วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วางกรอบคุมต่างด้าว











  ช่วงนี้นอกจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์จะวุ่นวายกับการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้พร้อมแข่งขันกับนักธุรกิจต่างชาติ ภายหลังการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 แล้ว

ยังกำลังง่วนกับการตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทย ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 เพื่อตรวจสอบว่า ต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในไทย ตามประเภทธุรกิจที่กำหนดในพ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ขออนุญาตดำเนินการถูกต้องหรือไม่

  มีชาวต่างชาติให้คนไทยเป็น นอมินีหรือให้คนไทยกระทำการแทน เช่น ถือหุ้นแทน หรือสมรู้ร่วมคิดทำธุรกิจโดยไม่ขออนุญาต ในธุรกิจที่จะต้องขออนุญาต หรือไม่ เพราะนอกจากจะเป็นการผิดกฎหมายแล้ว ยังถือเป็นการตักตวงผลประโยชน์จากทรัพย์สมบัติของคนไทยเข้ากระเป๋าต่างชาติอย่างไม่ถูกต้อง

  ขณะนี้ มีนิติบุคคลในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดราว 27,000 ราย เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจในไทยตามพ.ร.บ.ดังกล่าว และมีต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49% เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจเกษตร เป็นต้น









  ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งเป็นการตรวจสอบการถือหุ้นชั้นเดียวอย่างตรงไปตรงมา ยังไม่พบนอมินี เพราะชาวต่างชาติเหล่านี้เลี่ยงกฎหมายด้วยการถือหุ้นไขว้กันไปมาหลายชั้นในหลายบริษัท จนการตรวจสอบเพียงข้อมูลเอกสารไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่า บริษัทนั้นๆ มีนอมินี และเป็นบริษัทต่างด้าวหรือไม่

  ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ยังสามารถทำธุรกิจที่ต้องขออนุญาตโดยไม่ต้องขออนุญาต หรือทำธุรกิจต้องห้ามได้อย่างลอยนวล ส่งผลให้ธุรกิจคนไทยเสียเปรียบ จากการไม่พร้อมแข่งขัน ทั้งด้านเงินทุน และเทคโนโลยี จนในที่สุดอาจล้มหายตายจากได้

  อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กรมฯอยู่ระหว่างกำหนดแนวทางการตรวจสอบนอมินี ให้สามารถตรวจสอบในเชิงลึกได้มากขึ้น เพื่อป้องกันต่างชาติเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ของประเทศ










  และเตรียมพร้อมรับมือการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 ที่จะมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนโดยเสรี ที่ส่งผลให้นักลงทุนจากทั้งในอาเซียน (อาเซียนแท้) และประเทศนอกอาเซียน แต่ไปลงทุนในสมาชิกอาเซียน และได้สัญชาติอาเซียน (อาเซียนเทียม) เข้ามาลงทุนในไทยอย่างง่ายดาย

  โดยแนวทางการตรวจสอบจะลงลึกไปถึงสิทธิออกเสียงของคนต่างด้าว การมีอิทธิพลครอบงำในบริษัท การจ่ายเงินปันผล หากต่างด้าวที่ถือหุ้นน้อยกว่าคนไทย แต่มีสิทธิออกเสียง มีอำนาจครอบงำ หรือได้เงินปันผลมากกว่าคนไทย ก็เข้าข่ายเป็นนอมินี และเป็นบริษัทต่างด้าว เป็นต้น

  นอกจากนี้ ยังจะใช้แนวทางปฏิบัติการปฏิเสธให้สิทธิประโยชน์แก่นิติบุคคลสัญชาตินอกอาเซียน ภายใต้กรอบความตกลงด้านบริการอาเซียน โดยหากขาดคุณสมบัติ เช่น ไม่ได้เป็นนิติบุคคลจัดตั้งตามกฎหมายอาเซียน หรือทำธุรกิจในอาเซียนน้อยกว่า 5  ก็จะปฏิเสธไม่ให้ได้สิทธิประโยชน์เข้ามาลงทุน  

  แค่เพียงมีข่าวว่า กรมฯขยับตัวจัดทำแนวทางตรวจสอบนอมินีแบบเจาะลึก บริษัทในกลุ่มเสี่ยงก็เริ่มปรับโครงสร้างการถือหุ้นใหม่แล้วให้ถูกต้อง คนไทยก็ได้แต่หวังว่า ในอนาคตต่างชาติจะไม่กอบโกยสมบัติของคนไทยแบบไร้สามัญสำนึกอีกแล้ว







ฟันนี่เอส





                                                    26 ก.ค. 55


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น