วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

แก้ภาพลักษณ์แรงงานประมงไทย


 

 

          

 

            ตอนนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมประมงของไทย ทั้งภาครัฐ และเอกชน กำลังคร่ำเคร่งกับการแก้ปัญหา และชี้แจงแถลงไขให้สหรัฐฯได้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดถึงการใช้แรงงานประมงว่า ไทยไม่มีการใช้แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก หรือมีการค้ามนุษย์แต่อย่างใด

           การดำเนินการดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้จัดให้ไทยอยู่ในระดับ Tier 2 Watch List เป็นปีที่ 4 (ตั้งแต่ปี 2553-56) ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ที่จัดทำขึ้นตามกฎหมาย Trafficking Victims Protection Act (TVPA) ปี ค.ศ. 2000 เพื่อเสนอรัฐสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับการค้ามนุษย์และความพยายามในการขจัดการค้ามนุษย์ของประเทศต่างๆ

           ตามกฎหมาย TVPA การกำหนดให้ประเทศที่ถูกจัดอันดับ Tier 2 Watch List ติดต่อกัน 2 ปี ในปีถัดไปจะต้องถูกปรับลดระดับเป็น Tier 3 โดยอัตโนมัติ และอาจถูกสหรัฐฯ ระงับการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ใช่ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการค้า

          สำหรับไทย ได้รับการยกเว้นจากการถูกปรับลดระดับเป็น Tier 3 ในปี 2555-56 เพราะได้จัดทำแผนปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยประจำปี 2555-2556 และได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้


 
 
 
 
         แต่ปัญหาการใช้แรงงาน ถือเป็นข้อกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี  ที่ประเทศมหาอำนาจมักหยิบยกขึ้นเป็นเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้า และการให้สิทธิพิเศษทางการค้า เช่น ในบัญชีรายการสินค้าที่ผลิตโดยใช้แรงงานเด็ก ที่เป็นแรงงานบังคับหรือแรงงานขัดหนี้ ของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ

          ได้กำหนดให้ส่วนราชการสหรัฐฯ ห้ามสั่งซื้อสินค้าที่อยู่ในบัญชีดังกล่าว และห้ามจัดจ้างผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าดังกล่าว หรือหากต้องการจะสั่งซื้อหรือจัดจ้าง ต้องแสดงเอกสารหลักฐานว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้มาจากผู้ผลิตที่ใช้แรงงานเด็กที่ถูกบังคับหรือขัดหนี้

 
 
 
 
 
 
 
 
        โดยในปี 56 มีสินค้าไทยอยู่ในบัญชีดังกล่าว 2 รายการ คือ กุ้งและสิ่งทอ!! แม้ทั้ง 2 รายการ ยังไม่ถูกห้ามนำเข้า แต่ก็อาจทำให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญเรื่องแรงงาน ความรับผิดชอบของนายจ้างต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่ซื้อ ไม่ใช้สินค้าไทยได้

           และอาจทำให้สหรัฐฯ นำประเด็นนี้มาพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ที่กำหนดว่าประเทศที่จะได้รับสิทธิจะต้องคุ้มครองสิทธิแรงงานในระดับที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

              จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่หลายหน่วยงานร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง หนึ่งในนั้นคือ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ดำเนินการหลายรูปแบบ ตั้งแต่จัดตั้งคณะทำงานชี้แจงข้อเท็จจริงการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมอาหารทะเล จัดคณะเดินทางไปชี้แจง และประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับต่อภาครัฐและเอกชนของสหรัฐฯ

             รวมถึงจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาในสหรัฐฯ (ล็อบบี้ยิสต์)  ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐสภาสหรัฐฯ ประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงให้ทั่วถึงในทุกภาคส่วนของสหรัฐฯ และจัดทำสารคดีที่ถ่ายทอดการใช้แรงงานอย่างถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้สหรัฐฯได้รับทราบข้อเท็จจริง และนำไปประกอบการพิจารณาจัดอันดับไทยในปีต่อไป ซึ่งคาดหวังว่า ไทยจะหลุดจากบัญชี Tier 2 ได้ในที่สุด

 

 
                                                                                             ฟันนี่เอส

 

                                                                                            26 ก.ย.56

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น