ช่วงนี้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการ
คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ที่มีรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน
กำลังลุ้นให้สำนักงานอัยการสูงสุด ทำเรื่องส่งฟ้องร้องต่อศาล กรณีบริษัท เอ.พี.ฮอนด้า
จำกัด
หลังจากที่คณะกรรมการฯ
ได้มีมติยืนยันล่าสุดเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ
เข้าข่ายมีพฤติกรรมแข่งขันทางการที่ไม่เป็นธรรม ตามพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าพ.ศ.2542
จริง และมีมติให้ทำเรื่องส่งไปให้สำนักงานอัยการสูงสุด ส่งฟ้องร้องต่อศาล
เพราะบริษัทฯ บังคับให้ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า
ห้ามจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้ออื่นของบริษัทคู่แข่ง
จนทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ ตามที่บริษัทคู่แข่ง ซึ่งได้แก่ บริษัท
ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัดบริษัท ไทยยามาฮ่า จำกัด และบริษัท คาวาซากิ ร้องเรียนมายังคณะกรรมการฯตั้งแต่ปี 2546
แต่จนถึงขณะนี้
สำนักงานอัยการฯ ยังไม่พิจาณาส่งฟ้องศาล ที่สำคัญ คดีนี้จะหมดอายุความ 10 ปี
ในเดือนเม.ย.56 หากยังนิ่งเฉย จนสิ้นอายุความ ก็จะไม่สามารถเอาผิดใดๆ
กับบริษัทฯได้เลย
ทั้งๆ ที่
คณะกรรมการฯได้สอบสวนคดีนี้จนเสร็จสิ้น และส่งเรื่องไปให้สำนักงานอัยการฯ
ทำสำนวนส่งฟ้องแล้วประมาณ 3-4 ครั้ง!!
แต่ทุกครั้ง
สำนักงานอัยการฯมักมีเรื่องท้วงติง และส่งเรื่องกลับคืนมาให้คณะกรรมการฯ
สอบสวนเพิ่มเติมในบางประเด็น โดยอ้างเพื่อความชัดเจนของสำนวน จนเวลาล่วงเลยมาเกือบครบ
10 ปีแล้ว ซึ่งหากยังไม่พิจารณาส่งฟ้องศาลอีก นอกจากจะเอาผิดกับบริษัทฯไม่ได้แล้ว
ยังจะทำให้พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า
ขาดความศักดิ์สิทธิ์ ส่วนคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จะหมดความน่าเชื่อถือ
ที่สำคัญ ผู้ประกอบการ จะไม่เกรงกลัวกฎหมาย และอาจทำการค้าเอาเปรียบคู่แข่งได้อีก
โดยเฉพาะธุรกิจต่างชาติ
ที่จะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นภายหลังจากที่ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
(เออีซี) ในปี 58 แล้ว
ดังนั้น กรมการค้าภายใน จึงต้องการเร่งรัดให้สำนักงานอัยการฯ พิจารณาโดยเร็ว ซึ่งหากตัดสินใจส่งฟ้อง และหากศาลพิจารณาแล้วว่า บริษัทฯมีความผิดจริง จะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่เหนือสิ่งอื่นใด
การส่งฟ้องศาลครั้งนี้ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า
บริษัทฯจะถูกตัดสินให้รับโทษอย่างไร แต่อยู่ที่ว่า การดำเนินการดังกล่าวจะพิสูจน์ให้สังคม
และผู้ประกอบการ ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ได้เห็นว่า
ทางการไทยบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง
เพื่อปกป้องไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เอาเปรียบรายเล็ก
จนเกิดความเสียหาย และทำธุรกิจต่อไม่ได้ ไม่ว่าผู้ประกอบการรายใด จะผิดหรือถูกกฎหมายหรือไม่
อย่างไร ก็ต้องพิจารณากันไปตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ
ที่คิดจะทำธุรกิจเอาเปรียบคู่แข่ง เกิดความเกรงกลัวกฎหมาย
และไม่กล้าเอาเปรียบคู่แข่ง
แต่นอกจากคดีประวัติศาสตร์
เอ.พี.ฮอนด้า แล้ว อยากให้เร่งพิจารณากรณีร้องเรียนอื่นๆ ด้วย
เพราะแต่ละคดีร้องเรียนมานายหลายปีแล้ว
จนคู่แข่งที่ถูกเอาเปรียบบางรายต้องออกจากวงจรธุรกิจไปแล้ว
กฎหมายอุดช่องโหว่ไม่ให้รายใหญ่ทำธุรกิจเอาเปรียบรายเล็กอยู่แล้ว
คนมีอำนาจใช้กฎหมายก็ต้องใช้อย่างจริงจัง อย่าทำเฉยไม่ยอมใช้อำนาจที่มีอยู่เอาผิดคนทำความผิด
เพราะไม่เช่นนั้น กฎหมายของไทยก็จะเป็นแค่ “เศษกระดาษ”
ที่ไม่มีใครเกรงกลัวเลย
ฟันนี่เอส
28 มี.ค.56
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น