วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หนุนหนังไทยโกอินเตอร์


                                                            







                 เมื่อเร็วๆ นี้ มีโอกาสได้คุยกับ นางสาวปิตินันท์ สมานวรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ ไต้หวัน ทำให้ทราบว่า ตอนนี้ ภาพยนตร์แนวสยองขวัญของไทย หรือหนังผี กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในไต้หวัน

                 เพราะหนังผีของไทยมีความน่ากลัว ตื่นเต้น และมีการสอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมประเพณีด้วย

                หนังผีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด หนีไม่พ้นเรื่อง พี่มากพระขโนงซึ่งในการฉายเพียง 3 วันแรกสามารถทำรายได้ถล่มทลาย แซงหน้าหนังจากฮอลลีวูด ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้แต่หนังไต้หวันได้อย่างลอยรำ โดยทำรายได้กว่า 10 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ ที่ฉายในไต้หวันในช่วง 3 วันแรก และตลอดทั้งโปรแกรม สามารถทำรายได้เกือบ 40 ล้านเหรียญไต้หวัน หรือกว่า 40 ล้านบาท




















                ส่วนหนังผีไทยเรื่องอื่นๆ ที่ทำรายได้มาก เช่น แฝด ทำรายได้ 38 ล้านเหรียญไต้หวัน, ลัดดาแลนด์ ทำรายได้ 28 ล้านเหรียญไต้หวัน, โปรแกรมหน้าวิญญาณอาฆาต ทำรายได้ 24.4 ล้านเหรียญไต้หวัน นอกจากหนังผีแล้ว ยังมีหนังแนวอื่นๆ ที่มีการส่งออกไปขายในไต้หวันอีกหลายเรื่อง












              ดังนั้น สำนักงานฯจึงได้เร่งขยายตลาดและกระตุ้นให้ชาวไต้หวันรู้จักและชื่นชอบหนังไทยมากขึ้น มีการจัดกิจกรรมโปรโมตที่หลากหลาย โดยได้ร่วมมือกับผู้นำเข้าหนังไทยทำโปรโมชั่นทางการตลาดก่อนที่หนังจะฉาย เพื่อให้ชาวไต้หวันได้รู้จักมากขึ้น

             นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานเพื่อให้เกิดการเจรจาทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องด้านการทำหนังและบันเทิงของไทยกับไต้หวันและประเทศอื่นๆ และยังช่วยยกระดับหนังไทยให้เป็นที่ยอมรับของคนต่างชาติมากขึ้นและที่สำคัญยังช่วยสร้างรายได้แก่ผู้สร้างหนังด้วย

             ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยังมุ่งเน้นส่งเสริมและผลักดันการส่งออกภาพยนตร์ และธุรกิจบันเทิงของไทยให้มากขึ้น เช่น การ์ตูน แอนิเมชั่น หนัง เกมส์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพราะปัจจุบัน คนไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเหล่านี้เป็นอย่างมาก

              อีกทั้งยังพยายามผลักดันให้คนไทยเข้าไปลงทุนทำธุรกิจบันเทิงในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย อย่างญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฮ่องกง อาจเป็นในลักษณะการร่วมลงทุนสร้างหนัง และนำออกฉายทั่วเอเชีย สร้างรายได้เข้าประเทศ

             และยังได้นำคณะนักธุรกิจในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย หรือดิจิตอล คอนเทนต์ เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศต่างๆ เช่น เข้าร่วมงานที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส หรือที่สหรัฐฯ ซึ่งจะมีโอกาสทำให้ไทยขยายตลาดอุตสาหกรรมนี้เข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น

             ถ้าได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง เชื่อแน่ว่า อุตสาหกรรมบันเทิง จะโกยรายได้เข้าประเทศมหาศาลมากกว่านี้



                                                          
                                                                        ฟันนี่เอส

                                       29
พ.ค.57

วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สหรัฐฯจับใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน

  














