื้อเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การให้หักค่าเสื่อมเครื่องจักรใหม่ได้ 100% ในปีแรก

ส่วนมาตรการสินเชื่อ ได้แก่ ขยายเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จากเดิมสิ้นสุดการอนุมัติสินเชื่อ 23 เม.ย.57 เป็นสิ้นสุด 31 ธ.ค.58 การขยายเวลา โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ ออกไปอีก 3 ปี เป็นสิ้นสุดการขอรับสินเชื่อ 31 ธ.ค.58

รัฐบาลคาดว่า มาตรการสินเชื่อ จะมีเอสเอ็มอี ได้สินเชื่อเพิ่ม 80,000 ราย สร้างสินเชื่อในระบบ 424,800 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 320,000 คน และสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2.328 ล้านล้านบาท

มาตรการอื่นๆ เช่น การลดค่าธรรมเนียมห้องพัก จาก 80 บาทเหลือ 40 บาทเป็นเวลา 3 ปี จัดสรรงบประมาณให้ส่วนราชการเพิ่มเติมสำหรับจัดสัมมนา เพื่อกระจายรายได้ไปสู่แหล่งท่องเที่ยว

            ส่วนเอสเอ็มอี หรือนายจ้าง ที่ไม่ได้ประโยชน์ในครั้งนี้ ไม่ต้องร่ำไห้เสียใจ หรือรีบปิดกิจการไปก่อน เพราะ “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่ได้รับสิทธิให้ “ไวท์ไล” หรือ “โกหก” เพื่อชาตินั้น

ได้ออกปากขอร้องให้อดทนกันไปก่อน เมื่อภาวะเศรษฐกิจไทยสมดุล คนไทยทุกคนก็จะสบายกันแล้ว



ฟันนี่เอส

                                                                       10 ม.ค. 56

วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

กระจกสะท้อน “กระจก8หน้า”



   
  





             สวัสดีปีใหม่ 2556 นะคะ ชีวิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง หลังจากที่หยุดยาวไปเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่กันอย่างเต็มเหนี่ยว ทุกท่านคงชาร์จแบตเตอรี่กันมาเกิน 100 และพร้อมเดินหน้าทำงานกันอย่างเต็มที่
   
            สัปดาห์ก่อน ฟันนี่เอสได้ขอให้ท่านผู้อ่านส่งคำติ/ชมคอลัมน์ กระจก 8 หน้าเข้ามา เพื่อเป็น กระจกสะท้อน กระจก 8 หน้าของผู้เขียนทั้ง 4 ท่าน และทำให้ทราบว่า ผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับข้อเขียนของเรา หากมีข้อผิดพลาด ก็พร้อมจะปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุดออกสู่สายตาประชาชน ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะมีคำติ/ชมเข้ามาอย่างล้นหลาม และนี่คือตัวอย่างคำติ/ชมเหล่านั้น 
                ติดตามอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเกือบทุกคอลัมน์ แต่ที่ต้องอ่านเป็นประจำ คือ คอลัมน์ "กระจก 8 หน้า" เพราะเป็นคอลัมน์ที่กระชับ โดนใจ ไม่ยืดเยื้อ แต่ได้เนื้อหาสาระ น่าติดตาม (ขอให้มีคอลัมน์นี้ต่อไป)
   
       
ชอบอ่าน เพราะวิเคราะห์ข่าวที่เป็นประเด็นแบบตรงไปตรงมา ไม่เยิ่นเย้อ เลือกข้าง   
        
ปีใหม่นี้ขอให้  นสพ.ไทยรัฐ  ขายดียิ่งขึ้น  อยู่คู่เป็นหูเป็นตาให้กับสังคมไทย  ส่วนคำติชม  ก็เห็นว่า  ข้อเขียนดีอยู่แล้ว  แต่จะดีมากถ้าจะเน้นเศรษฐกิจเป็นหลัก  เพราะส่วนอื่นมีหน้าอื่นเขียนอยู่ แต่โดยรวมดีอยู่แล้ว
   
