แม้จะมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา
และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเลือกตั้งคร่าวๆ เป็นวันที่ 2 ก.พ.57 แล้ว
แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่า จะมีการเลือกตั้งจริงหรือไม่
เพราะกลุ่มต่อต้านรัฐบาลยังไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง
และยังประกาศให้พรรคการเมืองต่างๆ บอยคอตไม่ลงเลือกตั้ง
รวมถึงให้ประชาชนไม่ไปเลือกตั้ง เพราะต้องการปฏิรูปประเทศให้ได้เสียก่อน
ขณะที่รัฐบาลรักษาการ พยายามจะเดินหน้าให้มีการเลือกตั้งให้ได้ตามกฎหมาย
ทำให้ประเทศไทยขณะนี้
ยังไม่สามารถยุติปัญหาลงได้ และยังไม่รู้จะเดินหน้าต่ออย่างไร
แม้มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะหาทางออก
แต่ในเมื่อฝ่ายที่เป็นอริกันไม่หันหน้าเข้าหากัน
ไม่ยอมถอยคนละก้าวอย่างที่ปากว่าต้องการทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ
ปัญหาก็จะไม่จบลงง่ายๆ แน่นอน
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม
ตั้งแต่เดือนต.ค.56
ที่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน แม้จะไม่มีความรุนแรง
และไม่เกิดการสูญเสียมากมายเหมือนที่ผ่านมา แต่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์แล้วว่า ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหายไปแล้ว 30,000-70,000 ล้านบาท
หรือทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง
0.3-0.5%
ส่งผลให้ปีนี้เศรษฐกิจโตได้เพียง 3% เท่านั้น
จากคาดการณ์เมื่อเดือนต.ค.56 ที่คาดจะโตได้ 3.5%
เพราะความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจใช้จ่าย
กำลังซื้อลดลง การบริโภคในประเทศลดลง ส่วนนักธุรกิจ
และนักท่องเที่ยวก็ไม่มั่นใจลงทุน และท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทย
และภาคการส่งออกไทย ยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก จึงทำให้ปีนี้ขยายตัวได้ต่ำมาก
ส่วนปี 57
ถ้าการเมืองและรัฐบาลขาดเสถียรภาพ การลงทุนภาครัฐต่ำกว่าแผน ประชาชน นักธุรกิจ
และนักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่น เศรษฐกิจไทยจะเสียหาย 200,000-300,000 ล้านบาท
และจะโตได้ต่ำกว่า 3% เท่านั้น
ในทางกลับกัน หากการเมือง
และรัฐบาลมีเสถียรภาพ การลงทุนภาครัฐดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ประชาชน
ภาคธุรกิจ นักท่องเที่ยว มีความเชื่อมั่น คาดจะเติบโตได้ 3.0-4.5% โดยหากมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 จะมีเม็ดเงินจากการเลือกตั้ง 10,000-40,000 ล้านบาท เข้ามาช่วยพยุงไม่ให้ตกต่ำมาก
ไม่เช่นนั้น
เศรษฐกิจไทยที่กำลังเปราะบาง ก็พร้อมทรุดลงได้ทุกเมื่อ
โดยน่าจะเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพ และอาจฟื้นตัวกลับมาได้ยาก
ทั้งที่เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 5% ด้วยซ้ำ
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า หลายครั้งที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำ
เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 50 วิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรปปี 54
แต่ปีนี้ที่คาดขยายตัวได้ต่ำเพียง 3% เกิดจากปัจจัยภายในเป็นหลัก ดังนั้น
จึงยากที่ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว ถ้าการเมืองยังไม่นิ่ง รัฐบาลขาดเสถียรภาพ
และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันยุติปัญหาได้แล้ว
เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง คนไทยมีที่ยืนในโลกได้โดยไม่อายใคร
และควรให้การกระทำแสดงออกว่ารักชาติเหมือนปากว่า อย่าดีแต่ปากกันอีกเลย ทุกวันนี้
เบื่อนักการเมืองดีแต่ปากที่สุด!!
ฟันนี่เอส
19 ธ.ค. 56
19 ธ.ค. 56
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น