วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

เรียกร้องความเป็นธรรม

















            เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตซ้ำอีกจนได้ สำหรับปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของไทย หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ The U.S. Department of Labor"s Bureau of International Labor Affairs (ILAB) ได้เผยแพร่รายงานการละเมิดและการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานผิดกฎหมายในการผลิตสินค้า 134 รายการจาก 74 ประเทศทั่วโลก

โดยระบุว่า ไทยเป็นอีก 1 ประเทศ ที่ใช้แรงงานเด็ก และแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมอาหารทะเล เครื่องนุ่งห่ม น้ำตาล และหนังสือประเภทตำราเรียน

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังเผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Tip Report) ประจำปี 55 โดยจัดให้ไทยอยู่ในบัญชี Tier 2 Watch List หรือประเทศที่ถูกจับตามอง
เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ยังใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการแก้ปัญหา

ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้านั้น หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนของไทย ได้แก้ไขปัญหาร่วมกับสหรัฐฯ และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อย่างต่อเนื่อง เพราะกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นวันสองวันนี้

อีกทั้ง กระทรวงแรงงานไทย ยังบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้แรงงานเด็ก แรงงานผิดกฎหมาย หรือแรงงานทาส อย่างเข้มงวด ซึ่งผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออก ต้องปฏิบัติตามทั้งกฎหมายในประเทศ และกฎระเบียบประเทศผู้นำเข้าอย่างเคร่งครัด หากไม่ปฏิบัติตาม อาจถูกสั่งห้ามนำเข้าสินค้า และสูญเสียตลาดได้

แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้สหรัฐฯพอใจ และปรับอันดับให้ไทยดีขึ้นเลย กรณีนี้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ และการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะอาหารทะเล และเครื่องนุ่งห่ม ที่มีสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกหลัก นำรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท เพราะอาจทำให้ผู้นำเข้าไม่มั่นใจนำเข้าอีกต่อไป

            ขณะเดียวกัน ทางการสหรัฐฯ อาจใช้เป็นข้ออ้างประกาศใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับสินค้าไทย เช่น สั่งห้ามนำเข้า หรือตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เป็นต้น

            แต่จะว่าไปแล้ว การดำเนินการของสหรัฐฯเช่นนี้ ไม่เกินความคาดหมาย เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (NTB) ที่นานาประเทศใช้กันอยู่

 แม้จะไม่ผิดกฎ กติกาการค้าโลก แต่สหรัฐฯน่าจะให้ความเป็นธรรมกับประเทศไทย และผู้ประกอบการไทยบ้าง การที่สินค้าไทยขายดีจนต้องเพิ่มปริมาณนำเข้าทุกปี เพราะสินค้าไทยมีมาตรฐาน ถูกรสนิยมผู้บริโภค ถือเป็นความผิดของผู้ประกอบการไทยหรือ










 โดยเฉพาะกุ้งสดแช่แย็นแช่แข็ง และแปรรูป ที่ขายดีมาก แต่ผู้ส่งอกกลับประสบวิบากกรรมสารพัด ทั้งถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด หรือถูกตัด GSP แล้วยังมีปัญหาแรงงานผิดกฎหมายอีก ซึ่งไม่ได้มีแต่ไทยเท่านั้นที่เกิดปัญหาเช่นนี้ คู่แข่งของไทยหลายประเทศ ล้วนมีปัญหาเช่นเดียวกันหมด เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย เอกวาดอร์ ฯลฯ

 คิดกันเล่นๆ ว่า สหรัฐฯจะใช้มาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าไทยหรือไม่ หากสินค้านั้นขายไม่ดี และปริมาณการนำเข้าไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตไม่ได้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบที่สหรรัฐฯกำหนด

  
                 ฟันนี่เอส

                                                                                17 ม.ค. 56

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น