       
บทความของคุณทำให้ตระหนักถึงจิตวิญญาณของความเป็นไทย รู้รักสามัคคี อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกสังคมต้องรับสร้างสรรค์ เพื่อจรรโลงโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงในแง่แนวคิดแบบไร้จริยธรรม ที่กำลังคืบคลานเข้ามาแบบน่ากลัว ในโลกของวัตุุนิยมที่นำพาความเหลื่อมล้ำในสังคมทุกวันนี้ อยากให้สื่อมีสิ่งสร้างสรรค์แบบคุณตลอดไป   
      
ผมติดตามอ่าน คอลัมน์ กระจก 8 หน้า มา 2-3 เดือน ความคิดเห็นตรงใจในหลายๆ เรื่อง บอกตรงๆ ชอบครับ ส่วนข้อติ คงไม่มีอะไรมาก นอกจากการเขียนที่ดูตรงไปตรงมา บางทีรุนแรงไปนิด แต่รวมๆ ดีมากครับ
   
       “...
ผมชอบอ่านกระจกแปดหน้า เพราะเนื้อหาตรงประเด็น สั้น กระชับ และมีมุมมองน่าสนใจ สมเป็นแปดหน้าของกระจก ปีหน้าขอเพิ่มเป็น 16 หน้าเลยครับ   
      
ขอให้ไทยรัฐอยู่คู่คนไทยตลอดไป และคอลัมน์กระจก 8 หน้า ช่วยกระจายความชั่วช้าของนักการเมือง ที่มีแต่จะมากขึ้นตลอดไป
   
      
ผมเป็นแฟนประจำนสพ.ไทยรัฐ เพราะที่่บ้านรับทุกวันเพียงฉบับเดียว และอ่านคอลัมน์ของคุณทุกครั้ง ชอบอ่านในสิ่งที่คุณนำมาเขียน และวิจารณ์แบบตรงไปตรงมา ในบางเรื่องตรงกับใจผมมาก หวังว่าคุณคงเป็นกระบอกเสียง เพื่อให้คนไทยได้ทราบ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ (ไทย) และคนไทยต่อไป   
       
นสพ.ไทยรัฐ เป็นเสาหลักที่พึ่งให้คนไทย ร้องเรียน-เรียกร้อง ความยุติธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีอิทธิพล ใช้อำนาจในทางไม่ชอบ ปกป้องผลประโยชน์ของตน ขอบคุณมากครับ และคอลัมน์ "กระจก 8 หน้า" ก็เป็นอีกคอลัมน์ที่ผมชื่นชอบมาก เพราะสะท้อนปัญหาจริงๆ ของบ้านเมือง อย่างไม่บิดเบือน และขอบคุณมากครับ ที่ช่วยเขียนให้คนไทยรักกัน
   
      
ชอบคอลัมน์ "กระจก 8 หน้า" เพราะมีเนื้อหาวิเคราะห์ วิจารณ์เรื่องเศรษฐกิจที่เข้าใจง่าย และทำให้เห็นภาพรวมของเรื่องที่นำมาวิเคราะห์ จากคนที่ไม่เคยอ่านข่าวหน้าเศรษฐกิจไทยรัฐเลย แต่ตอนนี้อ่านทุกคอลัมน์ทั้งหน้า 8 และหน้า 9 ขอบคุณทีมข่าวเศรษฐกิจขไทยรัฐที่นำเสนอข่าวเศรษฐกิจให้ได้ดูทุกวันครับ

    
          ขอบคุณจริงๆ สำหรับคำติ/ชม เพราะเป็น กระจกอย่างดีที่สะท้อนความคิดเห็นของผู้อ่านให้ผู้เขียนได้รับทราบ 


    
         สัญญาค่ะว่า ปีนี้ ผู้เขียนทั้ง 4 รวมถึงนักข่่าวทุกคนในหน้าเศรษฐกิจจะทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง และดีที่สุด เพื่อให้หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐยังคงอยู่ในใจของผู้อ่านตลอดไป ขอบคุณค่ะ

                       


                                                              ฟันนี่เอส

                                                                                            3 ม.ค.56