วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

คุมราคาอาหารปรุงสำเร็จ

                                                             

 

 


            ความกังวลของคนไทยนาทีนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของปากท้อง เพราะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้งจากราคาพลังงาน หลังจากรัฐบาลกลับมาเก็บเงินผู้ใช้น้ำมัน เพื่อนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน แล้วยังจะมาจากราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาอาหารปรุงสำเร็จ ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่าน
             ความกังวลนี้เอง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัวเท่าที่ควร เพราะไม่เกิดการบริโภคภาคประชาชน ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังง่อนแง่น
            การแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ แต่ในช่วง 6 เดือนแรกของการบริหารงานของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ 1”  กระทรวงพาณิชย์มีเจ้ากระทรวง ควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของประเทศในภาพรวมมากกว่า
            จึงทำให้การขับเคลื่อนนโยบายนี้ไม่เข้าเป้า การแก้ปัญหาปากท้องจึงยังไม่ได้รับการแก้ไขให้บรรเทาเบาบางลง


            ราคาอาหารปรุงสำเร็จ ยังแพงเหมือนในช่วงน้ำท่วม อย่างข้าวกระเพราหมูไข่ดาว ยังมีราคาสูงถึงจานละ 40-45 บาท บางแห่ง 50-60 บาท แล้วแต่ทำเลที่ตั้งร้านค้า จากช่วงก่อนน้ำท่วม ร้านอาหารริมทางขายยังไงก็ไม่เกินจานละ 30-35 บาท ทั้งที่ในช่วงนี้ สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ราคาวัตถุดิบปรุงอาหารก็ลดลงแล้ว ทั้งเนื้อหมู-ไก่ ไข่ไก่ ผักสด น้ำมันพืช ฯลฯ


                    แต่ผู้ค้ากลับไม่ลดราคาลงตาม ถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนอย่างน่าเกลียดที่สุด!!


               ร้อนถึงกรมการค้าภายใน ต้องเร่งออกประกาศราคาแนะนำอาหารปรุงสำเร็จ คาดจะมีผลบังคับใช้วันที่ 9 ก.พ.นี้ หรืออย่างช้าภายในสัปดาห์นี้ โดยแยกเป็นร้านอาหารมิตรธงฟ้าไม่เกินจานละ 25-30 บาท ร้านอาหารริมทางทั่วไปไม่เกิน 30 บาท และร้านในศูนย์อาหารตามห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ห้างสรรพสินค้า และในสำนักงานไม่เกิน 35 บาท




             แม้พ่อค้าแม่ค้าต่อต้าน โดยอ้างต้นทุนต่างๆ สูงขึ้นมาก จะให้ขายตามราคาที่กำหนดไม่ได้แน่นอน แต่กรมการค้าภายใน ย้ำให้เห็นชัดๆ ว่า ราคานี้ทำตามได้แน่ เพราะก่อนการกำหนดราคา ได้สำรวจต้นทุนการผลิตอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว
            โดยร้านขายอาหารทั่วไป อาหารปรุงสำเร็จ 1 จาน จะมีต้นทุนจากวัตถุดิบปรุงอาหาร (ข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผัก น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส) ค่าแรงงาน ค่าเช่าพื้นที่ ค่าเชื้อเพลิง และอื่นๆ อย่างข้าวไข่เจียว มีต้นทุนจานละ 13.07 บาท หากขาย 20 บาท จะมีกำไร 6.93 บาท
            ข้าวกระเพราหมู ต้นทุนจานละ 20.53 บาท ขาย 25 บาท กำไร 4.47 บาท ข้าวกระเพราหมูไข่ดาว ต้นทุนจานละ 25.53 บาท ขาย 30 บาท กำไร 4.47 บาท ข้าวไข่พะโล ต้นทุนจานละ 20.04 บาท ขาย 25 บาท กำไร 4.96 บาท ก๋วยเตี๋ยว ต้นทุนชามละ 20.65 บาท ขาย 25 บาท กำไร 4.35 บาท เป็นต้น



            อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายใน จะให้เวลาผู้ค้าปรับตัว 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้สต๊อกสินค้าเก่าหมดลงเสียก่อน แล้วจึงขายตามราคาแนะนำที่กำหนด
             ฟันนี่เอสมองว่า เรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมาก หากสามารถทำให้ผู้ค้าขายได้ตามราคาแนะนำ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า จะมีผู้ค้ากี่ราย ที่จะยอมให้ความร่วมมือ และกรมการค้าภายในจะมีมาตรการจัดการอย่างไรกับผู้ค้าที่เพิกเฉย


                                                                                                                          ฟันนี่เอส

                                                                                          9 ก.พ.55

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น