ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 เป็นต้นไป สหภาพยุโรป (อียู) 27 ประเทศ รวมถึงประเทศนอกอียูอีก 3 ประเทศ ทั้งนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ จะเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ก๊าซเรือนกระจก) จากทุกสายการบิน รวมถึงจากประเทศไทย ที่บินเข้า-ออกน่านฟ้าทั้ง 30 ประเทศ
เป็นการเริ่มต้นใช้ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (European Union Emission Trading System: EU ETS) ของอียูครั้งแรกในภาคอุตสาหกรรมการบิน และเป็นกลุ่มประเทศแรกในโลก
เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และลดภาวะโลกร้อน!!
เพราะองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คาดว่า อุตสาหกรรมการบินปล่อยก๊าซฯเพิ่มขึ้นถึง 75% ในปี 2548-63 และเพิ่มเป็น 300-600% ภายในปี 2593 แม้ไม่มากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น แต่อียูรับไม่ได้ และสวนทางกับเป้าหมายของโลกที่ไม่ต้องการให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส
ดังนั้น อียูจึงได้วางแผน และดำเนินการตามแผนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่ปี 2552 ประกาศใช้ระเบียบ ETS และสมาชิกทุกประเทศต้องนำระเบียบนี้ไปปรับใช้เป็นกฎหมายภายใน จากนั้นในปี 2553 รวบรวมข้อมูลการบินของสายการบินต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดโควตาปล่อยก๊าซฯ
ส่วนปี 54 คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดโควตาการปล่อยก๊าซฯ โดยแต่ละสายการบินจะต้องซื้อใบอนุญาตปล่อยก๊าซฯ และปี 55 กฎหมาย EU ETS มีผลบังคับใช้กับทุกสายการ
อียูหวังผลักดันระบบนี้ ให้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับโลกร้อนในระดับสากล และมีแผนจะให้ครอบคลุมภาคส่วนและสาขาอุตสาหกรรมมากขึ้น รวมถึงเพิ่มเติมชนิดของก๊าซเรือนกระจกที่ซื้อขายได้ อีกทั้งยังสนับสนุนการก่อตั้งตลาดคาร์บอนในประเทศอื่นๆ ด้วย
แต่การดำเนินการอย่างแข็งขันนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก 3 ประเทศนอกอียู และออสเตรเลีย ที่จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมเร็วๆ นี้เช่นกัน ขณะที่สายการบินนานาประเทศ รุมคัดค้านหัวชนฝา และมีมาตรการตอบโต้ทางการค้าอย่างรุนแรง เช่น จีน ยกเลิกซื้อเครื่องบินแอร์บัส A380 จำนวน 10 ลำ
เพราะจะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารที่จะต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้น รวมถึงทำให้ค่าขนส่งสินค้าทางอากาศเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกัน ยังทำให้สายการบินอื่นๆ ที่ไม่ได้มีฐานการบินในอียูเสียค่าธรรมเนียมสูงกว่า และเสียเปรียบด้านการแข่งขัน
ที่คัดค้านหนักสุด เห็นจะเป็น องค์การการขนส่งทางอากาศของสหรัฐฯ ที่ฟ้องร้องอียูผ่านศาลของสหราชอาณาจักร ว่า EU ETS เป็นมาตรการฝ่ายเดียว ขัดกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และเชื่อว่า คำตัดสินน่าจะออกมาภายหลังจาก EU ETS มีผลบังคับใช้ไปแล้วแน่นอน
ดังนั้น ระหว่างนี้ อียูยืนยันเดินหน้าเก็บค่าธรรมเนียมต่อไป ไม่สนว่าใครคัดค้าน หรือแม้แต่สายการบินของสหรัฐฯเอง ก็ยังเตรียมความพร้อมและปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้น จะเสียค่าใช้จ่ายสูงยิ่งขึ้นได้ ส่วนสายการบินของไทย จำเป็นต้องเตรียมความพร้อม และปฏิบัติตามเช่นกัน
แต่กรรมหนักจะตกอยู่ที่ผู้บริโภคนี่ละ ถึงคราวต้องควักกระเป๋า
จ่ายค่าตั๋วเครื่องบินเพิ่มกันแล้ว
ฟันนี่เอส
15 ธ.ค.54
ผู้ที่สนใจ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเรื่องนี้ได้ในเซ็บไซต์ www.thaieurope.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น