วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

ไรซ์ เทรด โซนมาแล้ว!


 






 

  ตอนนี้ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กำลังเร่งทำแผนความร่วมมือด้านข้าวทั้งระบบ ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ไปจนถึงขั้นทำการตลาดร่วมกัน กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ทั้งลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

 

  เพื่อสร้างเสถียรภาพการผลิต การค้า และราคาข้าวของอาเซียนในตลาดโลก ถือเป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกรอาเซียน และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบการค้าข้าวของอาเซียน ก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืนในอนาคต

 
 
 
 
 

  โดยสิ่งที่กรมฯกำลังดำเนินการคือ ลงพื้นที่สำรวจ และศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งเขตการค้าข้าวพิเศษ (Rice Trade Zone) ตามแนวชายแดนไทยกับกัมพูชาเป็นอันดับแรก โดยได้สำรวจในพื้นที่จ.บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด และพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของกัมพูชา รวมถึงศึกษาเส้นทางการขนส่งระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะเสนอให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์พิจารณา จากนั้นจะขยายไปจัดตั้งเขตดังกล่าวตามแนวชายแดนไทยกับเพื่อนบ้านอื่นต่อไป

 

  สำหรับรูปแบบของการดำเนินการจัดตั้งเขตการค้าข้าวพิเศษนั้น จะกำหนดให้พื้นที่บริเวณชายแดนบางจุดสามารถเปิดรับข้าวเปลือกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอบความชื้น สีแปรสภาพเป็นข้าวสาร และทำตลาดส่งออกได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 
 
 
 
 
 
 
 
 

  ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ อาจทำให้คนในวงการข้าวของไทยบางส่วนไม่เห็นด้วย และอาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า ทำไมจึงต้องเอาข้าวของประเทศเพื่อนบ้านมาส่งออกให้ด้วย และรัฐจะมีวิธีป้องกันอย่างไรไม่ให้ข้าวของเพื่อนบ้านหลุดรอดออกมาจากพื้นที่พิเศษ และมาขายในตลาดในประเทศ
 
  ตรงจุดนี้ กรมฯได้หาทางออกแล้ว โดยจะกำหนดเป็นข้อห้ามการเคลื่อนย้ายข้าวออกจากพื้นที่พิเศษโดยเด็ดขาด!! เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำข้าวดังกล่าว มาเวียนเทียนขายในประเทศ จนทำให้ตลาดข้าวของไทยเสียหาย
 
 
 
 
 
  นอกจากนี้ ยังได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะนำเข้าข้าวของเพื่อนบ้านด้วย ไม่ใช่เป็นใครก็ได้ แต่จะต้องเป็นผู้ค้าที่ขึ้นทะเบียนกับกรมฯแล้ว เช่น โรงสี ผู้ส่งออก ต้องส่งแผนการนำเข้าให้กรมฯพิจารณา และอาจกำหนดให้เข้มงวดไปถึง รถบรรทุกที่นำเข้าอาจต้องติดตั้งอุปกรณ์จีพีเอสให้สามารถตรวจสอบได้อย่างแม่นยำด้วยว่า ขนส่งข้าวไปยังพื้นที่พิเศษจริงหรือไม่ หรือออกนอกเส้นทาง
 
 
 
 
 
  ส่วนเหตุที่ต้องทำตลาดให้ข้าวของประเทศเพื่อนบ้านก็เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้าข้าวของเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ข้าวของเกษตรกรไทยเข้าโครงการรับจำนำของรัฐบาล เพราะการรับซื้อโดยตรง ในราคาตลาด จะทำให้ข้าวของเพื่อนบ้านมีช่องทางขายได้มากขึ้น และขายได้ในราคาดีขึ้น ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาของประเทศเพื่อนบ้านได้อีกทางหนึ่ง
 
  และที่สำคัญ จะทำให้ปัญหาขายข้าวตัดราคาข้าวไทยในตลาดโลกหมดไป ทำให้ราคาข้าวไทย และข้าวอาเซียนขายได้ในราคาสูงขึ้น และมีเสถียรภาพ
 
  โครงการสวยหรูแบบนี้ ถ้าทำได้จริง จะเป็นประโยชน์ต่อไทยและเพื่อนบ้านมาก ติดอยู่แค่ว่า จะทำได้จริงหรือเปล่า ก็แค่นั้น
 
 
 
 
      ฟันนี่เอส
 
 
                                                             20 ก.ย.55

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

คำชมจากยูเนสโก


 











 
 
 
 

              ไม่น่าเชื่อ! นโยบายแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 ของรัฐบาล หรือโครงการ One Tablet PC Per Child ภายใต้แนวคิด “เติมปัญญาด้วยเทคโนโลยี” ที่ถูกโจมตีอย่างมาก จะได้รับการสนับสนุน และชื่นชมจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก

