วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

เชียร์ขายข้าวบังกลาเทศ

 
                                                                         
                 สัปดาห์ก่อน เห็นข่าวคณะของนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เดินทางไปเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งสนใจจะนำเข้าข้าวนึ่ง 15% จากไทยปริมาณ 200,000 ตัน เพื่อใช้บริโภคในประเทศ

                “ฟันนี่เอส” เห็นว่า ประเทศนี้มีความน่าสนใจ เพราะแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ยากจน แต่มีประชากรจำนวนมาก และแม้จะปลูกข้าวได้เอง แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค เพราะแต่ละปีผลผลิตเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม พายุฝนกระหน่ำ จึงจำเป็นต้องนำเข้า

                แต่ไทยกลับไม่มีส่วนแบ่งในตลาดข้าวบังกลาเทศเลย!! เพราะเขาอ้างว่า ราคาข้าวไทยสูงมาก จนแตะไม่ได้ ต้องนำเข้าจากคู่แข่ง ทั้งอินเดีย และเวียดนาม ที่ราคาถูกกว่าไทยมากแทน แต่ปีนี้ต้องมาอ้อนขอซื้อจากไทย เพราะรัฐบาลอินเดียยังห้ามการส่งออกข้าว หลังผลผลิตไม่เพียงพอบริโภคในประเทศ ส่วนเวียดนาม ผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ยังไม่ออก โอกาสดีจึงเป็นของเรา ที่จะดึงส่วนแบ่งตลาดจากทั้ง 2 ประเทศมาได้บ้าง

                แม้การขายครั้งนี้ จะเป็นการขายแบบจีทูจี ในราคามิตรภาพ แต่ถือว่าไทยได้ประโยชน์ในหลายด้าน เพราะนอกจากเป็นการระบายสต๊อกข้าวของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นการสร้างความเป็นเพื่อน ซึ่งในเวทีโลก “เพื่อน” สำคัญมาก ที่จะช่วยสนับสนุนให้สิ่งที่เรา และเขาต้องการได้จากการเจรจาในเวทีต่างๆ บรรลุผลสำเร็จ

              นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายตลาดข้าวนึ่งของไทยไปยังตลาดอื่นๆ นอกเหนือจากตลาดสำคัญอย่างแอฟริกา ซึ่งการขยายฐานลูกค้า หมายถึงโอกาสที่จะส่งออกสินค้าไทยได้มากขึ้น และนำรายได้เข้าประเทศได้มากขึ้นด้วย

     ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ จำเป็นต้องเร่งเจรจาขายให้จบโดยเร็ว และหาวิธีทำให้บังกลาเทศกลายเป็นลูกค้าประจำแทนลูกค้าขาจรให้ได้ เพราะถ้าขืนช้า จนผลผลิตเวียดนามออกแล้ว ไทยอาจชวดโอกาสดีก็เป็นได้

    ส่วนยุทธศาสตร์ตลาดข้าวไทย ของกระทรวงพาณิชย์นั้น เดินมาถูกทางแล้ว เพราะปัจจุบันนี้ ต้องเน้นส่งออกข้าวพรีเมียม และข้าวที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น ข้าวหอมมะลิ และข้าวนึ่ง อย่ามัวแต่ขายข้าวคุณภาพต่ำแข่งกับเวียดนามเลย เพราะการขายตัดราคากันเอง จะทำให้ราคาข้าวของ 2 ประเทศยิ่งลดลงมาก ชาวนาก็จะเดือดร้อนหนัก หนีมาขายตลาดบนแทนดีกว่า

  แต่มีข้อติคือ อยากให้ทำแผนตลาดเชิงรุกมากกว่าการทำแค่รักษาฐานลูกค้าเดิม แต่แทบไม่เพิ่มลูกค้าใหม่ เพราะลูกค้าเดิม ที่ติดใจรสชาติ และคุณภาพข้าวไทยแล้ว ยากที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ลูกค้าใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้จักชื่อเสียงข้าวไทยเลย ต้องเดินไปถึงหน้าบ้านแล้วเคาะประตูเรียกให้ออกมาดู มาชมสินค้ากันเลย ครั้งแรก ครั้งสอง ครั้งสาม ไม่ซื้อไม่เป็นไร แต่ถ้าเราตื๊อไปเรื่อยๆ ต้องมีใจอ่อนเข้าสักวัน

 สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด เมื่อได้ลูกค้าแล้ว ต้องรักษาคุณภาพสินค้าไว้ให้ดี อย่าแอบปลอมปนข้าว หรือทำให้คุณภาพข้าวไทยเสียหาย เพราะเมื่อลูกค้าขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า ก็จะเลิกซื้อทันที

  สุดท้าย กรรมก็จะตกกับชาวนาไทยอีกอย่างเลี่ยงไม่ได้

                                                        ฟันนี่เอส


                                                                      กระจกหน้า 8  27 ม.ค.54

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น