ณ วันนี้ เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 ปี
ไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ร่วมกับสมาชิกอาเซียนอื่นอีก 9 ประเทศ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา
เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน
หมายความว่า
เมื่อถึงวันที่ 1
ม.ค.2558
อาเซียนจะกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน
เป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง
เป็นภูมิภาคที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน
และเป็นภูมิภาคที่บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกได้อย่างสมบูรณ์
ที่ผ่านมา
อาเซียนได้ดำเนินงานตามแผนการจัดตั้งเออีซีอย่างต่อเนื่อง
เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายข้างต้น โดยการเปิดเสรีสินค้า
ได้เปิดเสรีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ตั้งแต่ 1 ม.ค.2553 ส่วนเปิดเสรีสินค้าบริการ ได้ทยอยเปิดแล้ว
เช่น สาขาคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม สุขภาพ ท่องเที่ยว ขนส่งทางอากาศ และโลจิสติกส์
และอยู่ระหว่างการเจรจาเปิดเสรีให้เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่การลงทุน
จะเปิดเสรีเฉพาะสาขาที่ตกลงกัน
โดยไทยได้ผูกพันการเปิดเสรีภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด ส่วนการเปิดเสรีแรงงานฝีมือ
จะเปิดเสรีในสาขาต่างๆ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ นักบัญชี วิศวกร พยาบาล สถาปนิก
นักสำรวจ การบริการการท่องเที่ยว ซึ่งการเข้ามาต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
แต่ไม่เปิดเสรีแรงงานไร้ฝีมืออย่างที่กังวลกัน
ด้านการเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขัน
ได้จัดทำแนวทางร่วม และคู่มือนโยบายแข่งขันสำหรับธุรกิจ
ด้านการเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันนั้น
ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเอสเอ็มอี
เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัว
สุดท้าย
การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก อาเซียนได้ทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)
และความตกลงทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่ง(ซีอีพี) กับประเทศนอกอาเซียน ทั้งจีน
เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักได้เสริมสร้างความรู้
ความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง
และจะทำอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ
และล่าสุด “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี
ได้ประกาศจะทำให้เออีซีเป็นวาระแห่งชาติ คือ
ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันรับผิดชอบสร้างความรู้ ความเข้าใจ
และเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นเออีซีได้ทันตามกำหนด
โดยสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์
ร่วมกับภาคเอกชนรวบรวมผลกระทบของภาคอุตสาหกรรม และเอสเอ็มอี มารายงานให้ทราบ
เพื่อเร่งประชุมเชิงปฏิบัติการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงาน และให้กระทรวงมหาดไทย
ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศรวบรวมข้อมูล
และประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการต่างจังหวัดเช่นกัน
เห็นแล้วก็ดีใจแทนประชาชน
และผู้ประกอบการ ที่รัฐบาลยังเห็นความสำคัญ แม้จะเป็นการเริ่มต้นที่ช้าไปนิด
แต่ยังดีกว่าไม่เริ่มอะไรเลย
ฟันนี่เอส
14 มิ.ย.55
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น