วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

แก้ปัญหาจานด่วนแพง!









ช่วงนี้ ได้ยินแต่เสียงบ่นดังๆ ของคนทั่วไป ว่าราคาอาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารจานด่วน ที่ซื้อกินนอกบ้านแพงขึ้นทุกวันๆ เงิน 100 บาท เอาเข้าจริง ซื้อได้เพียง 2 จาน เพราะขนาดร้านอาหารเพิงหมาแหงนริมถนน ยังเริ่มต้นจานละ 40 บาท รวม 2 จานก็ 80 บาทแล้ว ถ้ามีไข่เจียว ไข่ดาวอีก ไม่มีเงินเหลือกินน้ำด้วยซ้ำ   






ไม่ต้องพูดถึงร้านอาหารในศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้า เริ่มต้นจานละ 40 บาทแทบไม่มีให้เห็น ส่วนใหญ่จานละ 45บาทขึ้นไปแทบทั้งนั้น บางร้านขึ้นราคาทีจานละ 10 บาทก็มี













พ่อค้าแม่ค้าพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขึ้นราคา เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก ตั้งแต่วัตถุดิบหลักที่ใช้ปรุงอาหาร เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว กุ้ง ปลาหมึก ไข่ไก่ ผักนานาชนิด ค่าเช่าสถานที่ รวมถึงราคาแก๊สหุงต้ม 

            แม้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พูดเป็นแผ่นเสียงตกร่องว่า อาหารสด ราคาไม่ได้ขึ้น บางรายการลดลงด้วยซ้ำ (แต่ราคามาถึงผู้บริโภค ไม่ได้ลดลงตามราคาต้นทาง เพราะมีผู้ค้ากลางทางที่ยังเอากำไรเกินควรอยู่)

             
ส่วนการขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม กก. ละ 50 สตางค์ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันรวม 4.50 บาท กระทบต้นทุนการปรุงอาหารไม่ถึงจานละ 20 สตางค์ด้วยซ้ำ จะใช้เป็นข้ออ้างขึ้นราคาไม่ได้

แต่ความจริงคือ เมื่อผู้ค้า รู้สึกว่าต้นทุนสูงขึ้น (แม้จะเล็กน้อย) ก็ต้องผลักภาระมาสู่ผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาขาย เพื่อให้ตนเองยังคงมีกำไร ยากที่จะมีใครยอมเฉือนกำไร เพื่อให้ผู้บริโภคได้กินอาหารราคาเท่าเดิม

             นั่นจึงเป็นที่มาของการที่ผู้บริโภคจำนวนมาก ร้องเรียนผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ถึงราคาอาหารจานด่วนที่แพงขึ้นมาก!!






             ทั้งๆ ที่ กระทรวงพาณิชย์มีร้านอาหาร หนูณิชย์...พาชิมขายอาหารไม่เกินจานละ 25-35 บาท อยู่ทั่วประเทศ แต่ยังไม่สามารถเป็นเครื่องมือทำให้ราคาอาหารไม่ปรับขึ้น ตามที่กระทรวงฯอ้างว่า ร้านหนูณิชย์ นอกจากลดค่าครองชีพแล้ว ยังทำให้ร้านอาหารใกล้เคียง ไม่กล้าขึ้นราคาขายเกินราคาที่ขายในร้านหนูณิชย์

รู้ว่า กรมฯต้องสร้างสมดุลระหว่างผู้ผลิต เกษตรกร และผู้บริโภค ไม่ให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบใคร อีกทั้งการควบคุมดูแลราคาอาหารปรุงสำเร็จทำยาก เพราะมีผู้ค้ามากมาย แต่อยากให้ดูแลผู้บริโภคมากกว่านี้ และทำอย่างจริงจังกว่านี้

อย่าดีแต่ท่องเจื้อยแจ้วว่า ต้นทุนขึ้นนิดเดียว ผู้ค้าไม่ควรอ้างขึ้นราคาขาย ผู้บริโภคยอมรับได้แน่ ถ้าขึ้นราคาตามต้นทุน เช่น ของขึ้น 25 สตางค์ก็ขึ้นตามนั้น หรือขึ้นไม่เกิน 1 บาท แต่ไม่ใช่ขึ้นเกินจริงอย่างทุกวันนี้

ทุกคนในกระทรวงพาณิชย์ ต่างก็เป็นผู้บริโภค แล้วเหตุใดยอมให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับตัวเอง หรือเงินในกระเป๋ายังเหลือใช้จ่าย จึงไม่รู้สึกอะไร

ถ้าเช่นนั้น ลองสมมติตัวเองว่า ไม่มีเงินเดือนประจำ ต้องหาเช้ากินค่ำไปวันๆ วันไหนไม่ทำงาน ไม่มีเงินใช้ ลูกก็ต้องเลี้ยง บ้านก็ต้องเช่า ค่ารถก็แพงอีก แล้วถ้าค่าอาหารขึ้นเรื่อยๆ จะทนได้หรือไม่

หากภาครัฐแก้ปัญหาไม่ได้ ผู้บริโภคคงต้องช่วยกันใช้มาตรการทางสังคมกดดันร้านค้าที่ขายแพงเกินควร โดยร่วมมือไม่ซื้อ ไม่กิน และบอกต่อๆ กันจะดีกว่ามั๊ย


                                                                 ฟันนี่เอส

                                                                                13 พ.ย.57

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น