โปรดจับตา! วันที่ 27-31 พ.ค.นี้ ที่กรุงบรัสเซลส์
ประเทศเบลเยี่ยม คณะเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป
(อียู) ของทั้งไทย และอียู จะเจรจาร่วมกันเป็นครั้งแรก
เพื่อจัดทำความตกลงเอฟทีเอระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยมี นายโอฬาร
ไชยประวัติ ผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) เป็นหัวหน้าคณะ
และตั้งเป้าหมายการเจรจาให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี
โดยกำหนดประเด็นที่จะหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปในการเปิดเสรี
14 ประเด็น ได้แก่ 1.กลุ่มเจรจาการเปิดตลาดสินค้า 2.กลุ่มเจรจากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3.กลุ่มเจรจาความร่วมมือทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.กลุ่มเจรจาอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า5.กลุ่มเจรจามาตรการเยียวยาทางการค้า
6.กลุ่มเจรจามาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 7.กลุ่มเจรจาการค้าบริการ 8.กลุ่มเจรจาการลงทุน 9.กลุ่มเจรจาการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 10.กลุ่มเจรจาทรัพย์สินทางปัญญา 11.กลุ่มเจรจานโยบายแข่งขัน 12.กลุ่มเจรจากลไกการระงับข้อพิพาท 13.กลุ่มเจรจาการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 14.กลุ่มเจรจาความโปร่งใสและการบริหารจัดการความตกลง
แต่ในจำนวนนี้ มีประเด็นอ่อนไหวสำหรับไทย หรือเป็นประเด็นที่หากไทยเจรจาไม่ดี
อาจเสียเปรียบอียู และส่งผลกระทบต่อคนไทยในทุกภาคส่วน รวม 6 ประเด็น ได้แก่
1.ผลกระทบจากการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร
(จีเอสพี) ที่อียูจะตัดสิทธิที่เคยให้กับสินค้าที่ส่งออกจากไทยทั้งประเทศ
และจะทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขันกับสินค้าของประเทศคู่แข่ง
ที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิ จึงต้องเจรจาให้อียูลดภาษีนำเข้าสินค้าในกรอบเอฟทีเอแทน
2.ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยา
โดยอียูต้องการให้ไทยขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา ที่อียูเป็นเจ้าของออกไปเป็น 25
ปี จากปกติ 20 ปี 3.การลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่
ที่อียูต้องการให้ไทยลดภาษีต่างๆ ลงให้มากขึ้น
จากปัจจุบันที่ไทยเก็บทั้งภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต รวมแล้วหลายร้อยเปอร์เซ็นต์
4.กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยใช้อนุญาโตตุลาการ
5.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ที่อียูต้องการให้ไทยทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น และ
6.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอียูต้องการเจรจาในเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับการค้า
ซึ่งเหมือนเป็นการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากลายๆ
แต่อย่าเพิ่งตกใจ!! ว่าไทยจะเสียเปรียบ หรือเสียประโยชน์ เพราะคณะเจรจาฯ
ได้ตั้งหัวหน้าทีมเจรจาขึ้น 14 ชุด เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากแต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้รับทราบถึงผลดี ผลเสีย ที่จะมีต่อประชาชน ผู้บริโภค ผู้ผลิต ทั้งภาคเกษตร
และอุตสาหกรรม รวมถึงหามาตรการดูแลผู้ที่เสียประโยชน์ด้วย
โดยให้จัดทำข้อสรุปท่าทีของประเทศไทยในทั้ง 14 ประเด็น
เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะเจรจาฯภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้
ก่อนที่จะเดินทางไปเจรจากับอียูอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ นายโอฬาร
ยังย้ำให้คนไทย มั่นใจว่า แม้ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ได้แลกเปลี่ยนข้อเรียกร้องระหว่างกัน
แต่ทุกกลุ่มเจรจามีความพร้อม โดยได้ศึกษาข้อตกลงเอฟทีเอ ที่อียูทำกับประเทศอื่นๆ
เพื่อศึกษาท่าที จุดแข็ง และจุดอ่อนของอียู
รวมทั้งเตรียมการรุกและรับในการเจรจาประเด็นต่างๆ แล้ว
ตอกย้ำกันถึงขนาดนี้ ก็ต้องคอยดูกันไป
อย่าทำให้คนไทยผิดหวัง ประเทศไทยเสียหายแล้วกัน!!
ฟันนี่เอส
2 พ.ค.56
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น