วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ถึงเวลาอาเซียน+6


 

 

 


 




 
 
 
 
 
 
 


 

         สัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสเดินทางไปทำข่าวการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers Meeting: AEM) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เฮ้อ!เห็นแล้วเหนื่อยแทนผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน ไล่ตั้งแต่รัฐมนตรีไปจนถึงเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะข้าราชการกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องเตรียมการประชุมกันวันต่อวัน แบบหามรุ่งหามค่ำ ลืมตัวลืมตายกันจริงๆ

 
          ส่วนผลการประชุม AEM นั้น รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ได้เร่งรัดให้สมาชิกทั้ง 10 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม ดำเนินการตามแผนการไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภายในปี 58

 







 

         เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีกว่าเท่านั้น แต่สมาชิกยังดำเนินการล่าช้ากว่าแผนมาก โดยภาพรวมอาเซียนทำได้ตามแผนประมาณ 72% ส่วนไทยทำได้เกือบ 80% ขณะที่บางประเทศ ยังทำได้เพียง 50-60% เท่านั้น

 
         เรื่องที่ยังล่าช้า เช่น การอำนวยความสะดวกสินค้าผ่านแดน การปรับมาตรฐานสินค้า การเปิดเสรีการค้าบริการ การจัดตั้งกลไกเพื่อดูแลการยกเลิกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) การตั้งระบบศุลกากรหน้าต่างเดียว (ASEAN Single Window) เป็นต้น

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 



















         นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เพิ่มสาขาธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME) เป็นสาขาที่เร่งรัดการรวมกลุ่ม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เป็นลำดับที่ 13 ต่อจาก 12 สาขาแรกที่เร่งรัดการรวมกลุ่มไปแล้ว เช่น การเกษตร ท่องเที่ยว การบิน โลจิสติกส์ เป็นต้น โดยจะไปที่แต่ละประเทศต้องสนับสนุนให้ SME เข้าถึงเงินทุนด้วยต้นทุนไม่สูง หรือมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงรัฐบาลประเทศสมาชิกต้องมีนโยบายสนับสนุน และผลักดันให้ SME ใช้ประโยชน์จาก AEC 

 
         ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญทำให้ SME อยู่รอดได้!! เพราะการเป็นเออีซี ที่มีการเปิดเสรีเต็มรูปแบบทั้งด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน และเงินทุนแล้ว หากใครไม่เข้มแข็ง ธุรกิจก็อาจไปไม่รอด






 

        อีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องดีสำหรับการประชุมครั้งนี้คือ การหาแนวทางลดปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การค้าขายในอาเซียนไม่คล่องตัว เพราะการเปิดเสรี หรือการไม่มีกำแพงภาษีมาขวางกั้นสินค้านำเข้า ทำให้ทุกประเทศต้องหามาตรการป้องกัน ไม่ให้สินค้าจากประเทศอื่นทะลักเข้าสู่ประเทศตนเองจนผู้ผลิตในประเทศได้รับผลกระทบ

 

         ดังนั้น จึงต้องป้องกันโดยคิดหามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี เพื่อก่อให้เกิดอุปสรรคในการนำเข้า แต่ที่ประชุมมีข้อตกลงร่วมกันที่จะนำมาตรการกีดกันที่ได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชนมาใส่ไว้ในเว็บไซต์ของอาเซียน เพื่อให้ประเทศที่ใช้มาตรการชี้แจง และดำเนินการแก้ไขต่อไป

 

 

          แต่ที่น่าจะสำคัญีอีกเรื่องคือ การที่ AEM เห็นพ้องต้องกันที่จะเร่ิมทำข้อตกลงเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับ 6 ประเทศที่เป็นคู่เจรจา FTA กับอาเซียนอยู่แล้ว คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่เรียกว่า อาเซียน+6 หรือ RCEP  โดยจะให้ผู้นำอาเซียนประกาศเริ่มต้นเจรจาในการประชุมอาเซียน ซัมมิต เดือนพ.ย.นี้ โดนตั้งเป้าเจรจาต้นปี 56 แล้วเสร็จในปี 58

 

        ถ้าความตกลง RCEP ประสบความสำเร็จ จะทำให้อาเซียน+6 กลายเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่มาก โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันสูงถึง 17.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่า คนไทยจะค้าขายกับประเทศในกลุ่ม RCEP ได้เงินเพิ่มขึ้นกว่า 255,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 56% ของยอดรวมการค้าไทย และจีดีพีไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 4.03%

 
          ยุคนี้ใครๆ ก็ว่าได้เวลาที่เอเชียจะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำของเศรษฐกิจโลกแล้ว ไม่เชื่อก็คอยดู!!

 

 

                                                                      ฟันนี่เอส

 

                                                                     6 ก.ย.55

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น