วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ขายข้าวรัฐโปร่งใส


                                                         











            ตอนนี้ แผนการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจาก นางดวงพร รอดพยาธิ์ที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์ ได้รับการแต่งตั้งจาก นางสาวชุติมา บุณยประภัศรปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ ให้เป็น รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

             เพียงไม่กี่วันให้หลัง รักษาอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เริ่มเปิดหน้าชี้แจงการบริหารจัดการข้าวในสต๊อกรัฐบาล ที่มีราว 18 ล้านตันข้าวสารทันที

            เพราะขณะนี้เกิดความสับสน และสังคมใคร่รู้มากว่า ข้าวสารมากขนาดนั้น กระทรวงพาณิชย์จะบริหารจัดการอย่างไรให้โปร่งใส เปิดเผยมากที่สุด และสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนดำเนินการ

            ซึ่งนับจากนี้ การระบายข้าวในสต๊อก ยังคงใช้วิธีการเดิม ทั้งการประมูลเป็นการทั่วไป การประมูลผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟต) การให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ขอซื้อมายังกรมฯได้โดยตรง การขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และการขายหรือบริจาคให้องค์กรต่างๆ











                 คาดจะระบายได้ตั้งแต่เดือนส.ค.นี้เป็นต้นไป ไม่ต้องรอให้ตรวจสอบสต๊อกเสร็จสิ้นก่อน เพราะการตรวจสอบขณะนี้ ทราบถึงปริมาณข้าวดี ข้าวเสื่อม และความมีอยู่จริงของข้าว ทำให้วางแผนการระบายได้แล้ว

              แม้วิธีการระบายยังเหมือนเดิม แต่ความต่างจากที่ผ่านๆ มาอยู่ตรงที่ นับจากนี้ จะไม่มี เงินทอนอีกแล้ว!!

             นางดวงพรขยายความว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย้ำนักหนาว่า การขายข้าวนับจากนี้ไป อย่าให้มีเงินทอนเหลือให้ผู้ซื้อไปจ่ายให้คนอื่น ผู้ซื้อเสนอราคาเต็มๆ ได้เลย เงินจะได้เข้ารัฐเต็มจำนวน ไม่รั่วไหลเข้ากระเป๋าใคร







              ที่สำคัญ ตนทำงานอย่างตรงไปตรงมามาโดยตลอด การทำอะไรแบบลับๆ หรือทำแบบไม่โปร่งใส ทำไม่เป็น แม้จะรับราชการที่กองข้าว กรมการค้าต่างประเทศ มาเกือบ 20 ปีก็ตาม

              ส่วนการขายจีทูจี แบบหน้าคลังสินค้า (เอ็กซ์ แวร์เฮาส์) ที่เปิดช่องให้ทุจริต เอาข้าวไปเวียนขายในประเทศแทนการส่งออกนั้น นางดวงพร ระบุว่า สามารถขายได้ แต่ผู้ซื้อ ต้องส่งออกข้าวออกจากประเทศไทยเท่านั้น โดยนำใบส่งออกมาแสดงต่อกรมฯเป็นหลักฐานว่าส่งออกจริง ไม่สามารถเอามาขายในประเทศได้

             อย่างไรก็ตาม การขายข้าวครั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องเร่งขาย ในแต่ละเดือนตั้งเป้าขายให้ได้ 500,000-600,000 ตัน เพื่อไม่ให้ปริมาณข้าวเข้าสู่ตลาดมากเกินไป จนกดให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำ คาดว่า จะใช้เวลาราว 3 ปีจึงจะระบายสต๊อกออกหมด!!

             ”นางดวงพรยอมรับว่า แม้สต๊อกข้าวจะมีมาก แต่ไม่ใช่เรื่องหนักใจ เพราะขณะนี้ ความต้องการซื้อมีมาก และหลายประเทศติดต่อขอซื้อแบบจีทูจีเข้ามาแล้ว

             ไม่หนักใจว่าข้าว 18 ล้านตันจะขายยาก หรือเป็นภาระในการบริหารจัดการ แต่อาจกลายเป็นทรัพย์สินอันมีค่า เพราะคาดว่า ใน 6 เดือนหลังของปีนี้ หลายประเทศจะขาดข้าว ผู้ผลิตหลายประเทศผลผลิตข้าวอาจลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ขณะที่อินเดีย ชะลอการส่งออก จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะระบายสต๊อก และทวงส่วนแบ่งตลาดข้าวที่เสียไปให้กับคู่แข่งกลับคืนมา

            ย้ำกันชัดๆ หนักๆ แบบนี้ เชื่อขนมกินได้เลยว่า การขายข้าวยุค คสช.จะโปร่งใส ตรวจสอบได้แน่นอน!!



