แม้วันนี้
ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ จะทรงตัวเท่าปีก่อน เพราะต้นทุนการผลิตต่างๆ
ยังทรงตัว ยกเว้นค่าแรงงาน รวมถึงการแข่งขันที่สูงมาก อาจทำให้สินค้าขายได้ยาก
ถ้าปรับขึ้นราคาขาย และรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงงานเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศไปแล้ว
แต่ทุกวันนี้ ค่าครองชีพประชาชน ไม่ได้ลดลงเลย!!
ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะราคาอาหารสดขณะนี้ยังสูงอยู่
เพราะเป็นช่วงหน้าร้อน ผลผลิตเสียหายจากอากาศร้อนจัด ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อหมู ไข่ไก่
จึงเป็นช่องทางให้ผู้ค้าอาหารปรุงสำเร็จฉวยปรับขึ้นราคาขาย
เพราะไม่อยากแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น เลยผลักภาระนี้ให้กับประชาชนรับกรรมไปซะ!!
จะเห็นว่า
ราคาอาหารปรุงสำเร็จที่ขายทั่วไปในตลาดสด หรือข้างถนน เริ่มต้นที่จานละ 30
แต่มีหลายเจ้ามากขึ้นที่เริ่มต้น 35 บาท หรือ 40 บาท ถ้ามีไข่ดาว ไข่เจียว
ก็เพิ่มอีกฟองละ 10-15 บาท
ส่วนราคาในฟูดคอร์ทของห้างค้าปลีก
เริ่มต้นที่จานละ 30 หรือ 35 บาทเช่นกัน
ซึ่งใกล้เคียงกับที่ขายทั่วไปจนกลายเป็นความเคยชินของผู้บริโภคที่จำต้องซื้อ
แต่ฟูดคอร์ทในห้างสรรพสินค้า ไม่มีที่ไหนเริ่มต้นที่จานละ 30-35 บาท เท่าที่เห็นก็
40 บาทแล้ว บางเจ้า 45 บาท หรือ 50 บาท หรือ 60 บาท
”ฟันนี่เอส”
มีประสบการณ์ตรงที่พบเห็นเป็นประจำ และรับไม่ได้
ร้านอาหารบางร้านในฟูดคอร์ทของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านปิ่นเกล้า
ที่แม้จะมีป้ายโปรโมชั่นจานละ 40 บาท หรือ 45 บาทจากปกติ 60 บาท
แต่พอเดินเข้าไปสั่ง กลับได้รับคำตอบว่า หมดแล้ว
หรืออย่างในช่วงก่อนหน้านี้ ที่กรมการค้าภายใน
ขอความร่วมมือให้จัดมุมอาหารธงฟ้า ขายเมนูที่กำหนดตามราคาแนะนำจานละ 25-30 บาท
แต่พอสั่ง ได้รับคำตอบว่า หมดแล้วเช่นกัน หรือบางร้าน อาทิตย์ก่อนเคยซื้อจานละ 40
บาท อาทิตย์ถัดมากินเมนูเดิม ร้านเดิม กลับขึ้นราคาหน้าตาเฉยเป็น 50 บาท
นี่ขนาดรัฐบาลยังไม่ได้ขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน
ถ้าปรับขึ้นตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ธ.ค.นี้ ก็ยังไม่รู้ว่า ราคาจะปรับขึ้นจานละ 5
บาททุกเดือนรือไม่ และถึงสิ้นปี ไม่รู้ราคาจะไปเริ่มต้นที่จานละเท่าไร!!
ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนหนัก แห่ร้องเรียนกรมการค้าภายใน
ให้ช่วยดูแล ส่งผลให้ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดี
ต้องเชิญผู้ประกอบการฟูดคอร์ท ห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีก
มาขอความร่วมมือให้จัดมุมอาหารธงฟ้าตามราคาแนะนำจานละ 25-30 บาท
ในเมนูที่กำหนดเพื่อลดค่าครองชีพ และป้องปรามไม่ให้ผู้ค้าฉวยขึ้นราคาเกินจริง
หลังรัฐบาลปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเดือนมิ.ย.นี้
เชื่อเถอะ! แม้จะตกปากรับคำว่าจะจัดให้
แต่สุดท้าย ผู้บริโภคก็อาจได้พบเห็นเหตุการณ์เดียวกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น “หมดแล้ว” คือหนทางหลีกเลี่ยงขายของราคาถูก
แต่จะว่าผู้ค้าอาหารฝ่ายเดียวก็ไม่ได้
เพราะเค้าเองมีต้นทุนอีกมาก นอกจากต้นทุนอาหารสด ทั้งค่าเช่าที่ ค่าไฟฟ้า
ค้าน้ำประปา ค่าส่วนแบ่งการขาย (จีพี) ที่ห้างเรียกเก็บสูงถึง 30-35% ฯลฯ
ทางที่ดี กรมการค้าภายใน
ควรเจรจากับเจ้าของห้างสรรพสินค้า-ห้างค้าปลีก ลดราคาต้นทุนเหล่านี้ให้ได้ก่อน
แล้วค่อยมาขอให้ผู้ค้าลดราคาขายอาหารจะดีกว่าไหม? ไม่อย่างนั้น ปัญหาจะวนเวียนเป็นงูกินหาง ไม่มีทางจบแน่ๆ
ฟันนี่เอส
9 พ.ค.56
เหมือนลิงหลอกจ้าว ลดแล้วพอเผลอก็ขึ้นอีก บางทีขึ้นแล้วขึ้นเลยราคาไม่ยอมลงผู้บริโภครับกรรมอย่างเดียว รัฐทำอะไรไม่ได้....เซ็ง
ตอบลบ