                 ทุกวันนี้ สหรัฐฯเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯในทุกประเทศทั่วโลกมากขึ้น

                เพราะแต่ละปี ทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้าสินค้าแบรนด์ดังๆ  ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เพลง ซอฟต์แวร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ภาพยนตร์ซีรี่ส์ ทางเคเบิลทีวี ฯลฯ ถูกทั่วโลกละเมิด ด้วยการทำซ้ำ ก็อปปี้ และเอาไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้เจ้าของสิทธิ์เสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล

              ส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อป้องกันการละเมิด รวมถึงยังผูกเรื่องละเมิดเข้ากับการค้า โดยประเทศใดที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐฯมากๆ ต่อเนื่องกันหลายปี ก็อาจตัดความช่วยเหลือด้านการค้า เช่น ตัดการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ด้วย








              เมื่อเร็วๆ นี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ของไทย ได้รับรายงานจากอัยการสูงสุดประจำมลรัฐอาร์คันซอ สหรัฐฯว่ามีผู้ส่งออกสินค้าผลไม้แปรรูป (รวมทั้งข้าวโพดกระป๋อง) และน้ำผลไม้ของไทย 3 บริษัท ถูกดำเนินคดี

                เนื่องจากต้องสงสัยใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในกระบวนการผลิตสินค้า เข้าข่ายก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้าแก่ผู้ประกอบการในมลรัฐ ตามหลักการของกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของสหรัฐฯ

                 โดยกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าที่จะส่งไปขายในมลรัฐต่างๆ ที่มีกฎหมายนี้ใช้บังคับ จะต้องใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ  ที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ในการกระบวนการผลิต การขาย และการตลาดทุกขั้นตอน เพื่อป้องกันข้อได้เปรียบของผู้ผลิตที่ใช้ซอฟแวร์ละเมิดลิขสิทธ์ เพราะมีต้นทุนในกระบวนการผลิตต่ำกว่า ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้าได้

              และภายใต้กฎหมายฉบับนี้ สหรัฐฯได้จัดตั้งหน่วยบังคับคดีทางการค้า เพื่อสืบสวนเรื่องการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ที่เกิดจากการละเมิดฯเป็นการเฉพาะ ส่งผลให้สหรัฐฯจับกุมดำเนินคดีผู้ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนในกระบวนการผลิตสินค้าที่ส่งไปขายในสหรัฐฯได้หลายรายแล้ว













                 การดำเนินคดีกับผู้ส่งออกไทยครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินคดีเพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ ที่สหรัฐฯได้ดำเนินคดีกับผู้ส่งออกอาหารแช่แข็งไทยไปยังแมสซาซูเซตส์ และผู้ส่งออกยางรถยนต์ไปเทนเนสซี รวมถึงผู้ส่งออกสิ่งทอจากจีนและอินเดียไปแคลิฟอร์เนีย และผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมการบินของบราซิลไปวอชิงตัน

               ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงเตือนส่งออกไทยไปสหรัฐใช้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ และเพื่อให้สินค้าไทยจำหน่ายในสหรัฐฯ ได้อย่างไม่มีอุปสรรค

               นอกจากนี้ ในปีนี้ ไทยยังคงถูกสหรัฐฯจัดให้เป็นประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (พีดับบลิวแอล) ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษเช่นเดิม เพราะการออกกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทยหลายฉบับยังไม่สำเร็จ

                ได้แต่หวังว่า หลังจากไทยมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม จะเร่งผลักดันกฎหมายเหล่านั้นให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และเร่งป้องกันและปราบปรามการละเมิดอย่างเต็มที่ เพื่อให้สหรัฐฯปลดไทยจากพีดับบลิวแอล และทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีการละเมิดลดน้อยลงเรื่อยๆ




                                                                             ฟันนี่เอส

                                           22
พ.ค.57

วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

รุกปกป้องผลประโยชน์การค้า

    






