วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

อย่าทำแบบไฟไหม้ฟาง

 
                                                                 


                ในที่สุดก็เป็นเรื่องแดงขึ้นมาจนได้ กรณีที่ไทยส่งผักชนิดต่างๆ ไปขายในสหภาพยุโรป (อียู) โดยมีสารปนเปื้อน ที่เป็นอันตรายต่อคน และสัตว์ ติดไปด้วย ทั้งที่กรมวิชาการเกษตรสุ่มตรวจทุกล็อตก่อนส่งออก จนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าสังกัด เต้นเป็นเจ้าเข้าลุกขึ้นมาแบน (ห้าม) ผู้ส่งออกไทยส่งผัก 5 กลุ่มไปขาย
               
                โดยให้เหตุผลว่า แบนตัวเอง ดีกว่าให้เขา (อียู) แบนเรา เพราะถ้าเขาแบนเมื่อไร กว่าจะแก้ปัญหาจนไร้มลทิน และกว่าอียูจะเชื่อมั่นไทยอีกครั้งคงต้องใช้เวลานาน อาจถึงหลายปี จึงจะกลับมานำเข้าอีกครั้ง
               
                ไม่เพียงแต่ผู้ส่งออกที่จะเดือดร้อน เกษตรกรผู้ปลูกผักป้อนให้กับผู้ส่งออกเหล่านี้ต้องเดือดร้อนเหมือนกัน เพราะปลูกแล้วขายไม่ได้ แล้วก็จะลามไปถึงผู้ผลิตสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่อาจถูกกีดกันการค้าจากอียู จากนั้นก็ถึงคราวประเทศไทย ที่รายได้จากการส่งออกหายไปต่อหน้าต่อตา
                
                แต่จะว่าก็ว่าเถอะ การพบสารตกค้างในผักของไทย จากประสบการณ์ทำงานว่า 10 ปี รู้เห็นมาตลอดว่า อียูพบบ่อยมาก เพราะจะมีระบบเตือนภัยล่วงหหน้าทั้งในสินค้าอาหาร และที่ไม่ใช่อาหาร หากพบสินค้าใดไม่ได้มาตรฐานที่กำหนด ณ ด่านนำเข้า จะกักสินค้าไว้จนกว่าจะมีการแก้ไข แต่ถ้าพบศัตรูพืช เช่น แมลง ก็อาจเผาทิ้ง หรือถ้าหลุดรอดจากด่านมาได้จนถึงชั้นวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต จะให้เอาออกจากชั้นวางทันที และอาจห้ามการนำเข้าจากผู้ส่งออกรายที่มีปัญหา
    
    น่าแปลกมั๊ย ก่อนส่งออก กรมวิชาการเกษตร ก็ตรวจสอบแล้ว แต่ทำไมอียูยังพบการปนเปื้อนอยู่ เพราะเป็นเพียงการสุ่มตรวจ โดยผู้ส่งออกรายใดจะส่งสินค้า ก็ส่งตัวอย่างมาให้ตรวจสอบในห้องแลบ ไม่ได้เปิดตู้คอนเทนเนอร์ ณ จุดที่สินค้ากำลังจะลงเรือ ออก มาตรวจสอบ

   ทำให้ผู้ส่งออกบางรายเอาเฉพาะตัวอย่างที่ได้มาตรฐานส่งให้ตรวจสอบ ซึ่งผ่านฉลุย แต่ผักที่จะส่งออกไม่ได้มาตรฐานเดียวกันทุกก้าน ทุกใบ เมื่อสินค้าไปถึงด่านประเทศสมาชิกอียูแล้วมีการตรวจซ้ำ ต้องเจอสารปนเปื้อน หรือเชื้อโรคเป็นธรรมดา
 
   ทำไมกรมวิชาการเกษตร ไม่ตรวจสอบผักที่จะส่งออกจริงๆ แล้วทำไมผู้ส่งออกต้องขี้โกงด้วย?
อยากให้ผู้เกี่ยวข้องตอบดังๆ ชัดๆ 

  แต่ “ฟันนี่เอส” ยังดีใจ ที่กระทรวงเกษตรฯ รีบแก้ไขปัญหาก่อนจะถูกอียูแบน   จริงๆ  เมื่อใดที่แก้ไขเรียบร้อยแล้วจึงกลับมาส่งออกใหม่อีกครั้ง

  ผู้ส่งออกรายใดที่ตุกติก ส่งออกผักไม่ได้มาตรฐานก็ต้องยอมแก้ไข “สันดาน” ตัวเองใหม่ ไม่ใช่คิดแบบไทยๆ “ไม่เป็นไรน่าๆ” ใครที่คิดแบบนี้เลิกคิด เลิกทำได้แล้ว จะทุบหม้อข้าวตัวเองไปทำไม

           ส่วนกระทรวงเกษตร ก็ต้องออกจากถ้ำ เอาตัวอย่างสินค้าที่จะส่งออกจริง จากทุกตู้มาตรวจสอบ เพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพที่สุด ที่สำคัญ ถ้ารู้ว่าใครทำไม่ดี ก็อาจพักส่งออกชั่วคราว หรือถ้าไม่ดีขึ้นก็ห้ามถาวรไปซะเลย จะได้เหลือแต่คนดีๆ ที่ทำมาหากินสุจริตเท่านั้น

           ก็ได้แต่หวังว่า การแก้ปัญหาครั้งนี้ จะเป็นการแก้ปัญหาแบบถาวร ไม่ใช่ทำแบบไฟไหม้ฟาง ที่ทุกอย่างจะเลือนหายในสายลม ทิ้งไว้แต่ความอัปยศอดสูของประเทศชาติ!! 

                                                                                    
                                                                   ฟันนี่เอส


                                                                                                                กระจก8หน้า 20 ม.ค.54

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น