วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

เบื่อน้ำท่วม-แล้งซ้ำซาก!









            หลายเดือนแล้วที่คนไทยต้องทนทรมานนั่งๆ นอนๆ อยู่กับน้ำ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มีแต่น้ำ... น้ำดีบ้าง น้ำเน่าบ้าง จนเผลอนึกไปโลกเราเข้าสู่ยุค “Water World” ไปซะแล้ว

           จุดเริ่มต้นของน้ำท่วมขณะนี้ มาจากพายุโซนร้อนนกเตน เมื่อวันที่ 25 ก.ค.54 จากนั้นมีพายุฝนค้าคะนองมาเป็นระยะๆ ผสมกับน้ำที่ไหล่บ่ามาจากภาคเหนือ และน้ำทะเลหนุน จึงเกิดท่วมอย่างต่อเนื่อง

  ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.ย.54 กรมบรรเทาสาธารณภัย สรุปพื้นที่เสียหายจากภัยน้ำท่วมแล้ว 1,243 ตำบล 165 อำเภอ 24 จังหวัด ไล่เรียงมาตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยันภาคกลาง






          มีครัวเรือนได้รับผลกระทบแล้ว 588,347 ครัวเรือน หรือ 1.92 ล้านคน พื้นที่เกษตรเสียหาย 4.2 ล้านไร่ บ่อปลา 54,852 บ่อ/กระชัง ปศุสัตว์ 3.95 ล้านตัว ถนน 9,406 สาย ท่อระบายน้ำ 1,028 แห่ง ฝาย 966 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 590 แห่ง

          และจากการประเมินของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อยนกเตนจนถึงปัจจุบัน สร้างความเสียหายแล้ว 32,419.30 ล้านบาท โดยเป็นความเสียหายของพืชมากที่สุดถึง 16,037.70 ล้านบาท






 รองลงมาเป็นความเสียหายของสิ่งสาธารณ 5,872.20 ล้านบาท, การค้า 4,716.10 ล้านบาท, บ้านเรือน 1,820.30 ล้านบาท, ประมง 1,455.10 ล้านบาท, ปศุสัตว์ 1,153.90 ล้านบาท, ท่องเที่ยว 648 ล้านบาท, อุตสาหกรรม391.8 ล้านบาท และอื่นๆ 324.1 ล้านบาท

 เมื่อรวมผลกระทบจากภัยน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้เดือนเม.ย.-พ.ค.54ที่มีมูลค่าความเสียหาย 26,075.3 ล้านบาท ทำให้ประเทศเสียหายแล้ว 58,494.6 ล้านบาท มีผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลดลง 0.5-0.7 %

           คาดว่า ความเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีก หากฝนยังไม่หยุดตก และน้ำท่วมลามถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนในอนาคต ความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ไทยต้องเผชิญอาจสูงถึงปีละ 50,000-100,000 ล้านบาท และรัฐต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไม่รู้จบ

           ฟันนี่เอส จึงเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในประเทศด้วย อย่าทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดแก้ปัญหาปากท้องประชาชนเพียงอย่างเดียว!!

           เพราะประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เรื่องภัยธรรมชาติ และความสมบูรณ์ของน้ำ จึงจำเป็นที่สุด หากน้ำท่วม หรือน้ำแล้งต่อเนื่องยาวนาน ผลผลิตจะเสียหาย ไม่ว่ารัฐบาลจะอัดฉีดเงินเข้าระบบ กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศอย่างไร หรือเพิ่มราคารับจำนำสินค้าเกษตรสูงเพียงใด ถ้าเกษตรกรไม่มีผลผลิตเข้าร่วมโครงการ ก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อขายของไม่ได้ ไม่มีเงิน ก็ไม่ซื้อสินค้า ทำให้การกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศไม่เป็นผล

           ถึงเวลาแล้ว ที่รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาลุ่มน้ำ 25 แห่ง และพัฒนาระบบชลประทาน ที่เป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว

          การทำงานเอาหน้า ที่เห็นผลในระยะสั้นๆ ขอให้เพลาๆ ลงบ้างเถอะ



                                                  ฟันนี่เอส


                                                29 ก.ย. 54

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น