                                                                                       ฟันนี่เอส


                                                17 ก.ค. 57

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สหรัฐฯยังไม่แบนสินค้าไทย











            ก่อนอื่นต้องขอแก้ไขเนื้อหาคอลัมน์เมื่อวันที่ 3 ก.ค.57 ที่เขียนถึงการบริหารจัดการสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ที่กรมการค้าต่างประเทศ อยู่ระหว่างร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ โดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.การส่งออกไปนอกฯ กำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทาง ต้องขออนุญาตส่งออก

                 ขอย้ำว่า การร่างประกาศดังกล่าว เพื่อบริหารจัดการเฉพาะการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ไม่ใช่คุมนำเข้าด้วย ดังนั้น ผู้นำเข้าสินค้านี้ไม่ต้องกังวล ยังคงนำเข้าได้ตามปกติ

                 ส่วนสัปดาห์นี้ ขอเขียนถึงการค้าที่เกี่ยวข้องกับแรงงานอีกครั้ง เพราะหลังจากที่สหรัฐฯจัดให้ไทยอยู่ระดับ 3 (Tier 3) ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ปี 57  ผู้ส่งออกกังวลมากว่า สหรัฐฯอาจใช้มาตรการกีดกันนำเข้า หรือตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ให้กับสินค้าไทย






                 รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯจัดทำขึ้น ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ (TVPA 2000)  ซึ่งภายใต้กฎหมายนี้ เมื่อประเทศใดอยู่ใน Tier 3 จะให้อำนาจประธานาธิบดี ระงับการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นที่ไม่ใช่มนุษยธรรม และการค้า เช่น ไม่ให้เงินสนับสนุนการศึกษา และวัฒนธรรมหรือคัดค้านกรณีที่ประเทศนั้นได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ อย่าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก

                โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯมีเวลา 90 วันนับตั้งแต่เผยแพร่รายงานฯ ในการพิจารณาระงับความช่วยเหลือไทย ขณะนี้ ไทยอยู่ระหว่างการรอผลพิจารณาลงโทษดังกล่าว

      ส่วนที่กลัวว่าสหรัฐฯจะยกเรื่องนี้มาตัด GSPนั้น กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา ย้ำว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะ TVPA ไม่อนุญาตให้เพิกถอนสิทธิประโยชน์ และความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการค้าใดๆ ทั้งสิ้น

    อีกทั้ง  การจะห้ามนำเข้าสินค้าไทย โดยอ้างเหตุที่ไม่เกี่ยวกับการค้า เช่น ปกป้องสิ่งแวดล้อม หรือคุ้มครองแรงงาน ก็ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติองค์การการค้าโลก (WTO) หากสหรัฐฯห้ามนำเข้าจริง ไทยมีสิทธิ์ฟ้องร้องได้






   สำหรับการที่สมาพันธ์แรงงานสหรัฐฯ ยื่นคำร้องต่อคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ให้ถอดถอนไทยออกจากประเทศที่ได้รับGSP เพราะไทยไม่คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล ตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศนั้น

   กรมการค้าต่างประเทศ ยืนยันว่า กรณีนี้เกี่ยวข้องกับสิทธิแรงงาน ไม่ใช่การค้ามนุษย์ โดยสหรัฐฯ ต้องการให้ไทยแก้ไข พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ และ พ.ร.บ. รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวมถึงให้สัตยาบรรณอนุสัญญาแรงงานสากล

   แต่ขณะนี้ USTR ยังไม่ได้รับคำร้องดังกล่าว รอให้ต่ออายุโครงการ GSP ก่อน โดยโครงการ GSP ล่าสุดของสหรัฐฯ หมดอายุวันที่ 31 ก.ค.57 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผ่านความเห็นชอบต่ออายุโครงการจากวุฒิสภา

  ดังนั้น ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องอย่าวิตกกังวลกับเรื่องนี้ ยังสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯได้ตามปกติ



                                                        ฟันนี่เอส


                                                    10 ก.ค. 57