 

              โดยในการประชุมรัฐมนตรีเอเชียแปซิฟิกด้านไอซีทีในการพัฒนาการศึกษา (AMFIE) ประจำปี 2555 ในหัวข้อ พลังของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีต่อนโยบายการศึกษา-การประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานด้านการศึกษา" จัดโดยยูเนสโก กรุงเทพฯ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) เมื่อวันก่อน

 
 
 
 
 

              ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก นางอิรินา จอร์จิเอวา โบโควา ถึงกับออกปากยกย่องรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่า โครงการแจกแท็บเล็ตให้เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาของรัฐบาลไทยไม่ต่างอะไรกับ การปฏิวัติวงการศึกษา

 

              เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) เป็นสิ่งจำเป็นมาก ไม่ได้สำคัญเฉพาะแต่ครูและเด็กเท่านั้น แต่รวมถึงคนในครอบครัวด้วย ดังนั้น แท็บเล็ตจึงไม่ควรใช้เฉพาะด้านการศึกษา แต่ควรครอบคลุมองค์ความรู้ในเรื่องการประกอบอาชีพด้วย

 


 




  สำคัญ โครงการดังกล่าว ยังสอดคล้องกับแนวทางของยูเนสโก ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการนำไอซีทีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา แต่ไทยต้องพัฒนาศักยภาพของครูในท้องถิ่น และสื่อดิจิตอลโดยเร็วด้วย ขณะเดียวกัน ยูเนสโกพร้อมจะศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำโครงการนี้ไปเป็นแม่แบบประยุกต์ใช้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่อไป

 

              ”ฟันนี่เอส” ฟังแล้วก็อดดีใจ และยิ้มหวานไปกับรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ เพราะคำชื่นชมนี้ไม่ใช่ของคนไทย ที่มีแต่ติเตียนนโยบายรัฐบาลไปซะทุกเรื่อง แต่เป็นคำชื่นชมยินดีจากองค์กรระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียง

 

  แต่ก็ไม่อยากให้รัฐบาลหลงระเริงกับคำชม จนลืมปรับปรุง และพัฒนาโครงการให้ดีขึ้น โดยเฉพาะคุณภาพ หรือสเปกต์ของแท็บเล็ต และเนื้อหาสาระที่ต้องการให้เด็กๆ ได้ศึกษาเล่าเรียน

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

              เพราะเพิ่งจะแจกแท็บเล็ตได้ไม่นาน มีการแฉสารพัดปัญหากันแล้ว เช่น ไม่มีระบบตัดไฟ ภายหลังการชาร์จแบตเตอรี่เต็มแล้ว ซึ่งจะทำให้เครื่องรีชาร์จไปเรื่อยๆ จนเครื่องเสื่อมคุณภาพเร็ว และยังอาจเกิดไฟดูดผู้ใช้ได้ เพราะตัวเครื่องทำจากอะลูมิเนียมนำไฟฟ้า

 

  หรือบางเครื่องแบตเตอรี่ใช้งานต่อเนื่องได้เพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ทั้งที่ตามสเปกต์แล้วต้องใช้งานต่อเนื่องได้นานถึง 6 ชั่วโมง ไม่มีรับการรับรองทางการแพทย์เรื่องการแผ่รังสี ที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หรือ บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ ผู้ผลิตมั่วแปลคำเตือนเป็นภาษาไทยอย่างผิดๆ อ่านไม่ได้ความหมาย

 
 
 
 
 
 

  สิ่งเหล่านี้ไม่รู้ว่าเกิดจากบริษัทผู้ผลิตมั่วนิ่มทำไม่ได้ตามสเปกต์เอง หรือว่าเงินค่าจ้างผลิตไม่ถึง เพราะมีการกินหัวคิว หรือเรียกรับเงินใต้โต๊ะกันแน่!!

