เมื่อวันที่
4-5 ต.ค.ที่ผ่านมา นายนิวัฒน์ธำรง
บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์
เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปก
(กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก) ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
ประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้
คือ การบรรลุเป้าหมายโบกอร์ เพื่อเปิดเสรีการค้าการลงทุนในภูมิภาค ภายในปี 2563
โดยเน้นการเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียม ลดช่องว่างการพัฒนาของสมาชิก เช่น
มาตรการภาษี มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (เอ็นทีเอ็ม)
และการร่วมกันต่อต้านมาตรการกีดกันทางการค้าทุกรูปแบบ
นอกจากนี้ เอเปก ยังผลักดัน
การลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมของสมาชิก 54 รายการ ให้มีภาษีนำเข้าเหลือไม่เกิน 5% ภายในปี 58 เช่น หม้อไอน้ำชีวมวล กังหันก๊าซ กังหันลม เตาเผาขยะ
เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องจักรสำหรับทำอากาศหรือก๊าซให้เป็นของเหลว
เครื่องจักรกลที่ใช้สำหรับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
ชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขับด้วยกำลังลม เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ เป็นต้น
ความพยายามในการลดภาษีสิ่งแวดล้อมนี้
เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า เอเปกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ มีความตั้งใจจริงในการรักษาสิ่งแวดล้อม
และต้องการช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน
รวมถึงยังจะทำให้การค้าขายสินค้าดังกล่าวระหว่างเอเปก
สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น
ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากการนำเข้า
เพราะสินค้าบางรายการไม่มีผลิตในประเทศ เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีสูง
อีกทั้งคนไทยจะได้ใช้สินค้าเหล่านี้ในราคาถูกลง มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งในด้านการจัดการน้ำเสีย การจัดการขยะ และการใช้พลังงานสะอาด
ที่สำคัญ
ยังจะทำให้สินค้าสิ่งแวดล้อมของไทยมีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับกระจกรับแสงอาทิตย์
ชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า ส่วนประกอบของเครื่องจักร
อุปกรณ์ที่ใช้กรองของเหลวหรือก๊าซ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน
เอเปกยังเห็นพ้องกันที่จะสนับสนุนให้การประชุมรัฐมนตรี องค์การการค้าโลก
(ดับบลิวทีโอ) ครั้งที่ 9 ในเดือนธ.ค.นี้ ที่บาหลี
ประสบผลสำเร็จ หลังจากที่ไม่สามารถเจรจาเพื่อปิดการเจรจาเปิดเสรีรอบโดฮา
ได้มานานนับสิบปีแล้ว!!!
โดยเอเปกได้ออก “Bali Package” หรือปฏิญญาร่วมของเอเปก เพื่อแสดงท่าทีว่า
ต้องการให้การประชุมรัฐมนตรีดับบลิวทีโอ ครั้งที่ 9 นี้ แม้จะไม่สามารถเจรจาปิดรอบโดฮาได้
แต่สมาชิกต้องยืดหยุ่นในการเจรจา
และต้องมีข้อตกลงในบางเรื่องให้ได้ก่อน เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้าเกษตร
และประเด็นผลประโยชน์ของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
เพื่อให้การเจรจารอบโดฮาเข้าใกล้กับเป้าหมายการเจรจาให้ได้มากที่สุด
โลกทุกวันนี้
ไม่มีใครอยู่ได้โดยลำพัง แต่ละประเทศจึงต้องรวมกลุ่มกันเพื่อพึ่งพาอาศัยกันและกัน
ดังนั้น ข้อตกลงต่างๆ ที่แต่ละกลุ่มทำร่วมกัน ต้องพยายามทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย
ไม่เช่นนั้น การรวมกลุ่มกันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย!!)
ฟันนี่เอส
17 ต.ค.56
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น