หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้ คงจะทำให้รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้เป็นรูปธรรมเสียที โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนที่พรรคเพื่อไทย ใช้เป็นกลยุทธ์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งการยกเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท การรับจำนำข้าว การแก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชน ฯลฯ
นโยบายเหล่านี้ ส่วนใหญ่ได้รับการตอบรับในทางที่ดี ยกเว้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ที่เหล่านายจ้างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้ข่าวไม่ซ้ำหน้า และไม่เว้นแต่ละวันว่า จะทำให้ต้นทุนนายจ้างพุ่งสูงปรี๊ด จนอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งจะยิ่งฉุดให้ศักยภาพการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งลดฮวบลง
หนำซ้ำไทยจะสูญเสียความได้เปรียบที่จะดึงดูดการลงทุน จากค่าจ้างแรงงานต่ำไปทันที และจะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ไม่เข้ามาลงทุน ขณะที่นักลงทุนหน้าเก่าก็พร้อมถอนสมอออกไปเช่นกัน
ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศว่า การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ อาจทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per capita) ของไทยเพิ่มขึ้น และอาจถูกสหภาพยุโรป (อียู) ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ให้กับสินค้าไทย ในการส่งออกไปอียูโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าได้
ซึ่งหากไทยถูกตัดสิทธิจริง จะทำให้สินค้าไทยที่เคยได้รับสิทธิไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าอียู ต้องกลับมาเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ บางรายการอาจสูงเป็นสิบเปอร์เซ็นต์ และจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดอียู เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ยังได้รับสิทธิอยู่ ลดลงทันที และยังมีโอกาสเสียส่วนแบ่งให้กับสินค้าจากคู่แข่ง จน กระทบต่อรายได้ที่จะเข้าสู่ประเทศ และอาจรุนแรงจนทำให้ผู้ผลิต ปรับลดคนงานลง และมีคนตกงานอีกมาก
แต่เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่? รายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยเพิ่มขึ้นสูงมากจนมีโอกาสที่อียูจะตัดสิทธิจีเอสพีหรือไม่?
เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ ที่อียูใช้พิจารณาตัดสิทธิเป็นรายประเทศ กำหนดว่า ประเทศผู้รับสิทธิอาจถูกตัดสิทธิได้หากมีรายได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงตามการจัดอันดับของธนาคารโลก ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ก.ค.54 ธนาคารโลกได้จัดไทยอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง หรือประชากรมีรายได้เฉลี่ย 3,976-12,275 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่มีรายได้สูงจะมีรายได้อยู่ที่ 12,276 เหรียญสหรัฐฯ หรือมากกว่า
ที่จริงน่าจะดีใจ ที่คนไทยมีรายได้สูงขึ้น แต่เมื่อเจาะลึกเข้าไป จะพบว่า ในกลุ่มที่ไทยถูกจัดอันดับใหม่นี้ คนไทยมีรายได้เกือบจะต่ำสุด โดยมีรายได้ 4,210 เหรียญสหรัฐฯ สูงขึ้นจากระดับฐานที่ 3,976 เหรียญฯ เพียง 234 เหรียญฯเท่านั้น
ยังมีช่องว่างอีกมากที่รายได้คนไทยจะถีบตัวขึ้นไปอยู่ในอัตราสูงสุดของกลุ่มที่ 12,275 เหรียญฯ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่การเพิ่มค่าแรงครั้งนี้ จะทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยเพิ่มขึ้นมากจนถูกตัดสิทธิ อย่างที่กระทรวงพาณิชย์เป็นกังวล
แต่ขอให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มศักยภาพการผลิต และผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งในการแข่งขัน เพราะไทยคงไม่ได้รับสิทธิไปจนตลอดชีวิต
ขณะเดียวกัน อยากให้รัฐบาลพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงให้ดี แม้จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงาน แต่ก็อาจส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมได้
ฟันนี่เอส
16 ส.ค. 54
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น