         ปัจจุบัน สถานการณ์การค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการไทย ต้องเรียนรู้ เพื่อให้รู้เท่าทัน และเร่งปรับตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่เช่นนั้น อาจเสียเปรียบคู่แข่ง และแข่งขันไม่ได้
   
         ในปีนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าต่างประเทศ ได้ปรับภารกิจงานทุกด้านให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการป้องกันและการเฝ้าระวัง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัว และพร้อมต่อการแข่งขันที่สูงขึ้น
   
         โดยมีพันธกิจสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ การป้องกันและรักษาผลประโยชน์ทางการค้า  การสร้างโอกาสและการอำนวยความสะดวกทางการค้า การบริหารจัดการสินค้าเกษตรสำคัญ เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินงานหรือมาตรการรองรับ  และการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าเชิงรุก
   






         ในด้านการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ทางการค้า ได้ส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้าระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค  เช่น  ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ต่างๆ ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี)  เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการทำการค้า
   
         เพราะที่ผ่านมา แม้ไทยทำความตกลงเอฟทีเอ กับหลายประเทศ แต่ผู้ประกอบการไทย มักไม่ใช้สิทธิประโยชน์ หรือใช้น้อย จึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ใช้มากขึ้น อีกทั้งยังได้ดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของไทย ไม่ใหใครเอาเปรียบได้

         ส่วนการให้บริการและการอำนวยความสะดวกทางการค้า กรมฯ ได้เตรียมความพร้อมไว้รองรับ เพื่อให้การค้าของไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และจากเอฟทีเอต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้บริการและการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทันสมัย เป็นการอำนวยความสะดวกการค้าให้ผู้ประกอบการมากขึ้น 

         จนส่งผลให้มูลค่าการค้าชายแดนของไทย ในปีงบประมาณ  2556 สูงขึ้นถึง 924,242 ล้านบาท โดยไทยได้เปรียบดุลการค้าประเทศเพื่อนบ้านกว่า 196,151 ล้านบาท







          สำหรับการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ได้จับตา  เฝ้าระวัง  และกำหนดมาตรการต่างๆ  พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้า การกำกับดูแลการนำเข้าสินค้า  การกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรส่งออกของไทย เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า และสร้างภาพลักษณ์การเป็นผู้นำสินค้าเกษตรของโลก 

         ขณะเดียวกัน ยังได้ติดตาม และเผยแพร่มาตรการทางการค้าประเทศต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยรู้เท่าทัน และเตรียมรับมือ อีกทั้งยังได้แก้ปัญหาการค้าต่างๆ  เช่น  ปัญหาแรงงานในกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก และยังมีกองทุนเอฟทีเอ  เพื่อช่วยเหลือการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งได้ให้การช่วยเหลือแล้ว  40  โครงการ

          ในโอกาสครบรอบปีที่ 72 ก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 73 กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายยกระดับจาก ผู้อำนวยความสะดวก”  เป็น ที่ปรึกษาด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าอย่างมืออาชีพ”  เพื่อหวังส่งเสริม และผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพการแข่งขันสูงสุดในเวทีโลก


                           
                              ฟันนี่เอส


                15
พ.ค.57

วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ทวงคืนตลาดข้าวไทย











                 นับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้ ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดยตั้งราคารับจำนำสูงถึงตันละ 20,000 บาทสำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิ และตันละ 15,000 บาทสำหรับข้าวเปลือกเจ้า ก่อให้เกิดผลดีและผลเสียมากมายหลายด้าน

                 โดยผลดีที่เห็นชัดเจนที่สุด ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างคือ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้น สามารถปลดภาระหนี้สินได้บางส่วน จากการขายข้าวได้ราคาสูงขึ้น

                 แต่ผลเสีย เช่น เกิดการทุจริต ทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายมหาศาลในการเก็บรักษาข้าวในสต๊อก แม้จะขายได้ตามราคาตลาด หรือใกล้เคียงกัน แต่ก็ยังต่ำกว่าราคารับจำนำ ทำให้ต้นทุนผู้ส่งออกสูงขึ้น จนในบางตลาดไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่ง ทั้งเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน ได้ นำไปสู่การเสียส่วนแบ่งตลาดในตลาดสำคัญๆ






     โดยเฉพาะฮ่องกง ที่แต่ละปีนำเข้าข้าวคุณภาพดี อย่างข้าวหอมมะลิไทยหลายแสนตัน แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ การนำเข้าลดลงมาก!!

