วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คุมค่าซ่อมรถจมน้ำ





 
   หลังจากน้ำที่ท่วมขังลดลงแล้วในหลายพื้นที่ ภาพที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ อู่ซ่อมรถยนต์ แน่นขนัดไปด้วยรถยนต์ที่จมน้ำ รอคิวซ่อมกันอยู่

   สำหรับรถยนต์มีประกันชั้น 1 เจ้าของรถคลายความกังวลได้ เพราะบริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบให้สูงสุดเต็มทุนประกันที่ทำไว้ แต่สำหรับรายที่ทำประกันประเภท 2 และประเภท 3 ก็ต้องซ่อมเอง บริษัทประกันภัยจะคุ้มครองความเสียหายเฉพาะตามที่ได้ซื้อภัยไว้เท่านั้น

  แน่นอนว่า เจ้าของรถกลุ่มหลังนี้คงต้องปวดหัวกับค่าซ่อม ที่ไม่รู้ว่าจะบานปลายไปแค่ไหน และไม่รู้ว่า อู่ที่เข้าไปซ่อมจะไว้ใจได้เพียงใด และจะถูกเอาเปรียบโขกค่าซ่อมเกินจริงหรือไม่

  แต่หน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยโดยตรง อย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ จึงได้ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย และสมาคมสหมิตรอู่ซ่อมรถยนต์ กำหนดราคากลางค่าซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม

  เพื่อใช้เป็นราคาอ้างอิง หรือบรรทัดฐานในการซ่อมรถยนต์ ทำให้ผู้เอาประกันภัย และเจ้าของรถที่ถูกน้ำท่วมไม่ถูกเอาเปรียบ สามารถนำรถเข้าซ่อมได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาประเมินราคาให้ยุ่งยาก









   โดยราคากลางที่กำหนดนั้นแบ่งเป็น 4 ระดับคือ กรณีรถจมน้ำถึงพื้นและที่นั่ง ค่าซ่อมอยู่ที่ 8,000-10,000 บาท มีรายการซ่อม 15 รายการ เช่น ถอดพรมซักล้าง อบแห้ง เป็นต้น กรณีน้ำท่วมถึงเบาะ ค่าซ่อม 15,000-20,000 บาท เช่น ถ่ายน้ำมันเครื่องเกียร์เฟืองท้าย ถอดทำความสะอาดแผงประตู 4 บาน เป็นต้น

   กรณีน้ำท่วมถึงหน้าปัดเรือนไมล์ และคอนโซล ค่าซ่อม 20,000-30,000 บาท มีรายการซ่อม 39 รายการ เช่น ไล่น้ำจากเครื่องยนต์ ท่อไอดี เช็กระบบไฟ เป็นต้น และน้ำท่วมถึงหลังคาหรือมิดคัน ค่าซ่อม ค่าอะไหล่ไม่เกิน 70% ของราคารถ 

  เมื่อเห็นราคากลางนี้แล้ว น่าจะทำให้เจ้าของรถโล่งใจได้เปราะหนึ่ง เพราะเป็นราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ที่สำคัญ จะได้ไม่เสียรู้อู่ซ่อมรถ ที่ชอบโก่งราคาเป็นว่าเล่น และหากินกับความไม่รู้ของคน

  แต่ก็มีจุดอ่อนอยู่นิดตรงที่ ราคากลางนี้จะใช้เป็นราคาอ้างอิงได้เฉพาะกับอู่ที่เป็นสมาชิกของสมาคมสหมิตร ซึ่งเป็นอู่ในเครือบริษัทประกัน และอู่กลางทั่วประเทศ 500-600 แห่งเท่านั้น ส่วนอู่ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ก็แล้วแต่จะตกลงกันเองระหว่างเจ้าของรถ กับอู่ซ่อม

  “ฟันนี่เอส” แนะนำว่า อู่ไหนที่โขกราคาเกินจริง อย่าไปใช้บริการเป็นดีที่สุด แต่ถ้าถอนตัวไม่ทัน โดนฟันเงินไปแล้ว ก็ควรร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้เล่นงานเอาผิดกันไปเลย อย่าปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด!!

 นอกจากปัญหาราคาซ่อมรถแล้ว ยังแว่วๆ ว่า ศูนย์ซ่อมรถยนต์หลายบริษัท ไม่รับซ่อมรถยนต์จมน้ำ เพราะอ้างว่ามีความยุ่งยากมากในการซ่อม ต้องถอดระบบต่างๆ ออกมาทำใหม่ทั้งหมด ยิ่งระบบไฟฟ้า หรือสมองกลด้วยแล้วยิ่งยากใหญ่ ทำให้ใช้เวลาซ่อมนานนับเดือน และไม่อยากซ่อมให้

 ในภาวการณ์เช่นนี้ ศูนย์ฯน่าจะเห็นใจกันบ้าง เจ้าของรถใหม่ร้อยทั้งร้อยต้องการซ่อมที่ศูนย์ฯทั้งนั้น ดูๆ แล้ว ศูนย์ฯไม่เสียอะไรเลย นอกจากเวลานิดๆ หน่อยๆ เพราะเมื่อซ่อมเสร็จแล้ว ศูนย์ฯก็ไปเอาเงินกับบริษัทประกันภัยได้ ทำอย่างนี้ เท่ากับปิดทางซ่อมรถกันเลย น่าจะเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง

 กรณีนี้คงไม่มีหน่วยงานใดช่วยได้ นอกจากช่วยกันกระตุกจิตสำนึกให้คิดถึงคนเดือดร้อน และมีใจคิดช่วยเหลือกันบ้าง อย่าซ้ำเติมกันเลย ใครๆ ก็ว่าคนไทยไม่เคยทิ้งกันอยู่แล้ว จริงเปล่า?


                                                ฟันนี่เอส

                                      1 ธ.ค.54
                                                           (ขออภัยบทความย้อนหลัง เนื่องภาวะน้ำท่วม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น