วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ติดอันดับทำธุรกิจง่าย


 

 

 

 
 
 

 

           วันก่อน ธนาคารโลก ได้เผยแพร่รายงานการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจปี 2556 :  กฎข้อบังคับที่ดีกว่าสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Doing Business 2013: Smarter Regulations for Small and Medium-Size Enterprises)  ที่ได้ร่วมจัดทำกับบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ระหว่างเดือนมิ.ย.54-มิ.ย.55

















            ปรากฏว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 20 ประเทศที่ทำธุรกิจง่าย จากการจัดอันดับทั้งหมด 185 ประเทศทั่วโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 18 ลดลงจากปีก่อน ที่อยู่ในอันดับที่ 17

            แต่ยังถือว่า ดีกว่าอีกหลายประเทศ อย่างญี่ปุ่น ที่รั้งอันดับที่ 24, สวิตเซอร์แลนด์ อันดับที่ 28, จีน อันดับที่ 91, เวียดนาม อันดับที่ 99, อินโดนีเซีย อันดับที่ 128, อินเดีย อันดับที่ 132, กัมพูชา อันดับที่ 133, ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 138, ลาว อันดับที่ 163, ติมอร์ เลสเต้ อันดับที่ 169 เป็นต้น

            ส่วน 20 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 สิงคโปร์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 อันดับ 2 คือ ฮ่องกง ตามด้วยนิวซีแลนด์ สหรัฐฯ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐเกาหลี จอร์เจีย ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ มาเลเซีย สวีเดน ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ ไต้หวัน แคนาดา ไทย มอริเชียส และเยอรมนี











นางแอนเน็ต ดิ๊กซัน ผู้อำนวยการธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย ระบุว่า สาเหตุหลักมาจากการที่รัฐบาลไทยลดการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลง ส่งผลให้ต้นทุนด้านภาษีของผู้ประกอบการลดลง

            ประกอบกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับปรุงเงื่อนไข และขั้นตอนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ให้สามารถจดทะเบียนได้ในเวลารวดเร็ว ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เยิ่นเย้อล่าช้าเหมือนก่อน
 
 
 
 
 

            ขณะเดียวกัน ยังอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนนิติบุคคลที่เดียว (จดที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าในจังหวัดต่างๆ) แต่ได้รับเลขทะเบียนสำคัญถึง 3 อย่างคือ เลขทะเบียนนิติบุคคล เลขทะเบียนนายจ้าง และเลขทะเบียนผู้เสียภาษี หรือเป็นการจดทะเบียนแบบ ทรี อิน วัน

            จากเดิมที่คนที่อยากมีบริษัทเป็นของตัวเองต้องเริ่มต้นที่จดทะเบียนนิติบุคคล ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จากนั้นต้องไปจดทะเบียนนายจ้าง ที่กระทรวงแรงงาน และจดทะเบียนผู้เสียภาษี ที่กรมสรรพากรอีก

            จึงทำให้การมีบริษัท หรือธุรกิจเป็นของตัวเองในประเทศไทยง่ายดายมากขึ้น และคล่องตัวมากขึ้น

            แต่เมื่อแยกผลสำรวจออกเป็นแต่ละหัวข้อ กลับพบว่า ในแต่ละหัวข้อประเทศไทยมีอันดับไม่ดีนัก เช่น ในหัวข้อการก่อตั้งบริษัทและการเริ่มกิจการ แม้จะมีการปรับปรุงขั้นตอนให้สะดวก คล่องตัว และรวดเร็วมากขึ้นแล้ว แต่ไทยก็ยังอยู่ในอันดับที่ 85 ของโลก ส่วนหัวข้อการชำระภาษี ก็อยู่ในอับดับที่ 96 หัวข้อการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ อยู่ในอันดับที่ 70 

ขณะที่หัวข้อการค้าข้ามพรมแดน อยู่ในอันดับที่ 20 หัวข้อการคุ้มครองนักลงทุน อยู่ในอันดับที่ 13 หัวข้อการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ อยู่ในอันดับที่ 23 หัวข้อการเข้าถึงระบบไฟฟ้า อยู่ในอันดับที่ 10 เป็นต้น

            เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อต่างๆ  ควรจะเร่งรัดปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ในง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจในประเทศไทย

ซึ่งจะมีส่วนช่วยดึงดูดการลงทุนในประเทศ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเกินบรรยาย

 

 ฟันนี่เอส
 
 
25 ต.ค. 55

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น