ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน
ที่นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค.56
และพบว่า เงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับค่าครองชีพประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น
และยังมี “ผู้(ไม่)หวังดี” ตัดต่อคลิปเสียง
และภาพที่ปลัดกระทรวงฯ แถลงข่าวในวันนั้น และตอบคำถามผู้สื่อข่าวอย่างไม่ตรงใจนัก
โพสต์ในโซเชียลมีเดีย มีการแชร์กันอย่างสนุกมือ คอมเมนต์ถล่มเละอย่างสะใจ
ส่งผลให้ทั้งท่านปลัดฯ และกระทรวงพาณิชย์ ตกเป็น “เหยื่ออารมณ์” ของชาวบ้านในทันที!!
ชาวบ้านส่วนหนึ่ง ที่ไม่พอใจการดูแลราคาสินค้า
และค่าครองชีพ โทรศัพท์มาที่ “สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569”
ต่อว่าดูแลค่าครองชีพล้มเหลว พร้อม “ขู่” จะสาดน้ำกรดปลัดฯ และ “ขู่” วางระเบิดในทุกสถานที่ที่กรมการค้าภายใน และกระทรวงพาณิชย์ ไปจัดงาน มิหนำซ้ำยังมีม็อบต่างๆ
ประท้วงหน้ากระทรวงฯ ฐานไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพสูงได้อีก
หากพิจารณาอย่างเป็นธรรม แม้การดูแลภาวะราคาสินค้า
ค่าครองชีพ การยกระดับราคาสินค้าเกษตร และการสร้างความเป็นธรรมทางการค้า
เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์โดยตรง แต่การที่ค่าครองชีพสูงขึ้น
จะโทษกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานเดียวก็ใช่ที่
เพราะสินค้าที่ผลิต และขายในท้องตลาดในประเทศ มีนับหมื่นนับแสนรายการ
กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถควบคุมดูแลได้ทั้งหมด มีเพียงกว่า 200 รายการ
ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น ที่ติดตามดูแลสถานการณ์ราคา
และภาวะการค้าเป็นประจำทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุก 15 วัน
ยังมีอีก 43 รายการที่เป็นสินค้าและบริการควบคุม
กรมการค้าภายใน ใช้มาตรการทางกฎหมายบริหารจัดการได้ และหนึ่งในนั้นมีเพียงน้ำตาลทราย
ที่กำหนดราคาขายสูงสุดไม่เกินกิโลกรัมละ 23.50 บาท รวมถึงยังมีสินค้าอีกจำนวนหนึ่งที่กำหนดราคาแนะนำ
เช่น สุกร ไข่ไก่ ปุ๋ยเคมี เหล็กเส้น ฯลฯ
หากผู้ค้าขายเกินราคาจะมีโทษตามพ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542
สินค้าที่เหลือนอกจากนี้
อย่างสินค้าฟุ่มเฟือย กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ควบคุม เพราะการควบคุมอย่างเข้มงวดทุกรายการ
เท่ากับรัฐแทรกแซงธุรกิจเอกชน ทำให้กลไกตลาดบิดเบือน หากผู้ผลิตขาดทุนมากๆ
ก็อาจเลิกผลิต ปิดกิจการ เกิดภาวะขาดแคลนสินค้า และผู้บริโภครับกรรม
ขณะที่สินค้าอาหารสด อย่าง เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ผักสด ผลไม้สด นั้น
ต้องใช้อุปสงค์ และอุปทานเป็นสำคัญ โดยหากผลผลิตมากกว่าความต้องการบริโภค ราคาจะตก
ผู้ผลิตเดือดร้อน ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่ถ้าผลผลิตน้อยกว่าความต้องการเมื่อไร
ผู้ผลิตได้ประโยชน์ ผู้บริโภคเดือดร้อนทันที
กระทรวงพาณิชย์
จึงต้องสร้างความสมดุลทางการค้า อย่างที่นายกรัฐมนตรีพูดว่า
“ต้องดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ” หมายถึง ตั้งแต่ผู้ผลิต/เกษตรกร,
ผู้ค้า/พ่อค้าคนกลาง และผู้บริโภค ไม่ให้ใครได้-เสียมากจนเกินควร
แต่ทุกวันนี้ เมื่อผลผลิตมาก ราคากลับไม่ลดลง ชาวบ้านยังซื้อของแพงอยู่ หรือฉวยขึ้นราคาสินค้าปลายทางมากเกินควร
กระทรวงฯทำได้แค่ ตรวจสอบภาวะการค้า ถ้าพบรายใดขายสินค้าแนะนำ สินค้าควบคุม
เกินราคา หรือไม่ปิดป้ายาคา ก็ดำเนินการตามกฎหมาย แล้วก็ใช้ “ธงฟ้า”
ยาวิเศษลดค่าครองชีพ
แต่เอาเถอะ! ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ประชาชนให้รักษาสิทธิตนเองบ้าง ถ้าพบเห็นผู้ค้าฉวยโอกาสเอาเปรียบ
แจ้ง 1569 หรือสำนักงานการค้าภายในทุกจังหวัด คนเอาเปรียบถูกลงโทษตามกฎหมายแน่
ฟันนี่เอส
12 ก.ย.56
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น