วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ดูภูมิรัฐบาลแก้ภัยแล้ง


 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

            สำหรับคนไทย โชคดีที่ปีนี้ ฝันร้าย “น้ำท่วมใหญ่” เหมือนปีก่อนไม่เกิดขึ้น จะมีมาแบบให้ตื่นเต้นกันพอเป็นกระษัยเท่านั้น แล้วหน้าฝน หรือหน้าน้ำก็ผ่านไปพร้อมกับทิ้งปริมาณน้ำฝนอันน้อยนิดกว่าปีก่อนมากไว้เบื้องหลัง

 

            ตอนนี้ จึงเกิดภาวะน้ำแล้งแทบจะทุกหัวระแหง ทรมานใจเกษตรกรไทยอย่างที่สุด!! เพราะในหลายพื้นที่ถูกสั่งห้ามเพาะปลูก โดยเฉพาะข้าวกันแล้ว จนชาวนาต้องนั่งกุมขมับ ไม่รู้จะเอาอะไรกินกันเลย

 

ล่าสุด วันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-5พ.ย.55 เกิดภาวะภัยแล้งแล้วใน 9 จังหวัด 64 อำเภอ 435 ตำบล 4,467 หมู่บ้าน ในพื้นที่ภาคอีสาน ได้แก่ จ. กาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู มุกดาหาร อำนาจเจริญ และ มหาสารคาม

 

แต่ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน หรือฝนทิ้งช่วง แล้วใน 7 จังหวัด 52 อำเภอ 338 ตำบล 3,349 หมู่บ้าน ได้แก่ จ.กาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู และ มุกดาหาร

 

ส่วนกรมชลประทาน ระบุว่า ณ วันที่ 4 พ.ย.55 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาตรน้ำรวม 51,928 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 74% ของความจุทั้งหมด โดยอ่างเก็บน้ำภูมิพล และอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 8,618 และ 6,559 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 64% และ 69% ของความจุอ่างตามลำดับ

 
 
 
 
 
 
 

ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์มากกว่า 80% มีทั้งสิ้น 9 อ่างคือ อ่างคอหมา ลำพระเพลิง ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ์ คลองสียัด หนองปลาไหล และประแสร์ ส่วนที่มีน้ำน้อยกว่าเกณฑ์ หรือเท่ากับ 30% ของความจุอ่าง มี 1 อ่าง คือ เขื่อนลำปาว

 

ส่งผลให้เขื่อนในภาคอีสาน และภาคกลาง มีน้ำน้อยสุดในรอบ 5 ปี!!

 

กรมชลประทาน ต้องงดเพาะปลูกในพื้นที่ท้ายเขื่อน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 700,000 ไร่ คาดผลผลิตข้าวนาปีปี 55/56 จะลดลงกว่า 5 ล้านตันข้าวเปลือก

 
 
 
 
 
 
 

นี่เพิ่งเริ่มต้นภาวะภัยแล้ง เพราะหน้าฝนเพิ่งผ่านไป กว่าจะถึงหน้าฝนปีหน้า ยังไม่รู้ว่า น้ำจะเหือดแห้งหายไปอีกเท่าไร ผลผลิตทางการเกษตรจะลดลงมากแค่ไหน รายได้ของเกษตรกร รวมถึงมูลค่าจากการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์จะลดลง จนกระทบระบบเศรษฐกิจไทยอย่างไร

 

ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาภัยแล้งได้คือ การสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย หรือแม้แต่ทำนบกั้นน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ แต่จนถึงขณะนี้ แผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลทั้งระบบ ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ขณะที่เอ็นจีโอ ก็คัดค้านหัวชนฝาไม่สร้างเขื่อน

 

คนไทยถนัดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อยากรู้ว่า ตอนนี้ รัฐบาลเตรียมการแก้ไขอย่างไร การห้ามเกษตรกรเพาะปลูกเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด และตรงจุดแล้วหรือไม่ เมื่อไม่มีผลผลิตไปขาย จะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย ถึงตรงนั้น รัฐบาลจะมีหนทางช่วยเหลืออย่างไร และถ้าภัยแล้งรุนแรงมากขึ้นอีก จะแก้ปัญหาอย่างไร

 

ประเทศไทย ประเทศเกษตรกรรม แต่กลับไม่มีปัญญาบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุล ไม่รู้จะเป็นแบบนี้อีกนานแค่ไหนกัน ให้ตายเถอะ!

 

 

 

ฟันนี่เอส

 

8 พ.ย.55

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น