น้ำท่วมประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นภัยพิบัติที่ยิ่งใหญ่ และสร้างความเสียหายเหนือความคาดหมายจริงๆ เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนเจิ่งนองไปด้วยน้ำ และน้ำตาประชาชน ที่สำคัญยังไม่มีทีท่าที่ระดับน้ำจะลดลงเลย
หายนะภัยครั้งนี้ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า มาจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของคนนี่เอง ที่เมื่อเกิดน้ำท่วมแล้ว พยายามสุดกำลังในการป้องกันน้ำไม่ให้ไหลไปที่ไหน ทั้งที่เมื่อน้ำมาก็ต้องเปิดทางให้น้ำไหลผ่าน ไม่ใช่ไปกักไปกัน จนน้ำไม่มีทางไป แล้วเกิดเอ่อท้น หรือหลากเข้าท่วมพื้นที่ต่างๆ เป็นวงกว้าง
เมื่อน้ำมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากน้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุน หรือเมื่อน้ำ 3 เกลอมาเจอกัน ย่อมทำให้เกิดมวลน้ำก้อนใหญ่ขึ้น และมีพละกำลังทำลายล้างมากขึ้น
ผลลัพธ์จึงออกมาเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้คือ กวาดล้างทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะกี่ประตูน้ำ หรือกี่คันดิน ก็ถูกทลายเรียบ!
อีกอย่างคือ ความผิดพลาดของข้อมูลน้ำ อันเนื่องมาจากประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ดูแล และมีข้อมูลน้ำ เช่น กรมอุทกศาสตร์, กรมชลประทาน, สำนักระบายน้ำ, กรมทรัพยากรน้ำ ฯลฯ
แต่หน่วยงานเหล่านี้กลับไม่นำข้อมูลที่มีมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อหาทางแก้ปัญหา และผลักดันน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด จุดนี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ขาดข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำในการแก้ปัญหา
ยิ่งกว่านั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่สมควรอย่างยิ่งต้องนั่งเป็นประธานแก้วิกฤติน้ำนาทีต่อนาที กลับเอาเวลาอันมีค่าไปถ่ายรูปร่วมกับผู้บริจาคทรัพย์สินเงินทองช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากแถลงข่าวแสดงความเสียใจที่น้ำทะลักเข้าท่วมนวนคร
สิ่งที่ไม่น่าให้อภัยอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลนี้คือ การปล่อยให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่บางส่วนของนวนคร ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และมีทั้งแรงงาน และผู้คนบริเวณโดยรอบหลายแสนคน
ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าน้ำมีปริมาณมากขนาดไหน จะมาเมื่อไร มาทางไหน และมีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้าหลายวัน แสดงให้เห็นถึงความอ่อนด้อยในฝีมือแก้ปัญหา ถือเป็นความผิดที่ไม่น่าให้อภัย เช่นเดียวกับการปล่อยให้น้ำไหลเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค และแฟคทอรี่แลนด์ จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งที่มีบทเรียนแล้วจากนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร สวนอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมบางปะอิน
เหตุการณ์นี้ย่อมกระชากความเชื่อมั่นของประเทศไทย และรัฐบาลไทยไปจากนักลงทุนต่างประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุที่ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา
ยังไม่มีใครรู้ว่า วิกฤติครั้งนี้จะจบเมื่อไร สิ้นปีจะจบหรือไม่ หรือต้องรอไปถึงเดือนม.ค. หรือก.พ.ปีหน้า ที่พ้นหน้าน้ำหลาก และพ้นหน้าฝนไปแล้ว แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นบทเรียนสำคัญที่ทั้งรัฐบาล ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคนไทยทุกคนต้องจดจำ และนำจุดบกพร่องมาแก้ไขให้ดีกว่าเดิม
เพราะ “ฟันนี่เอส” เชื่อว่า วิกฤติน้ำคงไม่จบแต่เพียงเท่านี้ และวิกฤติครั้งใหม่น่าจะรุนแรงกว่าเดิม ถ้าไม่เตรียมแผนรับมืออย่างมีระบบ และมีประสิทธิภาพ
ฟันนี่เอส
20 ต.ค.54
(ขออภัยบทความย้อนหลัง เนื่องจากปัญหาอุทกภัย)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น