วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ผู้ส่งออกต้องช่วยตัวเอง!






            จนถึงวันนี้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า จนกระทบกับภาคการส่งออกอย่างมากนั้น ยังไม่มีวี่แววว่าจะลงเอยอย่างไร และเมื่อไร มิหนำซ้ำ หน่วยงานที่ดูแลค่าเงินบาท ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา

แม้หลายฝ่าย เช่น นักวิชาการ หรือรัฐบาลได้เปลี่ยนตัว ผู้เล่นผลัดกันออกมากดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แก้ปัญหาด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างมีผลกระทบ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

เพราะธปท.ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลเฉพาะภาคการส่งออก แต่จะต้องดูแลเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ ดังนั้น ไม่ว่ามาตรการใดที่ธปท.จะนำออกมาใช้ จึงต้องผ่านการขบคิดพินิจพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และรอบด้านก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริม และผลักดันการส่งออกของไทย ได้พยายามหาทางช่วยเหลือผู้ส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งสัปดาห์ก่อน ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ระดมความคิดเห็น “พาณิชย์ช่วยผู้ส่งออก เอสเอ็มอีจากวิกฤติค่าเงินบาท

โดยได้เชิญเอสเอ็มอี ในอุตสาหกรรมต่างๆ ราว 300 ราย เช่น เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว เป็นต้น เข้าร่วมงานด้วย 

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือหลากหลาย ทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยระยะสั้น จะให้ความรู้ในการปรับตัวและบริหารจัดการเพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงจากค่าเงิน ส่วนระยะยาว จะให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การขยายตลาด และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า

ส่งผลให้เอสเอ็มอี สามารถวางแผนและรับมือกับปัญหาเงินบาทแข็งค่าได้อย่าง ถูกต้อง และรับรู้ว่ากระทรวงพาณิชย์มีแผนในการให้ความช่วยเหลือ

โดยเฉพาะโครงการเอสเอ็มอี โปรแอคทีฟ (SMEs Proactive) หรือโครงการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพของเอสเอ็มอีในการทำตลาดส่งออกไปต่างประเทศ โดยมีเงินจากกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้การสนับสนุน 300 ล้านบาท ภายใน 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 56 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์ จะประชุมเรื่อง การผลักดันการใช้เงินบาทในการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า ลดผลกระทบให้กับผู้ส่งออก และช่วยผลักดันการส่งออกการค้าชายแดน โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมหารือด้วย










            หากสามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย ใช้เงินบาทในการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านได้แล้ว น่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการกำหนดราคาขาย จากค่าเงินบาทที่ผันผวนได้ และยังทำให้เป้าหมายการขยายตัวของมูลค่าการค้าชายแดนที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ 12. ล้านล้านบาทในปีนี้ มีโอกาสเป็นไปได้มากแน่นอน

          ไม่ว่าใครจะนิ่งเฉย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน หรือใครจะดิ้นรนแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผู้ส่งออกต้องทำคือ ความพยายามในการช่วยตัวเอง ไม่ใช่นั่งงอมืองอเท้า รอพระเจ้ามาโปรด เพราะก็ไม่รู้ว่าเมื่อไร พระเจ้าที่ว่าจะมาโปรด หรือจะมาช่วยแก้ปัญหาให้เสียที   


                                                                       
                                                                                           ฟันนี่เอส


                                                                                         23 พ.ค. 56

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น