วันที่ 4-6 มี.ค.นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย
และคณะจะเดินทางไปเยือนราชอาณาจักรเบลเยี่ยม สำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการ
โดยผู้นำของไทย และอียูมีกำหนดการสำคัญที่ทั่วโลกจับตามองคือ
การประกาศความสำเร็จการที่อียูรับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
(จีไอ) ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของไทย
ซึ่งจะทำให้ข้าวดังกล่าวของไทยกลายเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม ที่มีราคาสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน จะการประกาศเปิดเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)
ไทย-อียูอย่างเป็นทางการ หลังจากการเจรจาเอฟทีเออาเซียน-อียูได้ยุติลงชั่วคราวในปี
52 เพราะทั้งอาเซียน และอียูไม่สามารถหาข้อยุติในประเด็นที่ขัดแย้งกันได้ โดยเฉพาะปัญหาระหว่างประเทศของอียูในเรื่องการยอมรับพม่า
การเจรจาครั้งนี้ กำหนดกรอบเจรจาครอบคลุมทุกด้าน
ทั้งการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ซึ่งรัฐบาลมองว่า
ไทยจะได้ประโยชน์ในภาพรวมมากกว่าผลเสีย เพราะจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการค้า
และการลงทุนของไทยในอียู ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบ
สามารถขอรับความช่วยเหลือได้จากกองทุนเอฟทีเอของรัฐบาลได้
โดยไทยตั้งเป้าหมายจะดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
หรือให้เสร็จก่อนวันที่ 1 ม.ค.58 ที่อียูจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี)
ที่ให้กับสินค้าไทย เพราะทั้งรัฐบาล และภาคเอกชน มองว่า เอฟทีเอไทย-อียู
ที่มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน
จะช่วยชดเชยความเสียหายของไทยหลังจากอียูตัดจีเอสพีได้
แต่แม้รัฐบาล และเอกชน ยืนยันมาโดยตลอดว่า
เอฟทีเอนี้จะเป็นประโยชน์มากกว่าเสีย แต่ภาคประชาสังคม และเอ็นจีโอ
กลับเห็นต่างโดยสิ้นเชิง และยังมีข้อกังวลที่สุดถึง 3 ประเด็นคือ
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, สินค้าแอลกอฮอล์และยาสูบ
และการลงทุน
เพราะอียูต้องการเรียกร้องให้ไทยขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรที่จดทะเบียนในไทยเพิ่มเป็น
25 ปี โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา ที่ตามกฎหมายสิทธิบัตร และความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา
ภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ที่ไทยผูกพันไว้ จะให้ความคุ้มครองเพียง 20
ปีเท่านั้น
หากไทยยอม อียูจะผูกขาดยาได้เพิ่มขึ้นอีก 5 ปี
และไทยเข้าถึงยาราคาถูกได้ยากขึ้นและยาวนานขึ้นอีก 5 ปี กระทบต่อระบบสาธารณสุข
โดยเฉพาะการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ของภาครัฐ กระทบต่อชีวิตและสุขภาพคนไทย
รวมถึงกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพ และการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชด้วย
นอกจากนี้
จะมีการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบจากอียูมากขึ้น กระทบต่อสุขภาพคนไทย ส่วนประเด็นการคุ้มครองการลงทุน
ที่เปิดโอกาสให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
ระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนได้นั้น จะทำให้ไทยเสียเอกสิทธิ์แห่งรัฐ
และเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องค่าเสียหายได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยตระหนักดีถึงความกังวลต่างๆ และยืนยันว่า จะเจรจาอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์มากที่สุด และจะไม่ยอมทำข้อตกลงใดๆ ที่เกินกว่าที่ได้ตกลงไว้แล้วในข้อตกลงต่างๆ ภายใต้ดับบลิวทีโอ โดยเฉพาะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ (ทริปส์พลัส)
ที่สำคัญ
กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้หาทางออกไว้แล้ว และมั่นใจว่า
จะนำมาใช้ต่อรองกับอียูอย่างไม่เสียเปรียบได้แน่นอน
ฟันนี่เอส
21 ก.พ.56
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น