 

  ถ้าเป็นเหตุผลแรกก็ต้องเข้มงวดกวดขันบริษัท ผลิตให้ตรงสเปกต์ ถ้าไม่ได้ต้องเล่นไม้แข็งเลิกว่าจ้างกันไป แต่ถ้าเป็นเหตุผลหลัง นายกรัฐมนตรีต้องเล่นงานคนผิดให้หนัก อย่าให้เสียชื่อโครงการดีๆ แบบนี้เลย

                       

 

 

     ฟันนี่เอส

 

 

                                                     13 ก.ย. 55

ถึงเวลาอาเซียน+6


 

 

 


 




 
 
 
 
 
 
 


 

         สัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสเดินทางไปทำข่าวการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers Meeting: AEM) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เฮ้อ!เห็นแล้วเหนื่อยแทนผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน ไล่ตั้งแต่รัฐมนตรีไปจนถึงเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะข้าราชการกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องเตรียมการประชุมกันวันต่อวัน แบบหามรุ่งหามค่ำ ลืมตัวลืมตายกันจริงๆ

 
          ส่วนผลการประชุม AEM นั้น รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ได้เร่งรัดให้สมาชิกทั้ง 10 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม ดำเนินการตามแผนการไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภายในปี 58

 







 

         เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีกว่าเท่านั้น แต่สมาชิกยังดำเนินการล่าช้ากว่าแผนมาก โดยภาพรวมอาเซียนทำได้ตามแผนประมาณ 72% ส่วนไทยทำได้เกือบ 80% ขณะที่บางประเทศ ยังทำได้เพียง 50-60% เท่านั้น

 
         เรื่องที่ยังล่าช้า เช่น การอำนวยความสะดวกสินค้าผ่านแดน การปรับมาตรฐานสินค้า การเปิดเสรีการค้าบริการ การจัดตั้งกลไกเพื่อดูแลการยกเลิกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) การตั้งระบบศุลกากรหน้าต่างเดียว (ASEAN Single Window) เป็นต้น

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 



















         นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เพิ่มสาขาธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME) เป็นสาขาที่เร่งรัดการรวมกลุ่ม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เป็นลำดับที่ 13 ต่อจาก 12 สาขาแรกที่เร่งรัดการรวมกลุ่มไปแล้ว เช่น การเกษตร ท่องเที่ยว การบิน โลจิสติกส์ เป็นต้น โดยจะไปที่แต่ละประเทศต้องสนับสนุนให้ SME เข้าถึงเงินทุนด้วยต้นทุนไม่สูง หรือมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงรัฐบาลประเทศสมาชิกต้องมีนโยบายสนับสนุน และผลักดันให้ SME ใช้ประโยชน์จาก AEC 

 
         ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญทำให้ SME อยู่รอดได้!! เพราะการเป็นเออีซี ที่มีการเปิดเสรีเต็มรูปแบบทั้งด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน และเงินทุนแล้ว หากใครไม่เข้มแข็ง ธุรกิจก็อาจไปไม่รอด






 

        อีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องดีสำหรับการประชุมครั้งนี้คือ การหาแนวทางลดปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การค้าขายในอาเซียนไม่คล่องตัว เพราะการเปิดเสรี หรือการไม่มีกำแพงภาษีมาขวางกั้นสินค้านำเข้า ทำให้ทุกประเทศต้องหามาตรการป้องกัน ไม่ให้สินค้าจากประเทศอื่นทะลักเข้าสู่ประเทศตนเองจนผู้ผลิตในประเทศได้รับผลกระทบ

 

         ดังนั้น จึงต้องป้องกันโดยคิดหามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี เพื่อก่อให้เกิดอุปสรรคในการนำเข้า แต่ที่ประชุมมีข้อตกลงร่วมกันที่จะนำมาตรการกีดกันที่ได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชนมาใส่ไว้ในเว็บไซต์ของอาเซียน เพื่อให้ประเทศที่ใช้มาตรการชี้แจง และดำเนินการแก้ไขต่อไป

 

 

          แต่ที่น่าจะสำคัญีอีกเรื่องคือ การที่ AEM เห็นพ้องต้องกันที่จะเร่ิมทำข้อตกลงเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับ 6 ประเทศที่เป็นคู่เจรจา FTA กับอาเซียนอยู่แล้ว คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่เรียกว่า อาเซียน+6 หรือ RCEP  โดยจะให้ผู้นำอาเซียนประกาศเริ่มต้นเจรจาในการประชุมอาเซียน ซัมมิต เดือนพ.ย.นี้ โดนตั้งเป้าเจรจาต้นปี 56 แล้วเสร็จในปี 58

 

        ถ้าความตกลง RCEP ประสบความสำเร็จ จะทำให้อาเซียน+6 กลายเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่มาก โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันสูงถึง 17.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่า คนไทยจะค้าขายกับประเทศในกลุ่ม RCEP ได้เงินเพิ่มขึ้นกว่า 255,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 56% ของยอดรวมการค้าไทย และจีดีพีไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 4.03%

 
          ยุคนี้ใครๆ ก็ว่าได้เวลาที่เอเชียจะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำของเศรษฐกิจโลกแล้ว ไม่เชื่อก็คอยดู!!

 

 

                                                                      ฟันนี่เอส

 

                                                                     6 ก.ย.55