ผลกระทบของน้ำท่วมใหญ่ช่วงที่ผ่านมา เริ่มสำแดงฤทธิ์ให้เห็นแล้วในภาคการส่งออก ตั้งแต่เดือนต.ค.และเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เพราะมูลค่าการส่งออกทั้ง 2 เดือนลดลงมากอย่างต่อเนื่อง
โดยเดือนต.ค. มีมูลค่า 17,191.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลง 0.34% แต่ลดลงมากเมื่อเทียบกับเดือนก.ย.54 ที่มีมูลค่าสูงถึง 21,511.2 ล้านเหรียญฯ ส่วนเดือนพ.ย.54 มีมูลค่า 15,498.2 ล้านเหรียญฯ ลดลง 12.44% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน
มูลค่าที่ลดลงนี้ เป็นการลดลงของสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพราะโรงงานจำนวนมากถูกน้ำท่วม ต้องหยุดเดินเครื่องผลิต และหยุดส่งออก โดยเฉพาะยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ที่มีมูลค่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าส่งออกรวมของไทย
แม้ขณะนี้น้ำแห้งหมดแล้ว แต่ต้องใช้เวลาซ่อมแซมโรงาน และติดตั้งเครื่องจักรใหม่อีกนาน กว่าจะผลิตได้เหมือนเดิมก็ราวไตรมาสแรกปีหน้า จึงคาดว่า มูลค่าส่งออกในเดือนธ.ค.จะลดลงอีกจนถึงไตรมาสแรกปีหน้า
สร้างความหงุดหงิดให้กับผู้ประกอบการมาก เพราะรายได้ที่ควรจะได้กลับต้องสูญไปโดยเปล่าประโยชน์ หนำซ้ำยังต้องใช้เงินทุนสำรองมาลงทุนใหม่อีก ยิ่งกว่าทุนหายกำไรหดเสียอีก!!
ขณะที่ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการให้ขยายตัวได้มากขึ้น ก็เซ็งพอกัน เพราะเครื่องจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าอย่างดีมาโดยตลอด และเป็นผลงานชิ้นโบแดงของกรม กลับต้องมาติดขัด
ความสูญเสียนี้ ไม่น่าเกิดขึ้นเลย หากไทยวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างไม่เห็นแก่ตัว ไม่ผิดพลาด และมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคนบางคน บางกลุ่มอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งที่เป็นเรื่องระดับชาติ และเป็นเรื่องความเป็นความตายขนาดนี้
แต่ยังโชคดีที่มูลค่าการส่งออกสะสมตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย.ขยายตัวเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 15% แล้ว ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหลือของปี แม้มูลค่าจะลดลง แต่ไม่ได้ทำให้การขยายตัวพลาดเป้าหมายไปได้
ส่วนปีหน้า ต้องลุ้นว่า เป้าหมายที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ตั้งไว้ที่ 15% จากปีนี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ ภายใต้ปัจจัยเสี่ยง ทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากน้ำท่วมที่ยังไม่จบ และแนวโน้มค่าเงินบาทแข็งค่า
อย่างไรก็ตาม “ฟันนี่เอส” เห็นด้วยกับจุดยืนของรัฐบาล ที่จะเปลี่ยนสมดุลประเทศ โดยพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น แทนพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว เพราะเห็นกันชัดๆ แล้วว่า หากการส่งออกสะดุด เศรษฐกิจไทยก็ทรุดลงตามอย่างเลี่ยงไม่ได้
แต่อีกอย่างที่อยากให้รัฐบาลมอง และลงมือส่งเสริมภาคเอกชนคือ การแปรรูป และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพราะเมื่อมีรายได้จากการส่งออกสินค้าเหล่านี้มากๆ เงินจะตกถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง
ต่างจากสินค้าอุตสาหกรรม ที่คนไทยจะได้รับเพียงเงินเดือน จากนายจ้างต่างชาติ และค่าจ้างผลิตเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ส่วนรายได้มหาศาลจากการขายสินค้าทั่วโลก โดยมีไทยเป็นฐานผลิต ถูกส่งกลับไปให้บริษัทแม่หมดเกลี้ยง!!
ฟันนี่เอส
22 ธ.ค.54
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น