ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.56 เป็นต้นมา กระทรวงพาณิชย์ได้เปลี่ยน “แม่บ้าน” หรือ “ปลัดกระทรวงพาณิชย์” คนใหม่
แทนนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนเก่าที่เกษียณอายุราชการแล้ว
โดยนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ
รับตำแหน่งใหม่แทน แต่ไม่ว่าปลัดกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นคนเก่าหรือคนใหม่
เชื่อแน่ว่า ยังต้องทำงานหนักเหมือนเดิม และอาจจะหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ
เพราะยังมีงานที่ท้าทาย รอพิสูจน์ฝีมืออีกมาก
ที่ต้องเร่งทำในทันที
คือ การดูแลโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
ที่ต้องการยกระดับรายได้เกษตรกรและให้อยู่ดีกินดีมากขึ้น
แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะอย่างที่รู้ๆ ว่า โครงการนี้มีปัญหาสารพัดอย่าง!
ตั้งแต่วงเงินที่ ครม.อนุมัติให้เพียง 270,000 ล้านบาท ไม่รู้จะพียงพอหรือไม่
ถ้าไม่พอจะเอาเงินจากไหนมาทำโครงการต่อ ถ้ากู้เพิ่มจะมีปัญญาใช้หนี้หรือไม่
แต่ถ้าไม่มีเงิน เกษตรกรจะเป็นอย่างไร และจะลุกฮือขึ้นประท้วงรัฐบาลหรือไม่
แล้วยังจะมีปัญหาทุจริตที่โกงกินกันทุกขั้นตอนของการรับจำนำ
โกงกินกันเป็นขบวนการ เงินรั่วไหลถึงมือชาวนาไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
มีปัญหาขายข้าวในสต๊อกไม่ได้ เอาเงินมาคืนคลังล่าช้า และปิดบัญชีไม่ลงอีก
นอกจากนี้
ยังมีปัญหาภาคการส่งออกที่ต้องเร่งกู้วิกฤติ หลังจากมูลค่าส่งออกไทย 7 เดือนปีนี้ ขยายตัวแค่ 1% จากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ขยายตัว 7-7.5% จากปีก่อน
(แต่กระทรวงพาณิชย์ลดเป้าหมายใหม่เหลือโต 4% เท่านั้น)
ซึ่งการกู้วิกฤติการส่งออกนี้
ถือว่าเป็น “งานหิน” เพราะการที่ส่งออกไทยลดลง
เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ที่อยู่เหนือการควบคุมของไทย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงมาก
จนกำลังซื้อลดลง
ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอย่างไร
คงไม่สามารถเพิ่มกำลังซื้อ หรืออารมณ์ต้องการซื้อของผู้บริโภคได้
จึงทำได้แค่ปรับกลยุทธ์ผลักดันการส่งออกเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น แต่ในทางกลับกัน
ถ้าเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าขยายตัวดี
ผู้ขายแทบไม่ต้องทำอะไรเลยก็ขายสินค้าได้ถล่มทลาย
ส่วนปัญหาค่าครองชีพ
ก็เป็นเรื่องสำคัญที่รอการแก้ไข เพราะปัจจุบัน ผู้บริโภคเหมือน “รับกรรม” อยู่ฝ่ายเดียว
เพราะผู้ประกอบการผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาให้ผู้บริโภครับผิดชอบแต่เพียงลำพัง
ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องสร้างสมดุลระหว่างผู้ผลิต/เกษตรกร พ่อค้า
และผู้บริโภคให้ได้ ไม่ใช่เทน้ำหนักให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ
การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและทุกภาคส่วน ให้พร้อมรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจเศรษฐกิจอาเซียน
(เออีซี) ในปี 2558 ที่ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการและคนไทย
ยังไม่พร้อมเอาเสียเลย และอาจทำให้ไทยเสียเปรียบสมาชิกอาเซียนอื่นได้
และที่ลืมไม่ได้คือ
การเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีต่างๆ ที่ไทยอยู่ระหว่างการเจรจาให้บรรลุผล
โดยเฉพาะกับยุโรป โดยต้องทำอย่างละเอียด รอบคอบ
และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศอย่างสูงสุด รวมถึงต้องเตรียมมาตรการเชิงรุก
ปกป้องการค้าไทยในเวทีโลก เพื่อให้ไทยไม่แพ้ใครด้วย
ที่ร่ายมาทั้งหมดนี้ก็แทบจะรับมือไม่ไหวแล้ว
แต่ก็ขอเอาใจช่วยให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ ทำงานได้สำเร็จลุล่วง
เพราะเหล่านี้เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติทั้งสิ้น!!
ฟันนี่เอส
3 ต.ค.56
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น