                 จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ ฮ่องกง ประเทศฮ่องกง พบว่า ในปี 50 สัดส่วนการนำเข้าข้าวไทยของฮ่องกงมากถึง 90% ของการนำเข้าจากทั่วโลก แต่ในปี 55 ลดลงเหลือ59.6% และเหลือ 56.4% ในปีถัดมา ขณะที่เวียดนาม ที่ในปี 50 มีสัดส่วนเพียง 0.4% แต่ในปี 55 เพิ่มขึ้นเป็น 25.8% และเพิ่มเป็น 28.7% ในปี 56 ส่วนกัมพูชา สัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

                 สาเหตุสำคัญมาจาก ราคาข้าวหอมมะลิไทยสูงขึ้นมาก จากปี 51-56 ราคาส่งออกสูงขึ้นถึง 1692.8% และราคาขายปลีกในฮ่องกงสูงขึ้น 84.2% ส่งผลให้ผู้นำเข้าข้าวระดับกลางถึงใหญ่ของฮ่องกง 41 ราย เหลือเพียง 12 รายที่ยังนำเข้าจากไทย แต่เวียดนามมีราคาถูกกว่าไทยเฉลี่ย 40%  

                 และยังมีปัญหาการปลอมปน ที่ผู้นำเข้าบางรายนำข้าวราคาถูกมาผสมกับข้าวหอมมะลิไทย เพื่อขายในราคาต่ำ ทำให้ภาพลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทยเสียหาย ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น และกระทบต่อการนำเข้า






                 ส่งผลให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เร่งแก้ปัญหา และเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้า รวมถึงผู้บริโภค เพื่อดึงส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในฮ่องกงกลับมาให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดี ได้นำคณะผู้ส่งออกข้าวไทย ไปทวงตลาดข้าวไทยที่ฮ่องกง และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

     โดยผู้นำเข้าข้าวไทยรายใหญ่ในฮ่องกง ยืนยันว่า ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยจะกลับมาในเร็วๆ นี้ เพราะนอกจากจะเป็นผลจากการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นำเข้าข้าวไทย และผู้บริโภคมั่นใจว่าจะได้บริโภคข้าวหอมมะลิไทยแท้ โดยไม่มีการปลอมปนแล้ว

     อีกสาเหตุคือ ขณะนี้ ราคาข้าวไทยลดลงมาอยู่ในระดับที่แข่งขันได้แล้ว ทำให้ภัตตาคาร/ร้านอาหาร ที่เคยซื้อข้าวจากคู่แข่ง หันกลับมาใช้ข้าวไทยเช่นเดิม เพราะคุณภาพเหนือกว่ามาก ส่วนผู้บริโภคครัวเรือนยังนิยมใช้ข้าวหอมมะลิไทยเช่นเดิม ขณะเดียวกัน ปัญหาการปลอมปนเริ่มคลี่คลายลง

     ส่วนตลาดอื่นๆ ที่ไทยเสียไปแล้วก็กำลังเดินหน้าทวงคืนเช่นกัน อย่างฟิลิปปินส์ อิรัก หรือบางประเทศในแอฟริกา เป็นต้น

     เมื่อได้ส่วนแบ่งตลาดกลับมาแล้ว ก็ต้องรักษาไว้ให้ได้ หวังว่า ในอนาคตนโยบายข้าว จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกอีกแล้ว ไม่เช่นนั้น คงต้องแก้ปัญหาเป็นลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งวุ่นอีก!!



ฟันนี่เอส



8 พ.ค.57