ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะง่อนแง่น
จากสาเหตุหลักวิกฤติหนี้สาธารณะในยูโรโซนที่รุนแรง และลุกลามขยายวงกว้างมากขึ้น
แล้วยังจะมีปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลง
รวมถึงโรงงานของไทยหลายแห่ง
โดยเฉพาะโรงงานผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์
ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ยังไม่กลับมาเดินเครื่องผลิต
และส่งออกได้เต็มกำลังเหมือนเดิม
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในช่วง
4 เดือนของปีนี้
(ม.ค.-เม.ย.) ยังติดลบหนักที่ 3.86%
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่า 71,561.5
ล้านเหรียญสหรัฐฯเท่านั้น ที่สำคัญทำให้ดุลการค้าขาดดุลสูงถึง 8,054.3 ล้านเหรียญฯ หรือ 276,009 ล้านบาท
ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์นั่งไม่ติด
เร่งกู้สถานการณ์ ให้กลับมาขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 15% จากปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 263,000 ล้านเหรียญฯ
ก่อนที่จะกู่ไม่กลับมากกว่านี้
ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์
มีแผนจะนัดหารือกับผู้ส่งออก ราววันที่ 8 มิ.ย.นี้ โดยมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ร่วมรับฟังปัญหา
และข้อเสนอในสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวก
รวมถึงร่วมกันจัดทำแผนผลักดันมูลค่าการส่งออกไทยปีนี้ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม
จากการได้พูดคุยกับ “นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค” อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก
ทำให้ทราบว่า จากปัจจัยลบต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาอย่างหนักหน่วง ยอมรับว่า
การผลักดันให้มูลค่าการส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายเป็นเรื่องเหนื่อยมาก!!
เมื่อเทียบกับ
ถ้าสถานการณ์โลกดีกว่าตอนนี้ หนี้สาธารณะของยูโรโซนไม่ลุกลามเกินคาดอย่างนี้
การขยายตัวของปีนี้อาจจะเกินเป้าหมายด้วยซ้ำ
แต่เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลง
ทั้งกรมส่งเสริมการส่งออก และภาคเอกชน จึงต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก
ที่จะทำให้มีการเติบโตได้ตามเป้าหมาย ซึ่งยังมีความเป็นไปได้อยู่
ไม่ใช่หมดหวังอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้จะโตได้อย่างเก่งเพียง 10% หรือต่ำกว่า
สาเหตุที่ทำให้กรมฯมั่นใจ
เพราะมูลค่าการส่งออกของ 3 กลุ่มหลักคือ
ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มเป็นบวกแล้วตั้งแต่เดือนเม.ย.
ทั้งที่ยังผลิตและส่งออกไม่เต็มกำลัง
คาดว่าทั้ง 3
กลุ่มจะผลิตและส่งออกได้เต็มที่ไม่เกินไตรมาส 2 ซึ่งจะช่วยฉุดให้การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกโดยรวมพลิกเป็นบวกได้
เพราะมีสัดส่วนสูงถึง 37-38% ของมูลค่าการส่งออกรวมขณะเดียวกัน
กรมฯจะเร่งขยายสัดส่วนส่งออกไปตลาดใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะอาเซียน จีน อินเดีย
ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกาใต้ เพราะมีกำลังซื้อสูง และยังขยายตัว
คงต้องลุ้นกันสุดตัวว่า
งานนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะช่วยผู้ส่งออก กู้วิกฤติส่งออกไทยได้หรือไม่
อย่างไรเสียก็ขอเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ แล้วกัน
ฟันนี่เอส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น