หลังจากที่นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ได้ประกาศให้การบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (Unfair
Competition Act: UCA)
เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.55
ให้หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 53 ใน 36 มลรัฐ และ 3 ดินแดน
ส่งผลให้สหรัฐฯปฏิบัติการอย่างเข้มงวด
และจริงจัง กับผู้ผลิตและผู้ส่งออก
ที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯโดยใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย
เนื่องจากกฎหมายนี้ บังคับให้ผู้ผลิต-ผู้ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯต้องใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ
และซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ในกระบวนการผลิต การขาย และการตลาดทุก ขั้นตอน
เพื่อป้องกันข้อได้เปรียบของผู้ผลิตที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์
เพราะมีต้นทุนต่ำกว่า และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้าได้ ซึ่งหากมีการละเมิดจะถูกฟ้องร้องค่าเสียหาย
และห้ามส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯอีก
สาเหตุที่ต้องออกกฎหมายนี้
เพราะสหรัฐฯเชื่อว่า น่าจะช่วยให้การแข่งขันของสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศ
ไม่เสียเปรียบสินค้านำเข้ามากนัก เพราะสินค้านำเข้าบางส่วนอาจมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า
เพราะใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ราคาถูก ในกระบวนการผลิต จนได้เปรียบการแข่งขัน
นอกจากนี้ ยังเป็นการปกป้องคุ้มครองผู้ผลิตฮาร์ดแวร์
และซอฟต์แวร์รายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง ไมโครซอฟต์, ออราเคิล, ไอบีเอ็ม ฯลฯ ด้วย เพราะจะได้ไม่ถูกทั่วโลกละเมิดลิขสิทธิ์
จนธุรกิจเสียหายเหมือนทุกวันนี้
กฎหมายนี้
นอกจากบังคับให้ผู้ผลิต-ผู้ส่งออกของแต่ละประเทศ
ต้องใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้นในกระบวนการผลิตแล้ว
ยังบังคับให้ผู้ผลิต-ผู้ส่งออก ที่นำเข้าชิ้นส่วนและส่วนประกอบจากประเทศที่สาม
ต้องซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่ใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายด้วย ไม่เช่นนั้น
จะมีความผิดตามกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งเมื่อเร็วๆ
นี้ The Open Computing Alliance (OCA) องค์กรระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา
ได้ออกแถลงการณ์เตือนผู้ผลิตและส่งออกในญี่ปุ่น และบริษัทลูกในจีน ไทย และทั่วเอเชียให้ใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย
เพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางธุรกิจ
โดยแถลงการณ์ดังกล่าว
เกิดขึ้นหลังจากที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
(บก. ปอศ.) ได้ตรวจค้นการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดในบริษัทของไทยเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า
มีผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น ที่เป็นผู้รับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำนวนมาก
ที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิด และระหว่างนี้
สหรัฐฯกำลังตรวจสอบบริษัทเหล่านั้นอย่างเข้มงวด
ก่อนหน้านี้ มีบริษัทส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งของไทย 1 ราย
ที่ถูกสหรัฐฯตรวจสอบพบใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย และถูกสั่งปรับแล้ว นอกจากนี้
ยังพบบริษัทผลิตสิ่งทอของจีน และอินเดีย ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน
และถูกสั่งห้ามส่งออกสินค้ามาขายในสหรัฐฯเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า
สหรัฐฯเอาจริงแน่ๆ กับการตรวจสอบ สืบค้นบริษัทที่เห็นว่า น่าจะทำไม่ถูกกฎหมาย เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าของตนเอง
ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
จึงฝากเตือนผู้ผลิต-ผู้ส่งออกไทยทำให้ถูกต้อง ถูกกฎหมาย เพราะถ้าพลาดเพียงนิด
อาจถึงขั้นนำเข้าสินค้าไปขายในสหรัฐฯไม่ได้ และอาจเสียตลาด และกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมได้ในที่สุด!!!
ฟันนี่เอส
28 ก.พ.56
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น